เด้งผอ.ท่าอากาศยานดอนเมือง อดีตเอ็มดี AOT “นิตินัย” คาใจแพะหรือแกะ

27 ก.ค. 2566 | 06:58 น.

บอร์ด AOT สั่งเด้ง การันต์ ธนกุลจีรพัฒน์ ผอ.ท่าอากาศยานดอนเมืองเข้ากรุ เซ่นอุบัติเหตุทางเลื่อนสนามบินดอนเมือง ดูดผู้โดยสารขาขาด อดีตเอ็มดีทอท.“นิตินัย ศิริสมรรถการ” คาใจ ตั้งคำถาม แพะหรือแกะ เด้งผิดคนหรือไม่

จากกรณีที่คณะกรรมการบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ทอท. (บอร์ดทอท.)มีมติแต่งตั้งโยกย้ายนายการันต์ ธนกุลจีรพัฒน์ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานดอนเมือง ไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษา 11 ทอท. แทน พร้อมแต่งตั้ง นายวิจิตต์ แก้วไทรเทียม ตำแหน่ง ผู้อำนวยการท่าอากาศยานเชียงใหม่ (ระดับ 11) มาดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการท่าอากาศยานดอนเมืองแทน ที่จะมีผลในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ ซึ่งส่วนหนึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นการสั่งเด้งจากกรณีทางเลื่อนสนามบินดอนเมือง ดูดผู้โดยสารขาขาด เมื่อเวลาประมาณ 08.21 น.ของวันที่ 29 มิถุนายน 2566

เด้งผอ.ท่าอากาศยานดอนเมือง อดีตเอ็มดี AOT “นิตินัย” คาใจแพะหรือแกะ

 

ล่าสุดนายนิตินัย ศิริสมรรถการ อดีตกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ทอท.หรือ AOT ได้โพสต์เฟซบุ๊ค แสดงความต่อเรื่องดังกล่าวว่า  “จะไม่ comment แล้วเชียว..เท่าที่ทราบจากสื่อ ตามสัญญา ผู้รับจ้างจะต้องตรวจสอบทางเลื่อน ทุก 3 เดือน - 1 เดือน - 1 วัน .. แต่หากผลสอบพบว่า มีการตรวจล่าสุดเดือน มีค. 66 และไม่มีการตรวจรายวันในวันเกิดเหตุ.... อันนี้ "คณะกรรมการตรวจรับงาน" ว่าอย่างไรครับ ทำไมจึงปล่อยให้เป็นแบบนี้ได้ .. ละเลยการปฏิบัติหน้าที่? หรือรู้เห็นในการกระทำผิด?.... ผอ.สนามบินดอนเมือง เป็นประธานหรือคณะกรรมการตรวจรับใช่หรือไม่ครับ?  .. ถ้าใช่ ที่สั่งเด้งก็ทำถูกแล้วครับ ถ้าไม่ใช่ ก็เด้งผิดคนแล้วครับ #แพะหรือแกะ”

เด้งผอ.ท่าอากาศยานดอนเมือง อดีตเอ็มดี AOT “นิตินัย” คาใจแพะหรือแกะ

จากคอมเม้นท์ดังกล่าวแหล่งข่าวจากบอร์ดทอท. เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"ว่า แนวทางการบริหารของผู้บริหารทอท.ในแต่ละยุคแนวทางการบริหารจัดการองค์กรก็จะไม่เหมือนกัน สมัยนายนิตินัย เคยเป็นผู้อำนวยการใหญ่ทอท.ก็อาจจะมองการเอาผิดเฉพาะคณะกรรมการตรวจรับงาน ขณะที่ผู้บริหารคนใหม่ ก็มองว่า ก็ควรจะพิจารณาไปถึงผู้กำกับดูแลที่ต้องรับผิดชอบร่วมด้วย แม้ผอ.สนามบินดอนเมือง จะไม่ได้เป็นประธานหรือคณะกรรมการตรวจก็ตาม และตัวนายการันต์เองเพิ่งจะเข้ามาเป็นผอ.สนามบินดอนเมืองได้ไม่ถึงปี

ขณะเดียวกันในส่วนของคณะกรรมการตรวจรับงาน จำนวน 6 คน ก็จะมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนภายในของทอท.ต่อไป โดยส่วนใหญ่จะเป็นพนักงานที่ต่ำกว่าระดับ 9 ลงมา ซึ่งเป็นไปตามวงเงินของสัญญาโดยสัญญานี้อยู่ที่ 17,879,802.52 บาท

แหล่งข่าวยังกล่าวต่อว่า คำสั่งโยกย้ายที่เกิดขึ้น จัดอยู่ในคำสั่งย้ายพนักงานระดับ 9-11 รวม 68 ตำแหน่ง ซึ่งไม่ได้แค่โยกย้ายเฉพาะนายการันต์ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานดอนเมืองเท่านั้น แต่มีการโยกย้ายผู้บริหารสนามบินดอนเมืองอีกหลายยกยวง อาทิ ย้ายนายเดชฤทธิ์ ขุนน้อย จากรองผู้อํานวยการท่าอากาศยานดอนเมือง (สายบํารุงรักษา) ไปดํารงตําแหน่ง ผู้เชี่ยวชาญ 10 ทอท.

แต่งตั้งให้นางสาวณิชนันทน์ อุ่นสมาน ตําแหน่ง ผู้เชี่ยวชาญ 10 ทอท. ไปดํารงตําแหน่ง รองผู้อํานวยการท่าอากาศยานดอนเมือง (สายสนับสนุนธุรกิจ) แต่งตั้งร.อ.ปกป้อง สุวรรณโมนี ตําแหน่ง รองผู้อํานวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (สายปฏิบัติการ 1) ไปดํารงตําแหน่ง รองผู้อํานวยการท่าอากาศยานดอนเมือง (สายปฏิบัติการ) โยกย้ายนางอิฏฐิมา แก้วเขียว จากผู้อํานวยการฝ่ายพัสดุ ไปดํารงตําแหน่ง ผู้เชี่ยวชาญ 10 ทอท. และรักษาการ ผู้อํานวยการฝ่ายพัสดุ

ทั้งยังให้นางอรวรรณ มงคลดาว ย้ายจากตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาระบบงานบุคคล มาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายอำนวยการท่าอากาศยานดอนเมือง ย้ายนางสาวชุลีพร สถิตยานุรักษ์ จากตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคล มาเป็นผู้อำนวยการฝ่ายแผนงานและงบประมาณท่าอากาศยานดอนเมือง ย้ายนางวรรณดี สินสมุทร จากผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์องค์กร มาเป็นผู้อำนวยการฝ่ายการพาณิชย์ การเงินและบัญชี ท่าอากาศยานดอนเมือง เป็นต้น ที่จะมีผลในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ เพื่อให้มีการปรับเปลี่ยนการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น หลังเกิดเหตุการณ์ทางเลื่อนสนามบินดอนเมือง ดูดผู้โดยสารขาขาด

ทั้งนี้งานจ้างเหมาเอกชนให้บริการแรงงานภายนอกควบคุม ตรวจสอบและซ่อมบำรุงรักษา ลิฟต์ บันไดเลื่อน ทางเลื่อนและสัญญาเสียง-สัญญาณไฟทางเลื่อน ณ ท่าอากาศยานดอนเมือง ผู้ชนะประมูลคือ บริษัท สยาม ฮิตาชิ เอลลิเวเตอร์ จำกัด เสนอราคาต่ำสุด เป็นเงิน 17,879,802.52 บาท ต่ำกว่าเงินงบประมาณ 322,229.43 บาท

ในสัญญาจะมีระยะเวลาการจ้างเป็นเวลา 3 ปีตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 เวลา 08.00 น.ถึงวันที่ 1 ตุลาคม 2566 เวลา 08.00 น.โดยขอบเขตงาน หลักๆจะเป็นการตรวจสอบและซ่อมบำรุงรักษาเชิงป้องกัน สำหรับเครื่องจักรอุปกรณ์ ได้แก่ ลิฟต์ บันไดเลื่อน ทางเลื่อนและสัญญาณเสียง-สัญญาณไฟทางเลื่อนให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานได้ตลอดเวลา

  • ช่วงที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 เวลา 08.00 น.ถึงวันที่ 1 เมษายน 2564 เวลา 08.00 น.ต้องซ่อมบำรุงรักษาลิฟต์จำนวน 40 ชุด บันไดเลื่อน 45 ชุ ทางเลื่อน 18 ชุด และสัญญาณเสียง-สัญญาณไฟทางเลื่อน 21 ชุด
  • ช่วงที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564 เวลา 08.00 น.ถึงวันที่ 1 ตุลาคม 2566 เวลา 08.00 น.ต้องซ่อมบำรุงรักษาลิฟต์ 45 ชุด บันไดเลื่อน 45 ชุด ทางเลื่อน 18 ชุด และสัญญาณเสียง-สัญญาณไฟทางเลื่อน 21 ชุด

ทั้งนี้หากมีอุปกรณ์ชำรุดจะต้องดำเนินการตรวจสอบพร้อมสรุปผลการชำรุดและเบิกพัสดุซ่อมตามแบบที่ทอท.กำหนดภายใน 24 ชั่วโมง นัจากเวลาที่แจ้งอุปกรณ์ชำรุด หากพบว่ามีอุปกรณ์ชำรุดจะต้องตรวจสอบแก้ไข พร้อมวิเคราะห์ปัญหาและสาเหตุสรุปผลการชำรุดและแจ้งให้ทอท.ทราบผ่านผู้ควบคุมงานทุกครั้ง