คอนเสิร์ต-ละคร คึกคัก ธุรกิจเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ คัมแบ็ค กวาดรายได้สนั่น

24 พ.ย. 2566 | 10:37 น.

ธุรกิจเอ็นเตอร์เทนเม้นท์คัมแบ็ค 9 เดือนเติบโตถ้วนหน้า ชี้หลังโควิดคลี่คลาย คนหันหาความบันเทิง ปลุกคอนเสิร์ต โชว์บิซ อีเว้นท์ หนัง ละคร ซีรีส์คึกคัก ขณะที่ปัญหาหนี้ครัวเรือน กำลังซื้อในประเทศ ภัยแล้ง ฉุดเศรษฐกิจชะลอตัว ลดการใช้จ่ายด้านสื่อโฆษณา

ภาพรวมเศรษฐกิจไทยหลังสถานการณ์โควิดคลี่คลายยังคงเปราะบาง ด้วยปัจจัยลบที่มีมากกว่าปัจจัยบวก ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ โดยปัจจัยหลักที่ยังต้องเฝ้าระวังคือ เรื่องของปัญหาหนี้ครัวเรือน กำลังซื้อในประเทศที่ถดถอยจากสินค้าที่ปรับราคาสูงขึ้น วิกฤตภัยแล้งที่รุนแรงที่สุดในรอบ 41 ปี รวมถึงสถานการณ์เศรษฐกิจในเอเชีย ที่หลายประเทศยังต้องเฝ้าระวัง โดยเฉพาะประเทศจีน

ขณะที่การจัดตั้งรัฐบาลที่ล่าช้าส่งผลต่อการลงทุนเมกะโปรเจ็กต์ ทำให้การขยับตัวของภาคเอกชนชะลอตามไปด้วย โดยข้อมูลจากนีลเส็น พบว่า การใช้จ่ายเม็ดเงินโฆษณา 7 เดือนแรกของปี 2566 (ม.ค.-ก.ค. 2566) มีมูลค่า 65,093 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.44% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การใช้จ่ายผ่านสื่อโทรทัศน์มีมูลค่า 34,483 ล้านบาท ลดลง 2,222 ล้านบาทหรือลดลง 6% ทำให้กลุ่มธุรกิจเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ต้องหันหารายได้จากธุรกิจอื่นๆเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจเพลง โชว์บิซ อีเว้นท์ การขายคอนเทนต์ในต่างประเทศ รวมไปถึงธุรกิจคอมเมิร์ซ

สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์

นายสุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ผลประกอบการของอาร์เอสในไตรมาส 3 ถือว่าเป็นการเติบโตสูงสุดอีกครั้ง โดยมาจากธุรกิจเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ที่มีรายได้ทะลักเข้ามาจากกิจกรรมและคอนเสิร์ต รวมถึงการการฟื้นตัวของธุรกิจคอมเมิร์ซหลังจากที่มีการปรับโมเดลธุรกิจใหม่ แบ่งออกเป็น 4 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ RS Music, RS Multimedia & Entertainment, RS LiveWell และ RS Pet All ส่งผลให้การทำงานในแต่ละธุรกิจมีความคล่องตัวสูงขึ้นในการสร้างรายได้และการมองหาโอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจ

“ธุรกิจเอ็นเตอร์เทนเมนต์ยังคงเติบโตต่อเนื่องจากช่วง High Season ของกิจกรรมและคอนเสิร์ต รวมไปถึงรับรู้กำไรพิเศษเกี่ยวเนื่องจากการร่วมธุรกิจกับ ยูนิเวอร์แซล มิวสิค กรุ๊ป เพื่อจัดตั้ง บริษัท อาร์เอส ยูเอ็มจี จำกัด ในการดำเนินการบริหารลิขสิทธิ์เพลงร่วมกัน อาร์เอสยังมุ่งมั่นในการใช้โมเดล Entertainmerce ที่ผสานความเชี่ยวชาญของมีเดีย และเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ในมือที่เป็นแต้มต่อเข้ากับธุรกิจคอมเมิร์ซ และยังคงเร่งสร้าง Ecosystem ให้ อาร์เอส กรุ๊ป เป็นบริษัทที่แข็งแกร่งตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ทั้งการพัฒนาสินค้า การตลาด การขาย และช่องทางจัดจำหน่าย ไปจนถึงบริการต่างๆ”

ขณะที่ไตรมาสสุดท้ายอาร์เอส ยังคงเดินหน้าธุรกิจคอมเมิร์ซและธุรกิจเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ต่อเนื่อง โดยไฮไลท์จะเป็นการขยายการลงทุนในสินค้าและบริการเพื่อสุขภาพสำหรับคนและสัตว์เลี้ยง โดย RS LiveWell จะส่งสินค้ากลุ่ม Personal Care แบรนด์ vitanature+ ไปจำหน่ายยังฟิลิปปินส์ รวมไปถึงการเปิด Pet All My Love รีเทลสำหรับสัตว์เลี้ยงสาขาแรก และเปิด HATO Pet Wellness Center สาขาใหม่ที่โครงการ Ours เจริญนคร

คอนเสิร์ต-ละคร คึกคัก ธุรกิจเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ คัมแบ็ค กวาดรายได้สนั่น

นอกจากนี้ ยังมีคอนเทนต์และกิจกรรมบันเทิง อาทิ ซีรีส์ “Bake Me Please พิชิตใจนายสายหวาน” Y Project, การเปิดค่ายเพลงใหม่, คอนเทนต์ด้านดนตรีแนวใหม่, COOL WINDY FEST 2023, คอนเสิร์ต “CONCERT SHORT CHARGE SHOCK REAL ROCK RETURN” และอีเว้นท์ทั่วประเทศจาก RS Multimedia & Entertainment ฯลฯ

อย่างไรก็ดี รายได้กลุ่มธุรกิจเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ ที่เติบโตพบว่ามาจาก ธุรกิจเพลงและคอนเสิร์ตที่กลับมาฟื้นตัว โดย บมจ.จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ซึ่งในช่วง 9 เดือนแรกมีรายได้รวม 4,159 ล้านบาท เติบโต 17.8% รายได้ส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นจากกลุ่มธุรกิจเพลง 39% ซึ่งมาจากธุรกิจโชว์บิซ, การบริหารศิลปินทั้งงาน Live show และ Presenter รวมถึงดิจิทัลมิวสิค ก็เติบโตเช่นกัน

เช่นเดียวกับบมจ. เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ ที่พบว่า 9 เดือน มีรายได้รวม 4,775 ล้านบาท กำไรสุทธิ 326 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้น 6.9% ขณะที่เฉพาะไตรมาส 3 ของปี มีรายได้รวม 1,736 ล้านบาท เติบโต 9.5% มีกำไรสุทธิ 153.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 26.8% แบ่งเป็นรายได้จากคอนเสิร์ตและบริหารกิจกรรม 255.8 ล้านบาท เติบโต 74% และรายได้บริหารศิลปิน 251.8 ล้านบาท เติบโต 49% ขณะที่รายได้จากสื่อโทรทัศน์ ลดลง 41.5%

โดยแนวโน้มรายได้จากสื่อโทรทัศน์ที่ลดลง ทำให้เดอะ วันฯ ปรับยุทธศาสตร์ก้าวสู่ Entertainment & Lifestyle ครบวงจร นำเสนอคอนเทนต์ทั้ง TV, Online, Copyright & Licensing และ Production Services ซึ่งถือเป็นจุดแข็งของกลุ่มบริษัท รวมถึง Idol Marketing ที่มีแผนสร้างศิลปินหน้าใหม่เป็น Idol Marketing และ Showbiz ครบวงจร

ไม่ใช่แค่เพียง การจัดการแสดงหรือการจัดอีเว้นท์เพียงอย่างเดียว แต่จะมุ่งเน้นในส่วน Fandom มากขึ้นด้วย ทั้งในกลุ่มผู้ชมทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาพบว่า บริษัทมีรายได้จากการบริหารลิขสิทธิ์ เติบโตขึ้น 24% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน จากการขายลิขสิทธิ์ละครและซีรีส์บนแพลตฟอร์ม OTT ทั่วโลก

อย่างไรก็ดี กระแสความนิยมของซีรีส์ไทยมีขึ้นในหลายประเทศไม่ใช่เฉพาะประเทศเพื่อนบ้านเท่านั้น ปัจจุบันพบว่า ภาพยนตร์ ละครและซีรีส์ของไทยกำลังเป็นที่นิยมมากขึ้น ทั้งในประเทศจีน เกาหลีใต้ และตะวันออกกลาง ส่งผลให้ผู้ผลิตและเจ้าของคอนเทนต์มีการเติบโตต่อเนื่อง เช่นเดียวกับ บมจ. บีอีซี เวิลด์ หรือช่อง 3 ที่พบว่าธุรกิจการจัดจำหน่ายละคนไปต่างประเทศ (Global Content Licensing)

และธุรกิจดิจิทัลแพลตฟอร์ม (Digital Platform) มีรายได้รวมกันราว 189 ล้านบาท คิดเป็น 16.9% ของรายได้ เพิ่มขึ้น 9.4% จากไตรมาส 3 ของปี 2565 โดยการจำหน่ายลิขสิทธิ์ละครมีทั้งในรูปแบบ DOB ผ่านแพลตฟอร์ม Prime Video (SVOD) และแพลตฟอร์ม VIU (SEA) & VieOn Vietnam

คอนเสิร์ต-ละคร คึกคัก ธุรกิจเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ คัมแบ็ค กวาดรายได้สนั่น

ล่าสุดบีอีซี เวิลด์ ยังเร่งขับเคลื่อนธุรกิจการขายลิขสิทธิ์ละครไปยังตลาดต่างประเทศหรือผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ ทั้งฝั่งเอเชีย แอฟริกา และ ยุโรป และล่าสุดได้เปิดดีลโมเดลใหม่โดยร่วมมือกับผู้ให้บริการวีดีโอสตรีมมิ่งระดับโลกอย่าง Prime Video ได้ลิขสิทธิ์นำ 2 ละครใหม่แกะกล่องที่ยังไม่เคยออกอากาศมาก่อน ได้แก่ “ร้อยเล่มเกมส์ออฟฟิศ” (The Office Games) และ “มือปราบกระทะรั่ว” (My Undercover Chef) ผลิตโดย BEC Studio สตรีมพร้อมกันทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ไทย, สิงคโปร์, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, เวียดนาม, กัมพูชา, ลาว, เมียนมา, บรูไน และ ติมอร์-เลสเตด้วย

ทั้งนี้คอนเทนต์ไทยทั้งเพลง ละคร ภาพยนตร์ ซีรีส์ กำลังเป็นที่นิยมอย่างมาก และเมื่อผลักดันให้เป็นหนึ่งใน Soft Power โอกาสที่จะเติบโตย่อมสูงขึ้น จึงเป็นโอกาสของผู้ผลิตและผู้ประกอบการกลุ่มเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ไทยในการขยายและต่อยอดในอนาตต

 

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,942 วันที่ 23 - 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566