คดีหมื่นล้าน "มหากิจศิริ" โต้ "เนสท์เล่" ศึก "เนสกาแฟ" ยืดเยื้อ

18 เม.ย. 2568 | 05:55 น.
อัปเดตล่าสุด :18 เม.ย. 2568 | 05:57 น.

คดีหมื่นล้าน “เนสกาแฟ” ส่อเค้ายืดเยื้อ “มหากิจศิริ” ออกโรงโต้ “เนสท์เล่” บิดเบือนคำสั่งศาลเพื่อให้สังคมเข้าใจผิด ยื่นฟ้องให้ QCP ล้มละลาย แนะ 2 ทางออก ให้ผลิตเนสกาแฟต่อ หรือผลิตกาแฟภายใต้แบรนด์ QCP โดยไม่ต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์

กลายเป็น “มหากาพย์” สำหรับข้อพิพาทระหว่าง “เนสท์เล่” เจ้าของแบรนด์ “เนสกาแฟ” กับตระกูล “มหากิจศิริ” ซึ่งร่วมกันก่อตั้งบริษัท ควอลิตี้ คอฟฟี่ โปรดักท์ส จำกัด (QCP) เพื่อผลิตกาแฟ ตั้งแต่ปี 2533 และเมื่อยุติสัญญาในวันที่ 31 ธันวาคม 2567 ผู้ถือหุ้นของบริษัททั้งสองฝ่ายไม่สามารถตกลงเรื่องการดำเนินงานในอนาคตของ QCP ได้ จึงเกิดเป็นคดีพิพาทในชั้นศาลต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 3 เดือนที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบัน พร้อมกับการออกแถลงการณ์ชี้แจงต่อเนื่องของเนสท์เล่

เรื่องราวข้อพิพาทระหว่าง “เนสท์เล่” และ “มหากิจศิริ” ยังไม่มีทีท่าว่าจะจบลง เมื่อล่าสุด (17 เมษายน 2568) “ตระกูลมหากิจศิริ” ได้ออกแถลงการณ์ ภายใต้บริษัท ควอลิตี้ คอฟฟี่ โปรดักท์ส จำกัด (QCP) โดยระบุว่า การร่วมทุนระหว่างตระกูลมหากิจศิริกับเนสท์เล่ เริ่มต้นเมื่อครั้งนายประยุทธ มหากิจศิริ ร่วมลงทุนกับเนสท์เล่ตั้งโรงงานผลิตเนสกาแฟในประเทศไทย โดยทั้งสองฝ่ายถือหุ้นในสัดส่วน 50:50 ซึ่งแม้เนสท์เล่จะเป็นเจ้าของแบรนด์และสูตรการผลิต แต่บริษัท QCP ได้จ่ายค่าลิขสิทธิ์ให้เนสท์เล่เป็นมูลค่าหลายหมื่นล้านบาทตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา

คดีหมื่นล้าน \"มหากิจศิริ\" โต้ \"เนสท์เล่\" ศึก \"เนสกาแฟ\" ยืดเยื้อ

เมื่อสัญญาร่วมทุนหมดอายุ เนสท์เล่ตัดสินใจไม่ต่อสัญญา โดยศาลอนุญาโตตุลาการสากลได้ตัดสินในเดือนธันวาคม 2567 ว่า เนสท์เล่เลิกสัญญาร่วมทุนกับนายประยุทธ มหากิจศิริเพียงผู้เดียว ซึ่ง ฝ่ายตระกูลมหากิจศิริ เห็นว่า ไม่มีผลผูกพันตามกฎหมายไทย เนื่องจากคุณประยุทธถือหุ้นเพียง 3% ขณะที่คุณเฉลิมชัย มหากิจศิริ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ที่ 47%

ทั้งนี้เพื่อปกป้องสิทธิ นายเฉลิมชัย มหากิจศิริและครอบครัวจึงฟ้องร้องต่อศาลแพ่งมีนบุรี จนศาลมีคำสั่งเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2568 ห้ามเนสท์เล่ผลิต ขาย นำเข้าสินค้าเนสกาแฟมาจำหน่ายในประเทศไทย ทำให้เนสท์เล่ไม่สามารถนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศมาจำหน่ายในไทยได้

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายตระกูลมหากิจศิริ ระบุว่า เนสท์เล่ไม่ยอมรับคำสั่งศาลไทย โดยได้ไปฟ้องต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ซึ่งมีคำสั่งเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2568 ยืนยันว่าเนสท์เล่มีสิทธิในเครื่องหมายการค้า “Nescafé” แต่ QCP กล่าวว่า เนสท์เล่ได้บิดเบือนคำสั่งศาลเพื่อให้สังคมเข้าใจผิดว่าสามารถกลับมาดำเนินธุรกิจได้ตามปกติ

นอกจากนี้ยังระบุอีกว่า เนสท์เล่กำลังพยายามทุกวิถีทางเพื่อนำเข้ากาแฟจากต่างประเทศมาจำหน่ายในไทย เพื่อให้ได้ผลประโยชน์ 100% และไม่ได้มีความห่วงใยผู้ประกอบการรายย่อย เกษตรกร และซัพพลายเออร์ในห่วงโซ่อุปทานที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งศาล

คดีหมื่นล้าน \"มหากิจศิริ\" โต้ \"เนสท์เล่\" ศึก \"เนสกาแฟ\" ยืดเยื้อ

ฝ่ายตระกูลมหากิจศิริ ยังกล่าวหาว่า เนสท์เล่ต้องการ “ฆ่าลูกทิ้ง”โดยฟ้องให้บริษัท QCP ล้มละลาย ทั้งที่บริษัทมีทรัพย์สินกว่าหมื่นล้านบาท และมีเงินสดกว่า 5,000 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นการทำลายทรัพย์สินของคนไทยและกลั่นแกล้งบริษัทในประเทศไทย

“ความเป็นจริง ในเมื่อเนสท์เล่และมหากิจศิริมีความเห็นต่างในเชิงธุรกิจ ก็หย่ากันได้ แยกทางกันได้ แต่จะฆ่าลูกไม่ได้” ฝ่ายตระกูลมหากิจศิริ ระบุในแถลงการณ์ พร้อมเสนอทางออกว่า ควรให้บริษัทสามารถผลิตเนสกาแฟต่อ หรือผลิตกาแฟภายใต้แบรนด์ QCP เองก็ได้ เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดในราคาที่ถูกลง โดยไม่ต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์ให้กับเนสท์เล่อีกต่อไป

ย้อนเส้นทางของคดีหมื่นล้าน เริ่มต้นเมื่อนายเฉลิมชัย มหากิจศิริ ผู้ถือหุ้นในบริษัท ควอลิตี้ คอฟฟี่ โปรดักท์ส จำกัด (QCP) ยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งมีนบุรีเพื่อขอคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว เป็นคดีหมายเลขดำที่ พ ๕๗๑/๒๕๖๘ ที่มีโจทก์ คือ นายเฉลิมชัย มหากิจศิริ นางสุวิมล มหากิจศิริ และนายประยุทธ มหากิจศิริ รวม 3 คน

โดยมีบริษัท เนสท์เล่ เอส.เอ , โซชิเอเต้ เดส์ โปรดุยต์ส เนสท์เล่ เอส.เอ, บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด, นายรามอน เมนดิวิล กิล , บริษัท เนสท์เล่ อาร์โอเอช (ประเทศไทย) และ บริษัท เนสท์เล่เทรดดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด รวม 6 คน เป็นจำเลย

และเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2568 ศาลแพ่งมีนบุรีออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว “ห้ามเนสท์เล่ ผลิตว่าจ้างผลิต จำหน่าย และนำเข้าผลิตภัณฑ์กาแฟสำเร็จรูป โดยใช้เครื่องหมายการค้า Nescafé ในประเทศไทย” คำสั่งนี้ส่งผลให้เนสท์เล่ไม่สามารถรับคำสั่งซื้อผลิตภัณฑ์เนสกาแฟได้ทันที เนสท์เล่ ระบุว่า สร้างความเสียหายมหาศาลที่เนสท์เล่อ้างว่าสูงถึง 68.7 ล้านบาทต่อวัน

คดีหมื่นล้าน \"มหากิจศิริ\" โต้ \"เนสท์เล่\" ศึก \"เนสกาแฟ\" ยืดเยื้อ

เนสท์เล่แก้เกมตอบโต้ด้วยการยื่นศาลแพ่งมีนบุรี ยื่นคำร้องขอไต่สวนฉุกเฉินก่อนหยุดยาวสงกรานต์ คือ วันศุกร์ที่ 11 เมษายน 2568 โดยวันนั้นเนสท์เล่ ระบุว่า ได้เตรียมพยาน 11 ปากที่เป็นผู้ได้รับผลกระทบจากคำสั่ง เพื่อให้ศาลเห็นความเสียหายในวงกว้าง แต่ทว่าศาลยังไม่ไต่สวนฉุกเฉินทันที และนัดอีกครั้งหลังสงกรานต์ คือ วันที่ 17 เมษายน เพื่อวินิจฉัยคำร้อง โดยฝ่ายทนายมหากิจศิริเตรียมจะยื่นคำคัดค้านทันทีเช่นกัน

แต่ระหว่างที่รอให้ถึงวันที่ 17 เม.ย. นั้น ปรากฏว่า เนสท์เล่ได้ทำหนังสือแจ้งพันธมิตรทางการค้าว่า “ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง” มีคำสั่งยืนยันให้เนสท์เล่เป็นผู้มีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในการใช้เครื่องหมายการค้า “Nescafé” และ “เนสกาแฟ” ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2568

และล่าสุดหลังจบเทศกาลสาดน้ำวันสงกรานต์ ทนายฝ่ายเนสท์เล่ มาตามนัดและได้ยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งมีนบุรี 2 คำร้อง เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2568 1. คำร้องขอไต่สวนพิจารณายกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวเมื่อวันที่ 3 เม.ย. 68 และ 2. ยื่นคำร้องขอให้ศาลแพ่งมีนบุรี ทำหนังสือถึง “ประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ” วินิจฉัยว่าคดีนี้อยู่ในอำนาจของศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ ไม่ใช่อำนาจของศาลแพ่งมีนบุรี ซึ่งเป็นการยกระดับการต่อสู้จากประเด็นเนื้อหาคดีไปสู่ประเด็นเชิงโครงสร้างกระบวนการยุติธรรม

ประเด็นนี้ ทนายโจทก์ของตระกูลมหาศิริ เดิมทีเแถลงความประสงค์ต่อศาลเมื่อวันที่ 11 เมษายนว่า จะยื่นคำคัดค้านคำร้องขอให้เพิกถอนคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว แต่เพิ่งได้รับทราบเรื่องการที่ทนายจำเลย ยื่นคำร้องขอให้คดีนี้อยู่ในเขตอำนาจศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ จึงขอยื่นคำแถลงโต้แย้งคัดค้าน

ซึ่งประเด็นนี้ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่ามีเหตุอันสมควร จึงอนุญาตในการให้ฝ่ายโจทก์ยื่นคำแถลงโต้แย้งคัดค้านภายใน 5 วัน โดยขออนุญาตยื่นภายในวันที่ 23 เมษายน 2568 ถ้าไม่ยืนภายในกำหนดถือว่าไม่ติดใจยื่นคำแถลงโต้แย้ง

จากนั้น ศาลวินิจฉัยว่า เมื่อคดีต้องรอการวินิจฉัยของประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ จึงยังไม่อาจดำเนินกระบวนพิจารณาได้ จึงให้รับคำแถลงโต้แย้งคัดค้านของโจทก์ แล้วให้รวบรวมถ้อยคำสำนวนส่งศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเพื่อพิจารณา

และศาลนัดพร้อมกันวันที่ 20 มิถุนายน 2568 เวลา 09.00 น. ตามที่คู่ความทั้งสองฝ่ายมีวันว่างตรงกันฟัง เพื่อคำสั่งประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ ที่จะมีคำวินิจฉัยว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจของศาลแพ่งมีนบุรีหรือไม่ หากไม่มีอำนาจก็ต้องจำหน่ายคดีให้ศาลทรัพย์สิน แต่หากอยู่ในอำนาจของศาลแพ่งมีนบุรี จะทำการไต่สวนคำร้องขอให้เพิกถอนคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของทนายจำเลยที่ 2 และที่ 3 ต่อทันที