กระทรวงเกษตรฯ-นักวิจัยกัมพูชา ศึกษาต้นแบบคอนแทรคฟาร์ม CPF

08 มิ.ย. 2566 | 11:08 น.

กระทรวงเกษตรฯ-นักวิจัยกัมพูชา นำทีมศึกษาต้นแบบคอนแทรคฟาร์มซีพีเอฟเพื่อนำไปประยุกต์ใช้ เผยระบบในกัมพูชาประสบปัญหาบริษัทคู่สัญญาไม่ไปรับผลผลิตตรงตามเวลานัดหมาย ทำให้เกษตรกรเสียโอกาส และมีต้นทุนสูงขึ้น

ระบบคอนแทรคฟาร์มมิ่ง (Contract Farming) หรือเกษตรพันธสัญญา เป็นระบบที่ช่วยส่งเสริมอาชีพของเกษตรกรรายย่อยของประเทศไทย  ซึ่งปัจจุบัน บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด หรือซีพีเอฟ เป็นหนึ่งในบริษัทที่ดำเนินการในระบบคอนแทรคฟาร์ม ในโครงการส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงสัตว์แก่เกษตรกรรายย่อยของซีพีเอฟกว่า 5,900 ราย ช่วยให้มีอาชีพที่มั่นคง และมีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น ไม่เสี่ยงทั้งด้านราคาและตลาด  โดยเป็นรูปแบบที่องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ  (FAO) ยกเป็นแบบอย่างที่ดีในการพัฒนาภาคเกษตร พร้อมนำไปเป็นแนวทางถ่ายทอดให้หลายประเทศนำไปประยุกต์ใช้

รายงานข่าวจากซีพีเอฟ เผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ คณะเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมง และคณะนักวิจัยจากสถาบันนโยบายศึกษา ประเทศกัมพูชา พร้อมด้วยคณะนักวิจัยจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) นำทีมโดย ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณทีดีอาร์ไอ ได้เข้าเยี่ยมชมโรงงานแปรรูปเนื้อไก่มีนบุรี 2 ของบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน)หรือซีพีเอฟ

กระทรวงเกษตรฯ-นักวิจัยกัมพูชา ศึกษาต้นแบบคอนแทรคฟาร์ม CPF

ทั้งนี้เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและเรียนรู้รูปแบบคอนแทรคฟาร์มิ่งของซีพีเอฟ ที่ปรับปรุงตามแนวทางสากลของ UNIDROIT หน่วยงานอิสระทางกฎหมายสากลอันดับ 1 ของโลก มีความถูกต้อง เปิดเผย และเป็นธรรม เพื่อส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงสัตว์แก่เกษตรกร พร้อมเยี่ยมชมกระบวนการผลิตอาหารปลอดภัยคุณภาพสูง ที่ใช้เนื้อไก่จากฟาร์มบริษัทและฟาร์มในระบบคอนแทรคฟาร์มมิ่ง ทำให้สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ สร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค

คณะจากกระทรวงเกษตรฯ และคณะนักวิจัยจากสถาบันนโยบายศึกษา ประเทศกัมพูชา ให้ความสนใจสอบถามถึงระบบคอนแทรคฟาร์มมิ่งของซีพีเอฟหลายด้าน อาทิ ผลประโยชน์ที่เกษตรกรคู่สัญญาจะได้รับ การจ่ายเงินค่าผลผลิต การหาแหล่งเงินกู้ให้กับเกษตรกร การประกันความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ เพื่อนำไปพัฒนาและปรับปรุงรูปแบบสัญญาให้เหมาะสมกับเกษตรกรของกัมพูชา โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อยให้ได้รับผลประโยชน์ตามสัญญาสูงสุด เนื่องจากปัจจุบันที่กัมพูชาประสบปัญหาจากการที่บริษัทคู่สัญญาไม่ไปรับผลผลิตตรงตามเวลานัดหมาย ทำให้เกษตรกรเสียโอกาสและมีต้นทุนสูงขึ้น

กระทรวงเกษตรฯ-นักวิจัยกัมพูชา ศึกษาต้นแบบคอนแทรคฟาร์ม CPF

นายดิถดนัย ผ่องสุวรรณ ผู้อำนวยการธุรกิจไก่เนื้อ 2 ซีพีเอฟ กล่าวว่า บริษัทฯ มีความยินดีที่ได้ร่วมแลกเปลี่ยนความรู้กับคณะนักวิจัยทีดีอาร์ไอ และคณะเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงเกษตรฯ จากกัมพูชาเกี่ยวกับกระบวนการผลิตอาหารครบวงจร เริ่มตั้งแต่อาหารสัตว์ ฟาร์มปศุสัตว์ และแปรรูปอาหาร สร้างหลักประกันด้านคุณภาพ ความปลอดภัย และตรวจสอบย้อนกลับได้

รวมทั้งโมเดลความสำเร็จระบบคอนแทร็คฟาร์มมิ่งตามมาตรฐานสากล ที่ส่งเสริมการเลี้ยงไก่เนื้อในระบบ EVAP (Evaporative Cooling System) ควบคุมอุณหภูมิให้สอดคลัองกับธรรมชาติของสัตว์ ควบคู่กับหลักสวัสดิภาพสัตว์ ให้กับเกษตรกรคู่สัญญา รวมถึงการส่งเสริมเทคโนโลยีที่ทันสมัย อย่างแอพพลิเคชั่น สำหรับตรวจสอบการกินอาหารและสุขภาพสัตว์ในฟาร์ม เพื่อลดการเข้าสู่ฟาร์มของมนุษย์ ที่อาจเป็นพาหะนำโรคได้  ช่วยส่งเสริมการบริหารจัดการฟาร์มให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น พร้อมทั้งช่วยส่งเสริมความมั่นคงในอาชีพเกษตรกรเลี้ยงไก่เนื้อ  และเป็นห่วงโซ่การผลิตอาหารปลอดภัย

 

กระทรวงเกษตรฯ-นักวิจัยกัมพูชา ศึกษาต้นแบบคอนแทรคฟาร์ม CPF

พร้อมกันนี้ ในส่วนของธุรกิจปลายน้ำ  คณะกระทรวงเกษตร กัมพูชาฯ ยังได้เข้าเยี่ยมชมกระบวนการผลิตอาหารพร้อมรับประทานและไส้กรอกมาตรฐานการผลิตระดับโลก ที่โรงงานอาหารสำเร็จรูปหนองจอก ซึ่งใช้เทคโนโลยีทันสมัย ด้วยระบบอัตโนมัติแบบต่อเนื่องและหุ่นยนต์ ตั้งแต่การจัดเก็บวัตถุดิบ การผลิต จนถึงการจัดการสินค้าในคลังอัตโนมัติ ภายใต้การควบคุมอุณหภูมิความเย็นตลอดกระบวนการผลิต ช่วยให้ผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมทาน สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ทุกขั้นตอน