คดีพิพาทระหว่าง 'ตระกูลมหากิจศิริ' และ 'เนสท์เล่' เป็นความขัดแย้งทางธุรกิจที่ลุกลามสู่ศาลในประเทศไทย โดยมีเครื่องหมายการค้า "เนสกาแฟ" (NESCAFE) เป็นประเด็นหลักของข้อพิพาท ซึ่งเริ่มต้นหลังการยุติสัญญาร่วมลงทุนใน บริษัทคิว.ซี.พี. จำกัด ผู้ผลิตเนสกาแฟในประเทศไทย
'ฐานเศรษฐกิจ' ตรวจสอบคำสั่งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง คดีหมายเลขดำที่ ทป 58/2568 ระหว่าง โซซิเอเต้ เดส์ โปรดุยต์ส เนสท์เล่ เอส.เอ. โจทก์ ที่ 1 กับพวกรวม 2 คน กับ นายประยุทธ มหากิจศิริ จำเลยที่ 1 กับพวกรวม 3 คน พบว่า ตระกูลมหากิจศิริ ได้ฟ้อง เนสท์เล่ 2 คดี
คดีแรก ตระกูลมหากิจศิริ โดยนายเฉลิมชัย มหากิจศิริ นางสุวิมล มหากิจศิริ และนายประยุทธ มหากิจศิริ รวม 3 คน ฟ้องกรรมการของฝ่ายเนสท์เล่ ใน บริษัทคิว.ซี.พี. จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง ตระกูลมหากิจศิริ และเนสท์เล่ ในสัดส่วน 50:50 ว่าปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบ ทำให้ฝ่ายตระกูลมหากิจศิริเสียหายและขอคุ้มครองชั่วคราวต่อศาลแพ่งมีนบุรี
คดีนี้ตระกูลมหากิจศิริ ขอให้ศาลห้ามมิให้กรรมการฝ่ายเนสท์เล่อนุมัติ อนุญาต มีส่วนร่วมให้ใช้เครื่องหมายการค้า เนสกาแฟ (NESCAFE) ในประเทศไทย แต่ศาลแพ่งมีนบุรี ได้ยกคำร้องคุ้มครองชั่วคราวในส่วนที่ขอให้ห้ามใช้เครื่องหมายการค้า เนสกาแฟ (NESCAFE) ในประเทศไทย
คดีที่สอง คดีที่ตระกูลมหากิจศิริ ฟ้องฝ่ายเนสท์เล่ ประกอบด้วย บริษัท เนสท์เล่ เอส.เอ , โซชิเอเต้ เดส์ โปรดุยต์ส เนสท์เล่ เอส.เอ , บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด , นายรามอน เมนดิวิล กิล , บริษัท เนสท์เล่ อาร์โอเอช (ประเทศไทย) และ บริษัท เนสท์เล่เทรดดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด รวม 6 คน เป็นจำเลย
ตระกูลมหากิจศิริ ระบุในคำฟ้องว่า ฝ่ายเนสท์เล่ไม่ให้ความร่วมมือช่วยเหลือให้บริษัทคิว.ซี.พี.จำกัด ดำเนินกิจการต่อไปได้ และมีคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวขอให้ฝ่ายเนสท์เล่ยุติการใช้เครื่องหมายการค้า เนสกาแฟ (NESCAFE) ในประเทศไทย จนกว่าบริษัทคิว.ซี.พี. จำกัด จะสร้างแบรนด์จนสามารถประกอบธุรกิจต่อไปได้
ต่อมาในวันที่ 3 เมษายน 2568 ศาลแพ่งมีนบุรี มีคำสั่งห้ามฝ่ายเนสท์เล่ หรือตัวแทน ผลิต ว่าจ้างผลิต และดำเนินการว่าจ้างไม่ว่าโดยรูปแบบใด ๆ ในการผลิตจำหน่ายไม่ว่าโดยรูปแบบใด และสนับสนุนให้บุคคลหรือนิติบุคคลอื่นจำหน่ายกาแฟสำเร็จรูป นำเข้า สนับสนุนให้บุคคลหรือนิติบุคคล นำเข้าผลิตภัณฑ์กาแฟสำเร็จรูป โดยใช้เครื่องหมายการค้า เนสกาแฟ (NESCAFE) ในประเทศไทย จนกว่าบริษัทคิว.ซี.พี.จำกัด จะผลิตกาแฟสำเร็จรูปได้ดังเช่นที่ผลประกอบการในช่วงก่อนวันที่ 31 ธันวาคม 2567
คำสั่งศาลแพ่งยังห้าม บริษัท เนสท์เล่ เอส.เอ , โซชิเอเต้ เดส์ โปรดุยต์ส เนสท์เล่ เอส.เอ , บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ประกอบกิจการโรงงานผลิตกาแฟสำเร็จรูปที่ผลิตสินค้า ชนิดเดียวกันกับบริษัทคิว.ซี.พี. จำกัด ในประเทศไทย
นอกจากนี้ยังให้ฝ่ายเนสท์เล่ และตัวแทนหรือบริวารในประเทศไทยนำเครื่องจักรและอุปกรณ์ในโรงงานของบริษัทคิวซีพีกลับเข้ามาติดตั้งให้อยู่ในสภาพเดิมก่อนวันที่ 31 ธันวาคม 2567 รวมถึงทำการติดตั้งระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและ ซอฟท์แวร์ที่จำเป็นต่อการผลิตของบริษัทคิว.ซี.พี.จำกัด เพื่อให้บริษัทดังกล่าวสามารถดำเนินกิจการได้ ดังเช่นที่ได้ดำเนินการตลอดมาก่อนวันที่ 31 ธันวาคม 2567
ภายหลังจากฝ่ายเนสท์เล่ ได้รับคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ทางเนสท์เล่จึงได้ยื่นขอเพิกถอนคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวในวันที่ 8 เมษายน 2568 และมีคำขอฉุกเฉิน ซึ่งศาลได้ไต่สวนในวันดังกล่าวและมีคำสั่งยกคำร้องขอเพิกถอน ซึ่งศาลเห็นว่าโซชิเอเต้ เดส์ โปรดุยต์ส เนสท์เล่ เอส.เอ เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า เนสกาแฟ (NESCAFE) ที่ได้จดทะเบียนไว้กับกรมทรัพย์สินทางปัญญา
บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด เป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิในเครื่องหมายการค้า เนสกาแฟ (NESCAFE) แต่ผู้เดียวในประเทศไทย แม้เนสท์เล่จะบอกเลิกสัญญาร่วมลงทุนกับบริษัทคิว.ซี.พี. จำกัด โดยชอบแล้ว แต่ยังมีประเด็นข้อพิพาทระหว่างเนสท์เล่ กับ บริษัทคิว.ซี.พี. จำกัด ในสัญญาร่วมลงทุน ซึ่งข้อเท็จจริงในทางไต่สวนยังไม่ปรากฏเป็นที่ประจักษ์ชัดเจนว่าฝ่ายเนสท์เล่ ดำเนินการดังกล่าวเสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
แต่ข้อเท็จจริง ผู้รับมอบอำนาจฝ่ายเนสท์เล่ยืนยันว่า บริษัทคิว.ซี.พี. จำกัด ไม่ได้ผลิตกาแฟที่ใช้เครื่องหมายการค้า เนสกาแฟ (NESCAFE) ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 จึงย่อมแสดงให้เห็นว่า ตระกูลมหากิจศิริ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นของ บริษัทคิว.ซี.พี.จำกัด ยังคงได้รับความเสียหายตามฟ้องอยู่ กรณีไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว จึงให้ยกคำร้องของเนสท์เล่
ภายหลังศาลมีคำสั่งไม่ยกเลิกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวทางเนสท์เล่จึงได้ยื่นขอเพิกถอนคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวอีกครั้ง โดยขอฉุกเฉิน ซึ่งศาลแพ่งมีนบุรีมีคำสั่งยกคำร้องเนื่องจากไม่เข้ากรณีเหตุฉุกเฉิน
ในขณะเดียวกันทางฝ่ายเนสท์เล่ได้ยื่นฟ้องฝั่งตระกูลมหากิจศิริทั้ง 3 คน ในคดีนี้ และยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง โดยขอฉุกเฉินด้วยเช่นกัน โดยระบุว่าศาลแพ่งมีนบุรีไม่มีอำนาจ ในการพิจารณาพิพากษา รวมทั้งสั่งคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราว เนื่องจากคดีดังกล่าวอยู่ในเขตอำนาจของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง
เนสท์เล่ ระบุว่า คำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลแพ่งมีนบุรีดังกล่าวนั้น ได้สร้างความเสียหายให้กับฝ่ายเนสท์เล่อย่างมาก โดยเสียหายประมาณวันละ 70 ล้านบาทต่อวัน
แต่ฝ่ายเนสท์เล่ยังไม่ได้มีคำร้องขอให้ประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัยเขตอำนาจศาลในขณะนั้น โดยอ้างว่าเนื่องจากหากมีการดำเนินการส่งสำนวนให้ประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัย อาจจะต้องรอคำสั่งของประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษโดยอาจจะใช้ระยะเวลาถึง 3 เดือน ซึ่งจะทำให้ฝ่ายเนสท์เล่เสียหายเป็นอย่างมากหรือทดแทนด้วยจำนวนเงินค่าเสียหายได้
ทางฝ่ายเนสท์เล่ ระบุว่า ในคดีที่ศาลแพ่งมีนบุรี มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ศาลแพ่งมีนบุรีได้กำหนดให้ ฝ่ายผู้ร้อง(ตระกูลมหากิจศิริ) วางเงินประกันเพียง จำนวน 50,000 บาท ซึ่งเป็นจำนวนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับความเสียหายของทางเนสท์เล่ และศาลแพ่งมีนบุรีได้กำหนดนัดชี้สองสถานในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2568
หากฝ่ายเนสท์เล่ต้องหยุดประกอบธุรกิจและผลิตสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้า เนสกาแฟ (NESCAFE) จนถึงวันดังกล่าว อาจทำให้ฝ่ายเนสท์เล่ได้รับความเสียหายถึงจำนวน 1.5 หมื่นล้านบาท
จากนั้นในวันที่เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2568 ศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ ได้มีคำสั่งให้โจทก์ที่ 1( โซซิเอเต้ เดส์ โปรดุยต์ส เนสท์เล่ เอส.เอ.) ในฐานะเจ้าของเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนในประเทศไทย และโจทก์ที่ 2 ในฐานะผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิจากโจทก์ที่ 1 มีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในอันที่จะใช้เครื่องหมายการค้า "Nescafe" และ "เนสกาแฟ" และอาจใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวกับสินค้าที่ได้จดทะเบียนไว้ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534" แต่ให้ฝ่ายเนสท์เล่วางเงินประกันความเสียหายจำนวน 100 ล้านบาท ภายใน 15 วันนับแต่วันที่มีคำสั่ง มิฉะนั้น ให้ถือว่าคำสั่งนี้สิ้นผล
อย่างไรก็ตาม คดีนี้ยังคงต้องติดตามต่อไปว่าฝ่ายเนสท์เล่ และ ตระกูลมหากิจศิริ จะดำเนินการอย่างไรต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดำเนินการเกี่ยวกับคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลแพ่งมีนบุรี ที่ยังมีผลอยู่ในปัจจุบัน โดยในวันที่ 20 มิถุนายน 2568 เวลา 09.00 น. ศาลแพ่งได้นัดคู่ความทั้ง 2 ฝ่าย ฟังคำสั่งประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ ที่จะมีคำวินิจฉัยว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจของศาลแพ่งมีนบุรีหรือไม่
หากไม่มีอำนาจก็ต้องจำหน่ายคดีให้ศาลทรัพย์สินฯ แต่หากอยู่ในอำนาจของศาลแพ่งมีนบุรี จะทำการไต่สวนคำร้องขอให้เพิกถอนคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของฝ่ายเนสท์เล่ต่อทันที