เกษตรกร เฮ! ปุ๋ยยูเรียโลก ตํ่าสุดรอบ 3 ปี ผู้ค้าแข่งหั่นราคา

10 มิ.ย. 2566 | 07:32 น.

ยักษ์ใหญ่โลกแข่งดัมพ์ราคา กดปุ๋ยยูเรียตลาดโลกล่วงหน้าต่ำสุดรอบ 3 ปี ผู้ค้าไทยตีปีกรับอานิสงส์ แข่งจัดโปรหั่นราคาชิงลูกค้าเกษตรกร วงการเตือนต้องมีคุณภาพ ขณะสมาคมชาวนาฯ จับมือกรมการค้าภายใน รณรงค์ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ พ่วงลดต้นทุน ลดความเสี่ยงปุ๋ยเคมีราคาผันผวน

ประเทศไทยได้เข้าสู่ฤดูฝนที่ถือเป็นฤดูการเพาะปลูกในปี 2566 แล้วอย่างเป็นทางการ ขณะที่สถานการณ์ราคาปุ๋ยเคมีที่เคยพุ่งสูงขึ้นก่อนหน้านี้จากผลกระทบสงครามรัสเซีย-ยูเครน ณ เวลานี้ราคาได้ปรับลดลงต่อเนื่องตามทิศทางราคาพลังงานที่ปรับตัวลดลง โดยล่าสุดราคาปุ๋ยยูเรียล่วงหน้าในตลาดโลกของเดือนกรกฎาคม และสิงหาคม อยู่ที่ 285-287 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ตํ่าสุดในรอบ 3 ปี จากก่อนหน้านี้ราคาเคยพุ่งสูงสุดที่ระดับ 700 - 800 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน (เอฟ.โอ.บี.) สูงที่สุดในรอบ 13 ปี ในเดือนตุลาคม 2564

เกษตรกร เฮ! ปุ๋ยยูเรียโลก ตํ่าสุดรอบ 3 ปี ผู้ค้าแข่งหั่นราคา

นายเปล่งศักดิ์ ประกาศเภสัช นายกสมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าสถานการณ์ราคาปุ๋ย ปุ๋ยเคมีขณะนี้ ปรับลดลงต่อเนื่อง จากทั่วโลกพยายามกดดันรัสเซีย และเบลารุส ที่เป็นประเทศผู้ผลิตปุ๋ยออกสู่ตลาดสัดส่วนกว่า 80% ของปริมาณทั้งโลกให้เพิ่มการส่งออก ขณะเดียวกันกลุ่มประเทศที่ค้าขายหรือเคยซื้อปุ๋ยจากรัสเซียเมื่อสินค้าขาดแคลนก็ได้หันมาพึ่งพาการนำเข้าจากจีน อิหร่าน และตะวันออกกลาง ที่เป็นอีกผู้ผลิตที่สำคัญ และขายในราคาที่ตํ่ากว่า ส่งผลให้ราคาปุ๋ยตลาดโลกอ่อนตัวลง

 

 

เกษตรกร เฮ! ปุ๋ยยูเรียโลก ตํ่าสุดรอบ 3 ปี ผู้ค้าแข่งหั่นราคา

ในส่วนของรัสเซียคงต้องทยอยจำหน่ายปุ๋ยเคมีออกมาในราคาที่ย่อมเยากว่า แต่ก็คงไม่ลดลงมากนัก ซึ่งก็คงจะต้องดูเศรษฐกิจโลกด้วยว่าจะเป็นอย่างไร เพราะเวลานี้เศรษฐกิจใหญ่ของโลก เช่น อเมริกา และยุโรปมีปัญหาทางด้านการเงิน อย่างไรก็ดีในเรื่องอาหารยังเป็นที่ต้องการของทั่วโลก เห็นได้จากช่วงเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ และช่วงโควิด -19 ทำให้จีนค้าขายกับไทยลดน้อยลงไป และได้หันไปปรับปรุงและพัฒนาด้านการเกษตรในประเทศเพื่อให้มีอาหารเพียงพอหล่อเลี้ยงในประเทศ

 

 “ไทยเข้าสู่ฤดูการเพาะปลูกแล้วตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ข้าวนาปรังในเขตพื้นที่ชลประทานกำลังเริ่มเก็บเกี่ยว ส่วนข้าวนาปีพื้นที่นอกเขตชลประทานกำลังอยู่ในช่วงเตรียมดิน ส่วนมันสำปะหลัง เริ่มที่จะปักท่อนมันปลูกแล้ว ส่วนภาคกลางพื้นที่นาส่วนใหญ่ กำลังเตรียมดิน ห่วงในเรื่องฝนทิ้งช่วงนาน หากรีบหว่านลงแปลง แล้วฝนไม่มาก็จะเสียเปล่า ต้องหว่านใหม่เสียเงินอีก ส่วนภาคใต้ ยางพารา ปาล์มนํ้ามัน เป็นช่วงที่กำลังใช้ปุ๋ย ขณะที่มังคุด ทุเรียน (ใต้) ต้องบำรุงใส่ปุ๋ยเต็มที่เพื่อให้ได้ผลดี รสชาติดี ทำให้ส่งออกมีคุณภาพ ซึ่งขอเน้นยํ้าปุ๋ยเคมีเป็นธาตุอาหารพืชไม่ใช่สารพิษ”

เกษตรกร เฮ! ปุ๋ยยูเรียโลก ตํ่าสุดรอบ 3 ปี ผู้ค้าแข่งหั่นราคา

นายเปล่งศักดิ์ กล่าวอีกว่า จากราคาปุ๋ยที่ปรับลดลงมา ส่งผลให้ทุกบริษัทผู้ค้าปุ๋ยแข่งขันกันลดราคา อานิสงส์ตกกับเกษตรกร ซึ่งขอยํ้าเตือนผู้ค้าต้องระมัดระวังในเรื่องคุณภาพด้วย เพราะสินค้าที่นำเข้ามามีคุณภาพแตกต่างกัน มีหลายเกรด ถ้าเกรดดี มีคุณภาพสูงจะนำเข้าจากแคนาดา ตะวันออกกลาง และยุโรป ดังนั้นขึ้นอยู่กับเกษตรกรและความเชื่อมั่นในคุณภาพแบรนด์ว่าใช้ยี่ห้อไหนได้ผลผลิตดี และมีความพึงพอใจ

ธีร์วริศ พรพันธวิศ

นายธีร์วริศ พรพันธวิศ นายกสมาคมส่งเสริมเกษตรกรชาวนาอีสาน กล่าวว่า เพื่อลดความผันผวนด้านราคาปุ๋ยเคมี ทางสมาคมฯ ได้ร่วมกับอีก 2 สมาคม ได้แก่ สมาคมชาวนาข้าวไทย

ประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาข้าวไทย

และสมาคมส่งเสริมชาวนาไทย และกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ดำเนินโครงการส่งเสริมการใช้ผลิตภัณฑ์เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเพื่อลดต้นทุนให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว

เกษตรกร เฮ! ปุ๋ยยูเรียโลก ตํ่าสุดรอบ 3 ปี ผู้ค้าแข่งหั่นราคา

โดยสนับสนุนให้ชาวนาที่เป็นสมาชิกให้หันมาใช้สารไบโอโพลิเมอร์ (ฟูร่า) ซึ่งเป็นสารชีวภัณฑ์เข้ามาใช้ร่วมกับปุ๋ยเคมี เพื่อช่วยลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิต จากเดิมได้ผลผลิต 600 กิโลกรัม (กก.) ต่อไร่ หลังใช้ได้ 900 กก.ต่อไร่ ส่วนของสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย ใช้วิธีฉีดจุลินทรีย์ลุงขาวสำหรับบำรุงดูแลต้นข้าว ช่วยลดการใช้ปุ๋ยใช้ยาและช่วยลดต้นทุนลงได้มาก

ระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ความต้องการใช้ปุ๋ยเคมีในประเทศเฉลี่ยปีล 4.5-5.5 ล้านตัน สัดส่วน 95% นำเข้าจากต่างประเทศ โดยทางกรมวิชาการเกษตรมีการแนะนำให้ใส่ปุ๋ยแบบผสมผสาน โดยใช้ปุ๋ยเคมีร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์หรือปุ๋ยชีวภาพ เพื่อลดการใช้ปุ๋ยเคมีอย่างน้อย 20% โดยประเทศไทยมีวัตถุดิบเพียงพอที่จะนำมาผลิตปุ๋ยอินทรีย์ อาทิ มูลสัตว์มีประมาณ 35.5 ล้านตันต่อปี, วัสดุอินทรีย์จากพืชประมาณ 691.5 ล้านตันต่อปี

เกษตรกร เฮ! ปุ๋ยยูเรียโลก ตํ่าสุดรอบ 3 ปี ผู้ค้าแข่งหั่นราคา

ทั้งนี้หากพิจารณาอัตราการใช้ปุ๋ยต่อไร่ พบว่าปาล์มนํ้ามันและยางพารา เป็นพืชที่มีการใช้ปุ๋ยมากที่สุด รองลงมา คืออ้อย ข้าวนาปรัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง และข้าวนาปี ปัจจุบันกรมฯขึ้นทะเบียนปุ๋ยนำเข้าไม่น้อยกว่า 15,000 ฉบับต่อปี โดยใน 4 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-เม.ย.) มีการนำเข้าปริมาณ 1.2 ล้านตัน และจะมีการทยอยนำเข้าเดือนละ 3 แสนตัน

หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,894 วันที่ 8-10 มิถุนายน พ.ศ. 2566