กลายเป็นข้อพิพาทระดับโลก สำหรับการฟ้องร้องระหว่าง “เนสท์เล่” เจ้าของแบรนด์ “เนสกาแฟ” กับตระกูล “มหากิจศิริ” ซึ่งร่วมกันก่อตั้งบริษัท ควอลิตี้ คอฟฟี่ โปรดักท์ส จำกัด (QCP) เพื่อผลิตกาแฟ ตั้งแต่ปี 2533 และเมื่อยุติสัญญาในวันที่ 31 ธันวาคม 2567 ผู้ถือหุ้นของบริษัททั้งสองฝ่ายไม่สามารถตกลงเรื่องการดำเนินงานในอนาคตของ QCP ได้ ทำให้เกิดการฟ้องร้องกันนั้น
ล่าสุดบริษัท ควอลิตี้ คอฟฟี่ โปรดักท์ส จำกัด (QCP) ออกแถลงการณ์ยืนยันข้อเท็จจริงกรณีข้อพิพาททางกฎหมายกับบริษัทเนสท์เล่ หลังศาลแพ่งมีนบุรีมีคำสั่งห้ามเนสท์เล่ผลิต ขาย และนำเข้าเนสกาแฟมาจำหน่ายในไทย เมื่อวันที่ 3 เม.ย. 2568 แต่เนสท์เล่กลับไปฟ้องศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ เพื่อขอดำเนินธุรกิจต่อ
ฝ่ายตระกูลมหากิจศิริ ระบุว่า การร่วมทุนระหว่างตระกูลมหากิจศิริกับเนสท์เล่ เริ่มต้นเมื่อครั้งนายประยุทธ มหากิจศิริ ร่วมลงทุนกับเนสท์เล่ตั้งโรงงานผลิตเนสกาแฟในประเทศไทย โดยทั้งสองฝ่ายถือหุ้นในสัดส่วน 50:50 ซึ่งแม้เนสท์เล่จะเป็นเจ้าของแบรนด์และสูตรการผลิต แต่บริษัท QCP ได้จ่ายค่าลิขสิทธิ์ให้เนสท์เล่เป็นมูลค่าหลายหมื่นล้านบาทตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา
เมื่อสัญญาร่วมทุนหมดอายุ เนสท์เล่ตัดสินใจไม่ต่อสัญญา โดยศาลอนุญาโตตุลาการสากลได้ตัดสินในเดือนธันวาคม 2567 ว่า เนสท์เล่เลิกสัญญาร่วมทุนกับนายประยุทธ มหากิจศิริเพียงผู้เดียว ซึ่ง ฝ่ายตระกูลมหากิจศิริ เห็นว่า ไม่มีผลผูกพันตามกฎหมายไทย เนื่องจากคุณประยุทธถือหุ้นเพียง 3% ขณะที่คุณเฉลิมชัย มหากิจศิริ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ที่ 47%
เพื่อปกป้องสิทธิ นายเฉลิมชัย มหากิจศิริและครอบครัวจึงฟ้องร้องต่อศาลแพ่งมีนบุรี จนศาลมีคำสั่งเมื่อวันที่ 3 เม.ย. 2568 ห้ามเนสท์เล่ "ผลิต ขาย นำเข้าสินค้าเนสกาแฟมาจำหน่ายในประเทศไทย" ทำให้เนสท์เล่ไม่สามารถนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศมาจำหน่ายในไทย
อย่างไรก็ตาม ฝ่ายตระกูลมหากิจศิริ ระบุว่า เนสท์เล่ไม่ยอมรับคำสั่งศาลไทย โดยได้ไปฟ้องต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ซึ่งมีคำสั่งเมื่อวันที่ 11 เม.ย. 2568 ยืนยันว่าเนสท์เล่มีสิทธิในเครื่องหมายการค้า "Nescafé" แต่ QCP กล่าวว่า เนสท์เล่ได้บิดเบือนคำสั่งศาลเพื่อให้สังคมเข้าใจผิดว่าสามารถกลับมาดำเนินธุรกิจได้ตามปกติ
ฝ่ายตระกูลมหากิจศิริ ยังชี้แจงอีกว่า เนสท์เล่กำลังพยายามทุกวิถีทางเพื่อนำเข้ากาแฟจากต่างประเทศมาจำหน่ายในไทย เพื่อให้ได้ผลประโยชน์ 100% และไม่ได้มีความห่วงใยผู้ประกอบการรายย่อย เกษตรกร และซัพพลายเออร์ในห่วงโซ่อุปทานที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งศาล
นอกจากนี้ ฝ่ายตระกูลมหากิจศิริ ยังกล่าวหาว่า เนสท์เล่ต้องการ "ฆ่าลูกทิ้ง" โดยฟ้องให้บริษัท QCP ล้มละลาย ทั้งที่บริษัทมีทรัพย์สินกว่าหมื่นล้านบาท และมีเงินสดกว่า 5,000 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นการทำลายทรัพย์สินของคนไทยและกลั่นแกล้งบริษัทในประเทศไทย
"ความเป็นจริง ในเมื่อเนสท์เล่และมหากิจศิริมีความเห็นต่างในเชิงธุรกิจ ก็หย่ากันได้ แยกทางกันได้ แต่จะฆ่าลูกไม่ได้" ฝ่ายตระกูลมหากิจศิริ ระบุในแถลงการณ์
ฝ่ายตระกูลมหากิจศิริ เสนอทางออกว่า ควรให้บริษัทสามารถผลิตเนสกาแฟต่อ หรือผลิตกาแฟภายใต้แบรนด์ QCP เองก็ได้ เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดในราคาที่ถูกลง โดยไม่ต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์ให้กับเนสท์เล่อีกต่อไป