LH มอลล์ ทุ่ม 1.1 หมื่นล้านยึด 3 ทำเลทองใจกลางเมืองผุดรร.แกรนด์ เซนเตอร์ พอยต์

23 ส.ค. 2565 | 04:19 น.

แอล เอช มอลล์ แอนด์ โฮเทล ธุรกิจโรงแรมในเครือแลนด์ แอนด์เฮ้าส์ ทุ่ม 11,500 ล้านบาท ยึด 3 ทำเลทองใจกลางกรุงเทพฯ ผุด 3 โรงแรมใหม่ รับท่องเที่ยวขยายตัวหลังโควิด พร้อมเตรียมเปิดศูนย์การค้าเทอร์มินัล 21 พระราม 3 ในเดือนตุลาคมนี้ ทั้งเล็งขยายโรงแรมเพิ่มอีกในภาคตะวันออก รับอีอีซี

นางสุวรรณา พุทธประสาท ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทแอล เอช มอลล์ แอนด์ โฮเทล จำกัด (LHMH) บริษัทในเครือบมจ.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ซึ่งดำเนินธุรกิจด้านการพัฒนาและบริหารจัดการศูนย์การค้าและโรงแรมของไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าขณะนี้ แอล เอชฯ อยู่ระหว่างลงทุนสร้าง 3 โรงแรมและมิกซ์ยูส แห่งใหม่ใจกลางกรุงเทพฯ มูลค่าการลงทุนรวมกว่า 11,500 ล้านบาท  ใน 3 ทำเล บนถนนสุรวงศ์,ถนนราชดำริ และถนนพระราม 4 ได้แก่

 

LH มอลล์ ทุ่ม 1.1 หมื่นล้านยึด 3 ทำเลทองใจกลางเมืองผุดรร.แกรนด์ เซนเตอร์ พอยต์

 

1.โรงแรม แกรนด์  เซนเตอร์ พอยต์ สุรวงศ์  ตรงบริเวณหัวมุมถนนมเหสักข์  399 ห้อง ลงทุน 2,200 ล้านบาท  สร้างโรงแรมขนาด 399 ห้อง แล้วเสร็จปลายปีหน้า

 

2.โรงแรม แกรนด์ เซนเตอร์ พอยต์ ลุมพินี   พระราม 4 ติดถนนใหญ่ ซึ่งจะเป็นโครงการมิกซ์ยูส  มูลค่าการลงทุน 4,800 ล้านบาท ที่จะมีทั้งโรงแรมขนาด 512 ห้อง และอาคารสำนักงาน พื้นที่ 4-5 พันตารางเมตร ต้องใช้เวลาก่อสร้างอีก 2 ปีกว่า 

 

3.โรงแรม แกรนด์ เซนเตอร์ พอยต์ ราชดำริ 2  จำนวน 533 ห้อง มูลค่าการลงทุน 4,500 ล้านบาทใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 3 ปีนับจากปี2566 คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี2569

 

LH มอลล์ ทุ่ม 1.1 หมื่นล้านยึด 3 ทำเลทองใจกลางเมืองผุดรร.แกรนด์ เซนเตอร์ พอยต์

 

การลงทุนใน 3 พื้นที่ดังกล่าวล้วนเป็นที่ดินเช่าทั้งหมด โดยโรงแรม แกรนด์  เซนเตอร์ พอยต์ สุรวงศ์  และโรงแรม แกรนด์ เซนเตอร์ พอยต์ ลุมพินี เป็นที่ดินเช่าจากเอกชน ส่วนโรงแรม แกรนด์ เซนเตอร์ พอยต์ ราชดำริ 2  เป็นที่ดินเช่าจากวชิราวุธวิทยาลัย หรือ เดอะ เพนนินซูล่า พลาซ่า เดิม ที่กำลังจะปรับสร้างใหม่เป็นโรงแรม

“บริษัทเราชอบที่จะเช่าที่ดินเพื่อพัฒนาโครงการมากกว่า เพราะการซื้อที่ใจกลางเมือง 1.หายาก 2.ราคาค่อนข้างสูง พอซื้อมาทำเป็นโรงแรม เรื่องผลตอบแทนในการลงทุนก็อาจจะเหนื่อยหน่อย ในขณะเดียวกันเจ้าของที่ในตัวเมืองมักชอบที่จะปล่อยเช่ามากกว่าขาย ส่วนมากเราจะเช่า 30 ปีแล้วก็ขอให้เจ้าของที่บวกระยะเวลาก่อสร้างเพิ่มให้เราด้วย ส่วนใหญ่จะเป็น 3 ปีแรกก่อสร้างบวกอีก 30 ปีโอเปอเรชั่น”

 

LH มอลล์ ทุ่ม 1.1 หมื่นล้านยึด 3 ทำเลทองใจกลางเมืองผุดรร.แกรนด์ เซนเตอร์ พอยต์

 

อีกทั้งการขยายธุรกิจเพิ่มเติมในกรุงเทพฯ แอล เอช มอลล์ แอนด์ โฮเทล ยังเตรียมจะเปิดให้บริการศูนย์การค้าแห่งใหม่ คือ เทอร์มินัล 21 ที่ถนนพระราม 3 บนพื้นที่  40,000 ตารางเมตร ในกลางเดือนตุลาคมนี้ เพราะมีพื้นที่ 15 ไร่ แตกต่างโครงการเทอร์มินอล 21 ในที่อื่นๆที่จะมีโรงแรมอยู่ติดกับศูนย์การค้าด้วย ซึ่งเทอร์มินอล 21 พระราม 3 จะเป็นคอนเซ็ปต์ที่แตกต่าง เพราะจะเป็นห้างที่เน้นเรื่องของเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ ไม่ใช่พื้นที่ศูนย์การค้าทั่วไปเท่านั้น 

 

LH มอลล์ ทุ่ม 1.1 หมื่นล้านยึด 3 ทำเลทองใจกลางเมืองผุดรร.แกรนด์ เซนเตอร์ พอยต์

 

สำหรับการขยายธุรกิจในต่างจังหวัด ล่าสุดเพิ่งจะเปิดให้บริการโรงแรม แกรนด์ เซนเตอร์ พอยต์ สเปซ พัทยา เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2565 โดยได้เช่าที่ดินจาก แลนด์ลอด์จที่เป็นเอกชน 13 ไร่ สัญญาเช่า 30 ปี เป็นโรงแรมที่มีสวนน้ำใหญ่และเป็นธีมอวกาศที่ได้รับการตอบรับจากลูกค้าดีมาก  ซึ่งเป็นโรงแรมแห่งที่ 2 ในพัทยา

 

เพิ่มจากเดิมที่เปิดให้บริการโรงแรม แกรนด์ เซนเตอร์ พอยต์ พัทยา  ทำให้เรามีโรงแรมในพัทยารวมแล้วกว่า 1 พันห้อง แต่ก็ไม่ได้เป็นการแย่งส่วนแบ่งตลาดกัน เพราะพัทยาเป็นเมืองท่องเที่ยวมีทั้งคนไทยและต่างชาติ ทั้งโรงแรมแถวพัทยาเหนือถือว่าซัพพลายยังเพิ่มได้อีก

 

  LH มอลล์ ทุ่ม 1.1 หมื่นล้านยึด 3 ทำเลทองใจกลางเมืองผุดรร.แกรนด์ เซนเตอร์ พอยต์

 

นอกจากนี้บริษัทยังเห็นศักยภาพการลงทุนในทำเลฝั่งตะวันออกของไทย   เราคิดว่าถ้าท่องเที่ยวจริงๆพัทยาเป็นแหล่งเที่ยว ถ้าระยองจะเป็นพวกนิคมอุตสาหกรรม แต่การจะลงทุนต้องพิจารณาดีมานด์ของลูกค้าที่จะเกิดขึ้น โดยมองว่าถ้ารัฐบาลผลักดันโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซีประสบความสำเร็จมีการลงทุนเข้ามามาก การท่องเที่ยวทั้งของคนไทยและต่างชาติเข้ามามาก อนาคตเราอาจจะมีโครงการโรงแรมเกิดขึ้นในฝั่งตะวันออกเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในพัทยา

 

นางสุวรรณา กล่าวต่อว่า แม้จะเกิดโควิด-19 แต่บริษัทยังเดินหน้าลงทุนโรงแรมต่อเนื่อง อย่าง โรงแรม แกรนด์ เซนเตอร์ พอยต์ สเปซ พัทยา ก็สร้างในช่วงโควิด ซึ่งเราเริ่มลงทุนไปแล้วก่อนโควิดจะเกิด ตอนแรกก็มองว่าโควิดน่าจะแค่ 1 ปี ไม่เป็นไร เราก็สร้างไป ขณะที่เงินลงทุนเราก็ไม่ได้มีปัญหาเพราะธนาคารก็ช่วยซัพพอร์ตด้วย แต่พอผ่านไปโควิดร่วม 2 ปี ก็ไม่เป็นไร

 

ใน 2 ปีที่ผ่านมาเหมือนออนแอนด์ออฟ พอโควิดหนักๆรัฐบาลก็ให้ล็อกดาวน์บ้างช่วงปี2563 ก็กระทบเหมือนกัน พอปี2564 เริ่มผ่อนคลาย เราก็เห็นนักท่องเที่ยวคนไทยมาเที่ยวเยอะมากในโรงแรมของเรา จึงคิดไม่ผิดที่ระหว่างเกิดโควิดทำไมยังลงทุนต่อ

 

เหตุผลเพราะเรามอง ปีนี้โควิดใกล้จบแล้ว โรงแรมที่สร้างไว้ก็เสร็จพอดี และกำลังไฮน์ซีซัน ขณะเดียวกันโรงแรมในกรุงเทพฯ เราก็ไม่ได้ปิดยังคงเปิดบริการตลอด รับลูกค้าในแต่ละเวลา ก็มีลูกค้าเข้ามาเป็น ASQ มาตลอด เราจึงมองว่าธุรกิจนี้ยังมีศักยภาพที่จะเดินต่อได้

 

แอลเอชฯใช้เวลากว่า 10 ปีจากธุรกิจเซอร์วิสอพาร์ทเม้นท์ก้าวเข้าสู่ธุรกิจโรงแรม และสามารถพัฒนาแบรนด์โรงแรม แกรนด์ เซนเตอร์ พอยต์  ซึ่งแม้จะเป็นโลคัล แบรนด์ แต่สามารถแข่งขันกับอินเตอร์เนชั่นแนล เชน ได้ ในแง่การให้บริการที่ดี มีการบริหารที่มีมาตรฐานสากล และข้อดีของการไม่ใช้เชนบริหาร คือ การเป็นโลคัลแบรนด์ ทำให้มีความยืดหยุ่นในการทำงาน ในการขายห้องพัก การหาลูกค้า ในการทำการตลาด ทุกอย่างเป็นไปตามมาตรฐานแต่มีความยืดหยุ่น

 

ทั้งจุดเด่นของโรงแรมในพื้นที่ท่องเที่ยว รวมถึงปัจจุบันการที่ลูกค้าจะเข้าถึงการบุ๊กกิ้งโรงแรมเป็นสิ่งที่ไม่ยากเหมือนในอดีต และเมื่อเราพัฒนาโรงแรมที่ดี ก็ทำให้นักท่องเที่ยวรู้จักแบรนด์โรงแรม แกรนด์ เซนเตอร์ พอยต์เป็นอย่างดี ทำให้การพัฒนาโรงแรมใหม่ต่างๆแอลเอชฯ ก็จะอยู่ภายใต้แบรนด์ แกรนด์ เซนเตอร์ พอยต์ ทั้งหมด

 

ขณะเดียวกันแอลเอชฯ ยังเล็งเห็นโอกาสในการขยายธุรกิจโรงแรมในไทยอย่างต่อเนื่อง เพราะมองว่าธุรกิจท่องเที่ยวสร้างรายได้คิดเป็นประมาณ 18-20% ของจีดีพีประเทศ ทั้งคนเวลาทำงานแล้วก็ต้องการพักผ่อนท่องเที่ยว และที่ผ่านมาเรามองว่าธุรกิจโรงแรมแม้จะเกิดอะไรขึ้นหรือมีไครซิส พอจบปุ๊ป ก็จะฟื้นกลับมาเร็ว ทุกคนก็ต้องการชีวิตที่มีความสุขด้วยเรื่องเกี่ยวกับการท่องเที่ยว ด้วยดีมานด์ที่มีการขยายโรงแรมใหม่ก็เพิ่มศักยภาพในการดำเนินธุรกิจได้ดี