กรมวิชาการเกษตรชี้ รง.แม่ปุ๋ยแจ้งเกิด ใช้ปุ๋ยอินทรีย์เพิ่ม ลดต้นทุนอีก 30%

02 พ.ค. 2566 | 09:39 น.

กรมวิชาการเกษตร ชี้ราคาปุ๋ยโลกลดลงใกล้สู่ภาวะปกติ ไตรมาสแรกไทยนำเข้า1.2 ล้านตัน ขออนุญาตอีกเดือนละกว่า 3 แสนตัน ยันมีสต๊อกเพียงพอ ไม่ขาดแคลน ระบุหากไทยตั้งโรงงานผลิตแม่ปุ๋ยได้เองผ่าน 3 โครงการใหญ่ พ่วงเพิ่มใช้ปุ๋ยอินทรีย์ จะช่วยเกษตรกรลดต้นทุนลงได้อีก 20-30%

นายระพีภัทร์  จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร และนายกสมาคมดินและปุ๋ยแห่งประเทศไทย กล่าวปาฐกถาพิเศษ “วาระเร่งด่วนเกษตรกรไทย กับปัญหาราคาปุ๋ยแพง” ในงานสัมมนา THE BIG ISSUE ปุ๋ยแพง : วาระเร่งด่วนประเทศไทย ทางรอดเกษตรกร จัดโดย “ฐานเศรษฐกิจ” (2 พ.ค. 2566) ใจความสำคัญระบุว่า

การใช้ปุ๋ยเคมีของเกษตรกรกับพืชเศรษฐกิจของไทยในช่วงที่ผ่านมา ข้าว เป็นพืชที่ใช้ปุ๋ยมากที่สุดสัดส่วนกว่า 51%  อ้อย ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ข้าวโพดใช้ปุ๋ยสัดส่วนเฉลี่ยแต่ละพืช 5-9% ของการใช้ปุ๋ยโดยรวม และที่น่าในใจคือไม้ผล และพืชไร่อื่น ๆ เช่น ทุ เรียนที่มีมูลค่าการส่งออกปีละกว่า 1 แสนล้านบาทติดต่อกัน 2 ปีซ้อน ซึ่งไม้ผลมีการปุ๋ยเคมีเพิ่มผลผลิต และรสชาติ

ระพีภัทร์  จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร และนายกสมาคมดินและปุ๋ยแห่งประเทศไทย

โดยการนำเข้าปุ๋ยเคมีของไทยที่ผ่านมาเฉลี่ยปีละ 4.5-5 ล้านตัน หรือสัดส่วนกว่า 95% ของความต้องการใช้ จากไทยยังผลิตแม่ปุ๋ยเองไม่ได้ต้องพึ่งพาการนำเข้า โดยกรมวิชาการเกษตรเปิดกว้างให้มีการนำเข้าแม่ปุ๋ยจากทุกแหล่งของโลกที่มีการผลิตปุ๋ยเคมีได้อย่างเสรี ไม่ว่าจะเป็นจากซาอุดิอาระเบีย กาตาร์ บาห์เรน ตะวันออกกลาง หรือจากจีน ออสเตรเลีย รัสเซีย แคนาดา อิตาลี ลาว เป็นต้น โดยไม่กำหนดปริมาณ หรือโควตาการนำเข้า ถือเป็นอำนวยความสะดวกในการแข่งขัน

อย่างไรก็ดี ในช่วงที่เริ่มเกิดวิกฤติอาหารหรือความไม่มั่นคงด้านอาหารของโลก ในปี 2564 จีน และอินเดีย มีการสั่งปุ๋ยนำเข้าประเทศเพิ่มขึ้น และไม่มีการส่งออกปุ๋ย ทั้งนี้เพื่อต้องการรักษาความมั่นคงด้านอาหาร จากเห็นแล้วว่าปุ๋ยคือปัจจัยหลักสำคัญในการก่อให้เกิดความมั่นคงด้านอาหาร ประกอบกับในปี 2565 (ที่เกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน มีความไม่มั่นคงด้านอาหาร มีโควิด) การนำเข้าปุ๋ยเคมีของไทยกระโดดขึ้นไปถึงระดับ 1 แสนล้านบาท จากราคาปุ๋ยเพิ่มสูงขึ้นเท่าตัว ขณะที่ปริมาณนำเข้าลดลง เหลือ 4.1 ล้านตัน

กรมวิชาการเกษตรชี้ รง.แม่ปุ๋ยแจ้งเกิด ใช้ปุ๋ยอินทรีย์เพิ่ม ลดต้นทุนอีก 30%

อย่างไรก็ตาม ไทยถือว่าโชคดีที่เป็นประเทศผู้ผลิตอาหารของโลกหรือครัวโลก แม้จะได้รับผลกระทบจากราคาปุ๋ย แต่ยังสามารถส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารได้อย่างต่อเนื่อง และมีจีดีพีเป็นบวกในเรื่องของอาหารและการเกษตร แต่ปัจจุบันหลังจากสถานการณ์ที่คลี่คลายลงในทุกเรื่อง จะเห็นได้ว่าเวลานี้ราคาปุ๋ยได้ลดลงอย่างมาก โดยลดลง 40-50% หรือใกล้กลับเข้าสู่ภาวะปกติ

“จากการที่กรมวิชาการเกษตรได้มีมาตรการต่าง ๆ ทั้งการอำนวยความสะดวกในการนำเข้า การขึ้นทะเบียนผู้นำเข้า ปัจจุบันกรมฯขึ้นทะเบียนผู้นำเข้าปุ๋ย และทะเบียนปุ๋ยไปประมาณ 1.5 หมื่นฉบับแล้ว(ที่ยังไม่หมดอายุ) ซึ่งถือว่าเยอะมาก และในไตรมาสแรกปีนี้มีการนำเข้าปุ๋ย 1.2 ล้านตัน และจะมีการนำเข้าต่อเนื่องจากสถิติการขออนุญาตนำเข้าอีกประมาณเดือนละ 3 แสนตัน เพราะฉะนั้นปุ๋ยไม่ขาดแคลนแน่นอน และราคาปุ๋ยก็อยู่ในภาวะปกติ เป็นสิ่งที่สบายใจได้ว่า กรมวิชาการเกษตรยืนยันว่าแม่ปุ๋ยไม่ขาดแคลน ในสต๊อกมีเพียงพอทั้งปีนี้อย่างแน่นอน”

กรมวิชาการเกษตรชี้ รง.แม่ปุ๋ยแจ้งเกิด ใช้ปุ๋ยอินทรีย์เพิ่ม ลดต้นทุนอีก 30%

ขณะที่มาตรการกำกับดูแลของกรมวิชาการเกษตรตามอำนาจทางกฎหมาย มีการตรวจสอบทุกขั้นตอนตั้งแต่การนำเข้าจากท่าเรือ มีสารวัตรเกษตรนั่งเรือไปที่เกาะสีชัง และโดยรอบโดยขึ้นไปตรวจสอบปุ๋ยนำเข้าเพื่อควบคุมคุณภาพ กำกับมาตรฐานต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังตรวจสอบโรงงานผลิต และมีการตรวจร้านค้าที่มาขึ้นทะเบียนขออนุญาตค้าปุ๋ย

โดยผลการดำเนินงานในปี 2565  มีการตรวจร้านค้าที่ได้รับใบอนุญาตขายปุ๋ย 15,873 ร้านค้า ตรวจโรงงานผูผลิตปุ๋ย 172 ราย มีการสุ่มเก็บตัวอย่างจำนวน 123 ตัวอย่าง มีการอายัดปุ๋ยด้อยคุณภาพ 147 ตัน และดำเนินคดี 8 คดี ซึ่งจำนวนคดีถือว่าลดลงอย่างมาก หลังจากที่กรมฯได้มีความเข้มงวดในเรื่องการตรวจตราต่าง ๆ ทำให้เกษตรกรได้ใช้ปุ๋ยเต็มคุณภาพ ขณะที่ในแต่ละปีกรมฯมีการขึ้นทะเบียนสูตรปุ๋ยประมาณ 3,000 สูตร

กรมวิชาการเกษตรชี้ รง.แม่ปุ๋ยแจ้งเกิด ใช้ปุ๋ยอินทรีย์เพิ่ม ลดต้นทุนอีก 30%

นายระพีภัทร์ กล่าวถึง การดำเนินงานเพื่อลดต้นทุนของการผลิต เพื่อให้ใช้ปุ๋ยได้ถูกต้อง ถูกที่ ถูกเวลา หรือใช้ปุ๋ยตามการวิเคราะห์ค่าดินในพื้นที่ มีการแนะนำเกษตรกรในพื้นที่ว่าควรจะใช้ปุ๋ยสูตรไหน อย่างไร เป็นสิ่งที่กรมวิชาการเกษตร และสมาคมดินและปุ๋ยแห่งประเทศไทย สมาคมการค้าปุ๋ย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ขยายผลช่วยกันทั้งประเทศในเวลานี้ และได้แนะนำเกษตรกรในการผลิตปุ๋ยอินทรีย์เอง

ทั้งนี้จากมูลสัตว์ที่มากถึง 35 ล้านตันต่อปี และอินทรีย์วัตถุอื่นจากพืชอีกประมาณ 700 ล้านตันต่อปี ถือมีปริมาณเพียงพอในการนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ และลดการนำเข้าปุ๋ยเคมี โดยใช้เรื่องอินทรีย์วัตถุ ชีวภัณฑ์ ชีวภาพ จุลินทรีย์ เชื้อรา และอื่น ๆ ที่สามารถที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการดูดซึม และดูดซับให้แร่ธาตุอาหารให้กับพืชและธัญพืชที่กรมวิชาการเกษตร สถาบันการศึกษา และหน่วยงานอื่น ๆ ที่ได้คิดหรือผลิตขึ้นมา

กรมวิชาการเกษตรชี้ รง.แม่ปุ๋ยแจ้งเกิด ใช้ปุ๋ยอินทรีย์เพิ่ม ลดต้นทุนอีก 30%

“อยากจะเห็นการรักษา และต่อยอดศาสตร์พระราชาของในหลวงรัชกาลที่ 9 ในเรื่องการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยชีวภาพนำสู่เรื่องของเกษตรปลอดภัย ผู้ผลิต ผู้ใช้ ผู้บริโภคปลอดภัย ดังนั้นการลดเลิกการใช้สารเคมีให้เหมาะสม ให้ถูกต้อง เป็นนโยบายสำคัญของกรมวิชาการเกษตรและรัฐบาล มีการใช้ปุ๋ยผสมผสานที่ถูกต้องตามอัตราการใช้ ถูกสูตร ของการยางแห่งประเทศไทย สามารถลดการใช้ปุ๋ยเคมีในยางพาราได้ไม่น้อยกว่า 20% ดังนั้นต้องขยายผลต่อ

นอกจากนี้มีความจำเป็นที่ต้องมีแม่ปุ๋ยหลักทดแทนการนำเข้า โดยคณะรัฐมนตรี(ครม.)ได้มีมติอนุญาตให้มีการผลิตปุ๋ยโพแทสเซียมคลอไรด์ในประเทศไทยจาก 3 แหล่ง ที่จังหวัดนครราชสีมา ชัยภูมิ และอุดรธานี ซึ่งมีความคืบหน้าตามลำดับ คาดที่จังหวัดชัยภูมิ และอุดรธานี จะสามารถระดมทุนและดำเนินการผลิตปุ๋ยได้อีกใน 3 ปี

กรมวิชาการเกษตรชี้ รง.แม่ปุ๋ยแจ้งเกิด ใช้ปุ๋ยอินทรีย์เพิ่ม ลดต้นทุนอีก 30%

หากไทยมีแหล่งการผลิตปุ๋ยโปแตชในประเทศได้เอง มั่นใจว่ากับการใช้ปุ๋ยอย่างผสมผสาน และลดห่วงโซ่อุปทาน ลดยี่ปั๊วซาปั๊ว สหกรณ์การเกษตร ชุมนุมสหกรณ์ หรือหน่วยงานรัฐโดยตรงที่เกี่ยวข้องกับด้านการเกษตร และสถาบันเกษตรกรต่าง ๆ สามารถที่จะซื้อปุ๋ยจากบริษัทเหล่านี้ได้โดยตรง และให้กับพี่น้องเกษตรกรโดยตรงตัดยี่ปั๊วซาปั๊วออกไป และเพิ่มการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ชีวภาพ โดยใช้ศาสตร์พระราชา คิดว่าต้นทุนการผลิตต้องลดลงไม่ต่ำกว่า 20-30% และการสนับสนุนการทำการเกษตรลดการเผาตอซัง ใบอ้อย ลดก๊าซเรือนกระจก ขายคาร์บอนเครดิตได้ และนำสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ซึ่งทั้งหมดเป็นภาพที่ตนอยากเห็น

กรมวิชาการเกษตรชี้ รง.แม่ปุ๋ยแจ้งเกิด ใช้ปุ๋ยอินทรีย์เพิ่ม ลดต้นทุนอีก 30%