อคส.ไล่บี้แก๊งถุงมือยาง เร่งส่งฟ้องมั่นใจ22รายไม่รอด

29 มี.ค. 2566 | 03:46 น.

อคส.กัดไม่ปล่อยไล่บี้ตามทวงเงินแสนล้านจากแก๊งถุงมือยาง ทั้งจนท.รัฐ-เอกชน เร่งส่งฟ้องหลัง ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดอาญา-วินัย  ยัน22 รายไม่รอดคดีแพ่ง อาญา ถูกยึดทรัพย์

นายเกรียงศักดิ์ ประทีปวิศรุต ผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้า (อคส.) เปิดเผยถึงกรณีที่ที่ประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เมื่อวันที่ 22 มี.ค.66 มีมติเป็นเอกฉันท์ชี้มูลความผิดผู้ถูกกล่าวหาในทุจริตการจัดซื้อถุงมือยางระหว่าง อคส.และบริษัท การ์เดียนโกลฟส์ จำกัด มูลค่า 112,500 ล้านบาทว่า การชี้มูลของ ป.ป.ช เป็นการปลดล็อกที่สำคัญอย่างมาก และช่วยฝ่ายที่ไล่จับคนผิดมาลงโทษและติดตามเงินคืน เพราะที่ผ่านมา อคส.ได้รับแรงกดดันแต่ฝ่ายเดียว ในขณะที่ฝ่ายที่ร่วมกันกระทำความผิดยังลอยนวล

นายเกรียงศักดิ์ ประทีปวิศรุต ผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้า (อคส.)

ทั้งนี้ แนวทางดำเนินการหลังจากนี้ มี 3 แนวทางคือ 1.ฟ้องแพ่ง (ฟ้องความรับผิดทางละเมิด) เฉพาะเจ้าหน้าที่รัฐที่ถูกชี้มูลความผิด ซึ่งขณะนี้อยู่ในชั้นตรวจสอบของกระทรวงการคลัง หลังจากที่คณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางละเมิดที่ อคส.ได้ตั้งขึ้น เพื่อพิจารณาความรับผิดทางละเมิดได้พิจารณาแล้วเสร็จ และส่งให้กระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแล พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 พิจารณาต่อแล้วตั้งแต่ปีที่ผ่านมา

อคส.ไล่บี้แก๊งถุงมือยาง เร่งส่งฟ้องมั่นใจ22รายไม่รอด

2.ฟ้องอาญาทุจริต ผู้ที่ถูกชี้มูลทั้งหมด และ 3.ฟ้องอาญาฟอกเงินและแพ่ง ผู้ที่ถูกชี้มูลทั้งหมด ซึ่ง อคส.ได้ประสาน ป.ป.ช.เพื่อขอข้อมูลการชี้มูลแล้ว จากนั้นจะส่งมอบให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ดำเนินการ รวมถึงอายัดบัญชีจากการตรวจสอบเส้นทางการเงิน โดยเป็นเงินที่ อคส.ได้จ่ายเป็นค่ามัดจำล่วงหน้าการผลิตถุงมือยางให้กับบริษัท การ์เดียนโกลฟส์ รวม 2,000 ล้านบาท

“เรื่องนี้ต้องขอขอบคุณ ป.ป.ช.ที่ช่วยผลักดันให้สำเร็จ และนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รัฐมนตรีว่การกระทรวงพาณิชย์ ที่สนับสนุนและกำชับให้จัดการอย่างเด็ดขาดกับกลุ่มผู้กระทำความผิดทั้งหมด เพราะหากไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างเข้มแข็งในการจัดการคนโกงบ้านโกงเมืองคงไม่สามารถเอาผิดคนทุจริตได้”

รายงานเพิ่มเติม ว่า ป.ป.ช.ได้ชี้มูลความผิดบุคคลที่เกี่ยวข้องกับโครงการนี้รวม 22 คน ประกอบด้วย 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ใน อคส.ที่เกี่ยวข้องกับการทำสัญญาซื้อขายถุงมือยาง 3 ราย ถูกชี้มูลความผิดทางอาญา และวินัยร้ายแรง 2.กลุ่มผู้บริหารในคณะกรรมการ (บอร์ด) อคส. 1 ราย ถูกชี้มูลความผิดอาญา และวินัยร้ายแรง และ 3.กลุ่มเอกชนที่เกี่ยวข้อง 18 ราย ถูกชี้มูลความผิดอาญา และในจำนวนนี้มี 1 รายเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ จึงถูกชี้มูลความผิดวินัยร้ายแรงเพิ่มอีก 1 ฐานความผิด

 สำหรับ พ.ต.อ.รุ่งโรจน์ พุทธิยาวัฒน์ รักษาการผู้อำนวยการ อคส. และเจ้าหน้าที่ตำรวจอีก 1 ราย ที่ถูกชี้มูลความผิดอาญา และวินัยร้ายแรง ให้ส่งรายงานสำนวนไต่สวนเอกสารหลักฐาน และคำวินิจฉัยไปยังผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอน เพื่อดำเนินการทางวินัย

ส่วนเจ้าหน้าที่ อคส. อีก 2 ราย คือ นายเกียรติขจร แซ่ไต่ และนายมูรธาธร คำบุศย์ ที่ถูกชี้มูลความผิดทางอาญาและวินัยร้ายแรงนั้น ก่อนหน้านี้ อคส.มีคำสั่งลงโทษไล่ออกไปแล้ว จึงไม่มีเหตุต้องส่งเรื่องไปยังผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอน เพื่อดำเนินการทางวินัยอีก ขณะที่ผู้บริหารในบอร์ด อคส.ที่ถูกชี้มูลความผิดอาญา และวินัยร้ายแรง ได้พ้นจากตำแหน่งไปแล้ว จึงไม่มีเหตุต้องส่งเรื่องไปยังผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอน เพื่อดำเนินการทางวินัยอีกเช่นกัน อย่างไรก็ตาม การชี้มูลความผิดของ ป.ป.ช.ยังไม่ถึงที่สิ้นสุด จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาตัดสินชี้ขาด ดังนั้น ขณะนี้ผู้ถูกชี้มูลความผิดทุกคนยังถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์

สำหรับคดีทุจริตจัดซื้อถุงมือยางนั้น เกิดขึ้นในช่วงปี 63 ช่วงที่ พ.ต.ท.รุ่งโรจน์ ดำรงตำแหน่งรักษาการ ผู้อำนวยการ อคส. ได้ร่วมกับเอกชนหลายรายดำเนินโครงการจัดซื้อถุงมือยางเทียม 500 ล้านกล่อง มูลค่า 112,500 ล้านบาท และนำเงินของ อคส. 2,000 ล้านบาท ไปจ่ายเป็นค่ามัดจำให้กับการ์เดียนโกลฟส์ ผู้รับจ้างผลิต อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากนายเกรียงศักดิ์รับตำแหน่งผู้อำนวยการ อคส.คนใหม่ ได้พบความไม่ชอบมาพากลทางบัญชี จึงตรวจสอบอย่างละเอียด และพบการทุจริต จึงร้องเรียนต่อ ป.ป.ช. และ ปปง.ในเดือน ก.ย.63