เจน2 ยักษ์ “สหฟาร์ม”ลั่น คัมแบ็คยืนหนึ่ง อุตสาหกรรมไก่ไทย

02 ก.พ. 2566 | 02:30 น.

“สหฟาร์ม” ในอดีตเป็นผู้บุกเบิกตลาดส่งออกไก่สดแช่แข็งรายแรก ๆ ของประเทศไทย และครองอันดับ 1 มานานกว่า 6 ทศวรรษ ภายใต้การนำของ ดร.ปัญญา โชติเทวัญ ที่ขยายอาณาจักรจนยิ่งใหญ่

อย่างไรก็ดีธุรกิจของสหฟาร์มมีอันต้องสะดุดลง จากการลงทุนที่เกินตัว จนมีภาระหนี้สินกว่า 2 หมื่นล้านบาท และต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูในกลางปี 2557 ล่าสุดศาลล้มละลายกลางได้สั่งให้สหฟาร์มออกจากแผนฟื้นฟู โดยเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เรื่องการยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ บริษัท สหฟาร์ม จำกัด เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2565 ทำให้บริษัทกลับมามีอิสระในการวางแผน และดำเนินธุรกิจเองอีกครั้งในรอบ 8 ปี

“นางสาวจารุวรรณ โชติเทวัญ” ประธานสายการตลาดต่างประเทศ บริษัท สหฟาร์ม จำกัด หนึ่งในทายาท ดร.ปัญญา และ ดร.มนูญศรี โชติเทวัญ ผู้ก่อตั้งบริษัท สหฟาร์มให้สัมภาษณ์กับสื่อในเครือเนชั่น ถึงทิศทางธุรกิจของกลุ่มสหฟาร์มหลังออกจากแผนฟื้นฟู โดยเธอประกาศว่า เป้าหมายสำคัญจะกลับมาทวงคืนอันดับ 1 ในอุตสาหกรรมไก่ของไทยอีกครั้ง จากช่วง 7-8 ปีที่อยู่ในแผนฟื้นฟูฯ ทำให้มีข้อจำกัดในการทำธุรกิจ สิ่งที่ต้องเร่งในตอนนี้คือต้องวิ่งตามคนอื่นให้ทัน

เจน2 ยักษ์ “สหฟาร์ม”ลั่น คัมแบ็คยืนหนึ่ง อุตสาหกรรมไก่ไทย

 

  • รุกหนักหลังออกแผนฟื้นฟู

“เป้าหมายของเราคือต้องกลับมายื่นหนึ่งในเรื่องไก่อีกครั้ง จาก ณ ปัจจุบันสหฟาร์มก็ถือว่าเป็นผู้ส่งออกไก่สดไปต่างประเทศเป็นอันดับ 1 ของประเทศ จากที่ผ่านมาก็เป็นเบอร์ 2 หรือเบอร์ 1 เพราะไทยไม่ได้ส่งออกไก่สดอย่างเดียว ยังมีการส่งออกไก่ปรุงสุกด้วย แยกเป็น 2 ตลาด แต่ถ้าเป็นไก่สดเรายังถือเป็นผู้ส่งออกอันดับ 1 อยู่ อย่างไรก็ตามในส่วนของภาระหนี้สินเรายังต้องชำระหนี้ตามแผนฟื้นฟูจนถึงปี 2570 เพราะฉะนั้นเราก็ยังมีตรงนี้เป็นภาระหน้าที่รับผิดชอบที่จะต้องทำ ยังต้องชำระหนี้ให้ครบทุกบาททุกสตางค์ เพราะสหฟาร์มเราไม่มีแฮร์คัทแม้แต่บาทเดียว เราจ่ายเต็มทุกอย่างให้กับทุกคน แต่จากตรงนี้ไปจะเป็นในส่วนของการเจริญเติบโตว่าธุรกิจเราจะมุ่งหน้าไปทางไหน”

ทั้งนี้แผนธุรกิจที่สำคัญในปีนี้ เช่น จะทยอยเพิ่มกำลังการผลิตอีก 20-30% การขยายธุรกิจและช่องทางการจำหน่ายในบิซิเนสโมเดลที่แปลกใหม่ เพื่อให้ธุรกิจสามารถเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด ซึ่งจะมีโปรเจ็กต์อะไรบ้างนั้นขอให้แล้วเสร็จก่อน แล้วจะได้มานำเสนอให้ทราบต่อไป

จารุวรรณ  โชติเทวัญ

  • ขยายตลาด “ไก่อารมณ์ดี"

ขณะเดียวกันจากช่วงที่เกิดสถานการณ์โควิด บริษัทได้ออกผลิตภัณฑ์ไก่พรีเมี่ยมในแบรนด์  “PAULDY” หรือ พอลดีย์ ที่มีระบบการเลี้ยงให้ไก่อารมณ์ดี โดยลงไก่เลี้ยงต่อตารางเมตรน้อยกว่าปกติ มีสนามเด็กเล่นไก่ให้วิ่งเล่น มีการเปิดเพลงคลาสสิคให้ไก่ฟัง มีขอนไม้ให้เกาะ มีข้าวโพด ฟ้าทะลายโจรให้จิก ทำให้ไก่ไม่เครียด และมีเนื้อสัมผัสที่มีความเป็นกรดยูริกต่ำกว่ามาตรฐานประมาณ 20% โดยช่วงแรกเน้นเจาะตลาดกลุ่มเป้าหมายลูกค้าออนไลน์ ซึ่งได้รับการตอบรับจากตลาดเป็นอย่างดี ปัจจุบันไทยมียกเลิกล็อกดาวน์แล้ว ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคกลับสู่ภาวะปกติ บริษัทจึงไม่ได้ขายเฉพาะผ่านออนไลน์ แต่ยังมีขายไก่พอลดีย์ในซุปเปอร์มาเก็ตชั้นนำทั่วไปด้วย รวมถึงจะบุกตลาดต่างประเทศในอนาคต ซึ่งเวลานี้มีคู่ค้าของบริษัทได้ขอเป็นตัวแทนจำหน่าย คาดจะเริ่มในแถบเอเชียก่อน ซึ่งจะได้เห็นแน่นอน

“เราออกจากแผนฟื้นฟูแล้ว ศาลก็ตัดสินให้ทางผู้ถือหุ้นเดิม กรรมการเดิม หรือคุณพ่อ (ดร.ปัญญา โชติเทวัญ) เข้ามาบริหารในบริษัท ทำให้เราสามารถทำอะไรหลาย ๆ อย่างได้มากขึ้น หนึ่งในนั้นคือ การรีโนเวทสหฟาร์มซูเปอร์มาร์เก็ตที่สำนักงานใหญ่ (รามอินทรา กม.8) เพื่อให้มีความทันสมัยมากขึ้น และจะมีการจัดโปรโมชั่น เช่น ไข้พะโล้ 4 ฟอง 10 บาท ซึ่งซูเปอร์มาร์เก็ตของสหฟาร์มมีที่เดียวในโลก ที่เป็นทั้งโชว์รูมให้เห็นถึงสินค้าที่เราขายไปต่างประเทศ รวมถึงมีการขายส่งและขายปลีกในประเทศ ในอนาคตเราจะมีโมเดลธุรกิจให้คนที่อยากเป็นเจ้าของธุรกิจได้เข้ามาดูว่าเป็นอย่างไร”

  • เปิด "บ้านสุขาวดี"รับท่องเที่ยว

นอกจากนี้ในส่วนของ “บ้านสุขาวดี” ที่เคยเป็นแหล่งท่องเที่ยวอันดับท็อป ๆ ของพัทยา เคยมีนักท่องเที่ยวจีน รัสเซีย และจากประเทศอื่น ๆ ซื้อแพ็กเกจเข้ามาเที่ยวชม มาดูการแสดงโชว์ และทานอาหารเป็นหมื่นคนต่อวันแต่ต้องปิดไปช่วงสถานการณ์โควิดจากไทยปิดประเทศ ขณะนี้บ้านสุขาวดีได้กลับมาเปิดเพื่อรับนักท่องเที่ยวอีกครั้ง ในส่วนของคนไทยสามารถเข้าชมฟรีตลอดเดือนกุมภาพันธ์นี้

“ธุรกิจหลักของสหฟาร์มเป็นธุรกิจไก่ครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ มีตั้งแต่ปู่ย่าพันธุ์ พ่อแม่พันธุ์ โรงฟักไก่เนื้อ โรงงานอาหารสัตว์ไปจนถึงโรงงานแปรรูป และโรงงานอาหารสำเร็จรูปเพื่อการส่งออก โดยตลาดหลัก เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี จีน ฮ่องกง สิงคโปร์ รวมถึงอีกหลายประเทศในยุโรป อาทิ อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี และอื่น ๆ ซึ่งสินค้าส่งออกหลักเป็นไก่สด แต่ในส่วนของไก่ปรุงสุกเราก็มี ส่วนใหญ่เป็นการรับจ้างผลิตในแบรนด์ลูกค้า(โออีเอ็ม) ปัจจุบันเรามีกว่า 2 หมื่นครอบครัวที่ทำงานภายใต้สหฟาร์ม”

สำหรับฐานผลิตหลักของบริษัทอยู่ที่จังหวัดลพบุรี และเพชรบูรณ์ ที่เป็นแหล่งปลูกข้าวโพดอาหารสัตว์มากสุดของประเทศ และเรามีฟาร์มเลี้ยงไก่ โรงงานอาหารสัตว์ โรงงานแปรรูปไก่ และโรงงานอาหารสำเร็จรูปอยู่ในระแวกนี้ทั้งหมด โดย OIE (องค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ) ยกย่องให้สหฟาร์มเป็นคอมพาร์ทเมนต์การเลี้ยงไก่ที่ดีที่สุดในโลก จากมีพื้นที่ตั้งกว้างขวาง มีเขตกันชน สามารถป้องกันโรคได้ดี ทำให้สินค้าไก่ของสหฟาร์มมีความปลอดภัยสูงสุด

คุณน้ำผึ้ง-จารุวรรณ  โชติเทวัญ

  • ยอมรับเป็นปีที่ยากและท้าทาย

สำหรับในปีที่ผ่านมาจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลวัตถุดิบอาหารสัตว์ขาดแคลนและปรับราคาขึ้นแทบจะร้อยเปอร์เซ็นต์ ค่าระวางเรือก็เพิ่มขึ้น ปัจจัยเหล่านี้เป็นปัจจัยจากภายนอกที่ไม่อาจควบคุมได้ มีผลให้ราคาเนื้อสัตว์โลก ไม่ว่าจะเป็นเนื้อไก่ เนื้อหมู เนื้อวัวพุ่งขึ้นสูงมาก และยังได้รับอานิสงส์จากเงินบาทอ่อนค่าบางช่วงถึง 38 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้บริษัทมีผลประกอบการที่ดี ซึ่งจะเป็นเท่าใดนั้นยังรอสรุปงบการเงิน

“ปีนี้เทียบปีที่แล้วสถานการณ์เปลี่ยนไป เงินบาทแข็งค่าขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 32 บาทต่อดอลลาร์ทำให้เราได้รับประโยชน์จากอัตราแลกเปลี่ยนลดลง ต้นทุนอาหารสัตว์ก็เพิ่มขึ้น ข้าวโพดวัตถุดิบปีที่แล้วประมาณ 8 บาทต่อกิโลกรัม ปัจจุบัน 13 บาทต่อกิโลฯ เพิ่มขึ้นมา 50% ในส่วนของสหฟาร์มไม่มีการนำเข้าข้าวโพดหรือวัตถุดิบอาหารสัตว์ เช่นข้าวสาลี เข้ามาทดแทน ทั้งนี้เพื่อช่วยเกษตรกรที่มีบุญคุณกับเรา แต่จะใช้วิธีบริหารจัดการลดต้นทุนด้านอื่นเพื่อให้มีต้นทุนเท่าเดิม และยังคงขายสินค้าราคาเดิม รวมถึงใช้เทคนิคการเลี้ยงเพื่อให้ได้เนื้อไก่ที่มากในต้นทุนที่ต่ำ ปีนี้เราคาดจะยังมีผลประกอบการที่ดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา แม้สถานการณ์การทำงานจะยากลำบากมากขึ้นก็ตาม”

“จารุวรรณ” หรือ “คุณน้ำผึ้ง” กล่าวทิ้งท้ายว่า การสืบต่อธุรกิจสหฟาร์มในครั้งนี้ ไม่ใช่ตนคนเดียวที่จะทำหน้าที่นี้ แต่เป็นหน้าที่ของคนในตระกูล “โชติเทวัญ” ทุกคนที่จะต้องช่วยกันผลักดันให้บริษัทสหฟาร์มกลับมายืนหนึ่งในเรื่องไก่อีกครั้ง ซึ่งการจะกลับมาเป็นอันดับ 1 สิ่งที่ต้องมีแน่ ๆ คือ คุณภาพและมาตรฐานของสินค้าที่จะต้องดีที่สุด โดยใส่ใจในทุกรายละเอียด