“อินฟอร์มาฯ” ลุยจัด “JGAB” ปลุกตลาดอัญมณีและเครื่องประดับไทย

02 มี.ค. 2566 | 03:50 น.

อุตสาหกรรมเครื่องประดับและอัญมณีไทยรั้งเบอร์ 3 มูลค่าการส่งออกสูงสุด ชี้ขาดการสนับสนุนภาครัฐแนะปลดล็อค Carat Tax ยกระดับอุตสาหกรรมเพิ่ม GDP ให้ประเทศ “อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ฯ” ดึงบิ๊กอีเวนต์ “JGAB” ช่วยกระตุ้นอุตสาหกรรมคาดสร้างเม็ดเงินสะพัดในงาน 3 พันล้านบาท

อุตสาหกรรมเครื่องประดับและอัญมณีไทยหลังโควิดมีโอกาสเติบโตสูง หลังคู่แข่งในอาเซียนยังไม่ฟื้นจากโควิด  สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยแนะรัฐปลดล็อค Carat Tax ชิงจังหวะสร้างรายได่เพิ่มจากการส่งออก ด้าน “อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ฯ”  เตรียมพร้อมจัดงาน “Jewellery & Gem ASEAN Bangkok” (JGAB) ครั้งแรกในประเทศไทย รองรับอุปสงค์ทั่วโลกไหลเข้าตลาดไทย

“อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ฯ” ลุยจัด “JGAB” ปลุกตลาด“อัญมณีและเครื่องประดับ”ไทย
นายวิบูลย์ หงษ์ศรีจินดา ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอัญมณี และเครื่องประดับ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่าในปี 2565 ที่ผ่านมา สินค้าอัญมณี และเครื่องประดับ เป็นสินค้าที่มียอดส่งออกสูงสุดเป็นอันดับ 3 ของไทย โดยมูลค่าส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ (รวมทองคำไม่ขึ้นรูป) 517,607.97 ล้านบาท ขยายตัว 62.83 % หากไม่รวมทองคำไม่ขึ้นรูป สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ มีมูลค่าส่งออกถึง 279,602.63 ล้านบาท ขยายตัว 43.42 % และคาดว่าในปี 2566 จะสามารถส่งออกเพิ่มขึ้นอีก 10-15%

 

“ตอนนี้เราส่งออกเป็นอันดับ 3 ของประเทศไทยมีเจ้าของกิจการที่เป็นคนไทย100% เกิน 85% ในปีที่ผ่านมายอดการส่งออกทองคำมีการเติบโต 50% ในเรื่องของดีไซน์ตอนนี้เราเป็นผู้นำของโลกแซงอิตาลี เยอรมันและอเมริกาไปแล้ว ดังนั้นการจะก้าวขึ้นมาเป็น ฮับของอัญมณีของโลก มีความเป็นไปได้ แต่เรายังขาดการสนับสนุนจากรัฐบาลในขณะที่คู่แข่งหลักของเราทั้งอินเดียและจีนมีการสนับสนุนจากรัฐบาลทำให้อุตสาหกรรมโตได้เร็ว 

สถิติการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ

“เราอยากให้รัฐบาลช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมเช่นแก้ไขการเก็บภาษีนิติบุคคลของพ่อค้าพลอย เป็นแบบภาษีแบบเหมา (Carat Tax) จะทำให้ยอดการส่งออกเพิ่มสูงขึ้น ส่วนอุตสาหกรรมเครื่องประดับเงิน หากรับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม แบบไม่มีเงื่อนไข จะสามารถเพิ่มสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการ SMEs เพราะวัตถุดิบเงินถือเป็นโลหะมีค่าถ้าได้รับการสนับสนุนจะสามารถเพิ่มยอดส่งออกเครื่องประดับเงินซึ่งเป็น product champion และกิจการส่วนใหญ่เป็น SME ถ้ารัฐบาลปลดล็อคได้ก็จะมีรายได้จากภาษีอากรมากขึ้น และอุตสาหกรรมเติบโตมากขึ้นเพราะโดยพื้นฐานเรามีช่างฝีมือแรงงานที่โดดเด่นเรื่องของการเผาและเจียรนัยพลอยซึ่งต่างชาติพึ่งเราในส่วนนี้”

 

อย่างไรก็ตามส่วนตัวมองว่าตอนนี้เป็นช่วงจังหวะที่ดีในการสร้างการเติบโตให้อุตสาหกรรมเพราะคู่แข่งในเอเชียยังซึมจากภาวะโควิด ไทยจะต้องช่วงชิงโอกาสนี้เพราะมีทั้งอุตสาหกรรม โรงงาน วัตถุดิบต้นน้ำที่ต่างประเทศส่งเข้ามามากที่สุดขณะที่ผู้ค้าจากต่างประเทศเริ่มเดินทางเข้ามาซื้อขายในประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะในงาน“Jewellery & Gem ASEAN Bangkok” (JGAB) ที่กำลังจะจัดขึ้นในช่วงเดือนเมษายนนี้ น่าจะเป็นอีกหนึ่งแม่เหล็กในการดึงดูดคู่ค้าและทุนต่างชาติเข้ามาในประเทษได้มากขึ้น

สถิติการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ

"ถ้าไทยสามารถปลดล็อกข้อจำกัดของอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับได้ก็จะสามารถสร้าง GDP และดึงแรงงานให้กลับเข้ามาในระบบได้มากขึ้นหลังจากมีการไหลออกของแรงงานในช่วงปิดกิจการในช่วงโควิด ตอนนี้เราอยากที่จะให้แรงงานกว่า 1 ล้านคนในระบบกลับเข้ามาเพราะเรายังเห็นแสงสว่างของอุตสาหกรรมนี้และหวังว่าปี 2566 น่าจะมีการเพิ่มมูลค่าจากปีที่แล้ว 10-15% เป็นอย่างน้อยและถ้ารัฐบาลเปิดโอกาสและสนับสนุนมูลค่าการเติบโตคงจะไม่ต่ำกว่า 30%และกลายเป็นฐานของอุตสาหกรรมเครื่องประดับและอัญมณีโลก"

 

ด้านนางประพีร์ สรไกรกิติกูล ที่ปรึกษาสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและประธานคณะกรรมการสมาคมการค้ากลุ่มอัญมณี เครื่องประดับและโลหะมีค่า เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ในช่วงโควิดผู้ประกอบการส่งออกน้อยลงเพราะหลายประเทศมีการปิดประเทศ ซึ่งผู้ประกอบส่วนใหญ่ปิดร้านและหันมาทำตลาดออนไลน์ทำให้ยังมีตัวเลขการเติบโตของอุตสาหกรรมบ้าง

 

ในปีที่ 2565 ที่ผ่านมาประเทศเปิดเต็มที่ ผู้ประกอบการกลับมาเปิดร้าน การเดินทางทั่วโลกกลับสู่ภาวะเกือบปกติอุตสาหกรรมเครื่องประดับและอัญมณีกลับมาเติบโต  50% โดยเฉพาะเซกเตอร์พรีเมี่ยมเพราะคนที่มีเงินยังคงจับจ่าย ทำให้อุตสาหกรรมทองโต 30-40% ,เพชรเติบโต 50% ส่วนหนึ่งเป็นผลจาก Trade war ของจีนและอเมริกา ประกอบกับอินเดียติดปัญหาการจัดการโควิด ทำให้อุปสงค์ไหลมาจับจ่ายที่ไทยส่งผลให้การส่งออกเติบโตตามไปด้วยโดยเฉพาะเพชรที่เติบโตกว่า 50% 

 

“แนวโน้มตลาดที่สำคัญของอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ คือ เครื่องประดับเพชร ที่มีสัดส่วนสูงถึง 35% ของมูลค่าเครื่องประดับโลกในปี 2021 รองจากเครื่องประดับทองที่สัดส่วนเกินกว่า 40% นอกจากนี้คนรุ่นใหม่ยังเลือกซื้อเครื่องประดับที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมโดยผู้บริโภค 58% เลือกเพชรที่ผลิตโดยรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ขณะที่ 85% ของผู้บริโภคและ 92% ของ Gen 2 ยอมจ่ายเพิ่มกับสินค้าที่ผลิตอย่างรับผิดชอบอีกด้วย

สถิติการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ ทางด้านนางสาวอนุชนา วิชเวช ผู้อำนวยการโครงการ อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย เปิดเผยว่า ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตของจิวเวลรี่ เป็น marketplace และตลาดซื้อขายและเจียระไนพลอย ขณะเดียวกันมีจุดยุทธศาสตร์อยู่ตรงกลางของอาเซียน และ product ของไทยเป็นที่ชื่นชอบของกลุ่มประเทศอาเซียน ในปีนี้ “อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์” จึงดึงงานใหญ่ระดับโลกของอุตสาหกรรมเครื่องประดับอย่างงาน Jewellery and Gem ASEAN Bangkok งานแสดงสินค้าอุตสาหกรรมอัญมณี และเครื่องประดับแห่งภูมิภาคอาเซียนมาจัดขึ้นที่ประเทศไทยในรูปแบบ  international show โดยมีผู้ประกอบการไทยเข้าร่วมงาน 70% และ 30% เป็นผู้ประกอบการต่างประเทศ ซึ่งตอนนี้ได้รับการตอบรับจากผู้ประกอบการใน 11 ประเทศที่จะเข้าร่วมงาน ซึ่งบริษัทคาดหวังผู้เข้าร่วมงานในครั้งนี้ 8,000 คน โดยเป็นผู้ร่วมงานในประเทศไทย  60%  และผู้ชมงานจากต่างประเทศ 40% 

 

“เราคาดหวังการเข้าชมงานของต่างประเทศเยอะ เพราะเราเครือข่ายผู้ประกอบการจากการจัดงานแสดงสินค้าทั่วโลก มากกว่า 450 งานใน 15 ภาคอุตสาหกรรมครอบคลุม 30 ประเทศในแต่ละปี และประสบการณ์มากว่า 40 ปีในการจัดงานที่เกี่ยวข้องกับเครื่องประดับและอัญมณีทั้งในฮ่องกง จีน อินเดีย ญี่ปุ่น ตุรกี ไต้หวัน ดูไบ บาเรน และสิงคโปร์ ทำให้เราเห็นศักยภาพของงานอัญมณีในอาเซียนและวางแผนที่จะเจาะตลาดอาเซียนระยะยาว”


ทั้งนี้นอกจากการซื้อขายแล้วภายในงานยังมีการจัดกิจกรรมที่น่าสนใจไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมพัฒนาดีไซเนอร์ไทยและผู้ประกอบการรายย่อยของไทยให้มีเวทีแสดงศักยภาพ  นอกจากนี้ยังมีการประสานงานกับมหาวิทยาลัยและสถาบันdesign ต่างๆ เพื่อนำ young designer มาประกาศความสามารถในงาน การประกวด young designer award และจัดพื้นที่ให้แสดงผลงาน รวมไปถึงการจัดสัมมนาให้ความรู้ ทางธุรกิจ การตลาดและประชาชนเกี่ยวกับเทรนด์เครื่องแต่งกาย เทรนด์เครื่องประดับ ไปถึงสายมูเช่นเครื่องประดับที่ถูกโฉลกเพื่อใช้ดึงดูดกลุ่มเป้าหมายให้เข้าร่วมงานมากขึ้น

 

“อย่างไรก็ตามเป้าหมายหลักของเราก็คือเราต้องการจัดงานในลักษณะของ B2B เราเน้นในเรื่องภาคธุรกิจ   เราเชิญนักธุรกิจ นักลงทุนจากอาเซียนและทั่วโลกเข้ามาโดยที่เรารองรับตั้งแต่การเดินทางจากสนามบิน ที่พัก การเดินทางเข้าร่วมงานตลอดระยะเวลาการจัดงาน เพื่อมั่นใจว่านักลงทุนเหล่านั้นจะสามารถเข้าร่วมงานของเราได้ และคาดว่าน่าจะเกิดเม็ดเงินสะพัดภายในงานกว่า3,000ล้านบาท”

 

ทั้งนี้งาน“Jewellery & Gem ASEAN Bangkok” (JGAB) จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 - 29 เมษายน 2566 ณ Hall  1-2 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์