ยกระดับ “หนังสือ” ขึ้นแท่น Soft Power สร้างสรรค์ผลงานไทยสู่สากล

23 ต.ค. 2566 | 05:44 น.

การยกระดับ Soft Power ของไทย เป็นอีกหนึ่งนโยบายที่รัฐบาลใหม่ ประกาศเป็นยุทธศาสตร์ พร้อมเดินหน้าสนับสนุนและเตรียมแผนผลักดัน “หนังสือ” เพื่อยกระดับ Soft Power ของไทย มุ่งสร้างชื่อเสียงระดับโลก

ที่นอกจากสนับสนุนในเรื่องของอาหารไทย ภาพยนตร์ ซีรีส์ไทย งานศิลปะ และฝีมือหัตถกรรมต่างๆ ของคนไทยให้มากขึ้น ตามนโยบาย 1 ครอบครัว 1 Soft Power หรือ OFOS อีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่คาดว่ากำลังฟื้นตัวและสามารถช่วยผลักดัน Soft Power ของประเทศไทยออกสู่สากลได้เป็นอย่างดีก็คือ “หนังสือ”

สำหรับอุตสาหกรรมหนังสือของไทยเคยได้กระแสตอบรับที่ดีและเฟื่องฟูในช่วง 4-5 ปีก่อนหน้านี้ ด้วยมูลค่าสูงกว่า 2 หมื่นล้านบาท แต่ต้องสะดุดไปเมื่อเกิดสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 จากมาตรการต่างๆ อาทิ การล็อกดาวน์สถานที่ต่างๆ การรณรงค์ให้อยู่บ้านเพื่อหยุดการแพร่กระจายของเชื้อ และการงดจัดกิจกรรมที่ให้ผู้คนมารวมตัวกัน ล้วนเป็นผลให้ตลาดหนังสือของไทยทรุดตัวและซบเซาลงอย่างรวดเร็ว

ยกระดับ “หนังสือ” ขึ้นแท่น Soft Power สร้างสรรค์ผลงานไทยสู่สากล

โดยคาดว่ามูลค่าตลาดจะหายไปกว่า 50% แต่ด้วยการปรับตัวของผู้ประกอบการทั้งสำนักพิมพ์และร้านหนังสือ ที่ได้มีการปรับเปลี่ยนไปขยายช่องทางการจำหน่ายผ่านออนไลน์มากขึ้น รวมถึงมีการทำ e-book หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถเปิดอ่านได้ผ่านหน้าจอ เพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภคได้ง่ายขึ้นท่ามกลางสถานการณ์โรคระบาด แม้จะไม่ได้สร้างผลกำไรได้มากเท่ากับการออกบูธจำหน่ายในงานหนังสือแบบออฟไลน์ แต่ก็สามารถพยุงธุรกิจให้เดินหน้าต่อได้

หลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย ทำให้งานกิจกรรมและธุรกิจต่างๆ เริ่มกลับมา รวมถึงอุตสาหกรรมหนังสือเองที่มีการขยับตัวและส่งสัญญาณฟื้นคืนชีพอีกครั้ง ถือเป็นปัจจัยบวก ที่ผนวกกับการยกระดับสู่ Soft Power จึงเป็นสัญญาณที่ดี ที่ทำให้อุตสาหกรรมหนังสือกลับมาผงาดได้

มั่นใจอุตสาหกรรมหนังสือ 1.5 หมื่นล.โต

“สุวิช รุ่งวัฒนไพบูลย์” นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) ให้ความคิดเห็นว่า งานมหกรรมหนังสือระดับชาติเป็นวาระสำคัญของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมหนังสือ เพราะที่ผ่านมาผู้ประกอบการต้องเผชิญวิกฤตตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด-19 ทำให้ธุรกิจทรุดตัว ก่อนที่จะเริ่มปรับกลยุทธ์หันไปทำการตลาดผ่านช่องทางออนไลน์และการจำหน่ายหนังสือในรูปแบบของ e-book จนสามารถพยุงธุรกิจหนังสือให้เดินหน้าต่อไปได้

พอสถานการณ์โรคระบาดทุเลาลง ธุรกิจและผู้ประกอบการหนังสือจึงได้กลับมาแข็งแรงขึ้นจากการจำหน่าย 2 ทาง ทั้งออฟไลน์และออนไลน์ ทำให้เข้าถึงผู้บริโภคได้ทุกช่องทาง ซึ่งงานมหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งที่ 28 นี้จะเป็นกิจกรรมหลักในการขับเคลื่อนธุรกิจให้กลับมารุ่งโรจน์อีกครั้ง โดยคาดการณ์มูลค่าการตลาดในปี 2566 กว่า 15,000 ล้านบาท มีเงินสะพัดในประเทศกว่า 400 ล้านบาท จากผู้เข้าร่วมงานกว่า 1.6 ล้านคน ผลักดันอุตสาหกรรมหนังสือเติบโต 20%

ยกระดับ “หนังสือ” ขึ้นแท่น Soft Power สร้างสรรค์ผลงานไทยสู่สากล

การที่ภาครัฐกำหนดให้ “หนังสือ” เป็น 1 ใน 8 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะสนับสนุนเป็น Soft Power ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย PUBAT เชื่อมั่นว่า Soft Power จะเป็นฟันเฟืองสำคัญในการผลักดันให้อุตสาหกรรมหนังสือได้พัฒนาและเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น รวมถึงเป็นที่ยอมรับในระดับสากลมากขึ้น นอกจากตลาด e-book จะเติบโตขึ้นจากนักอ่านรุ่นใหม่ ยอดผู้อ่านหนังสือที่เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ก็เติบโตขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน

หนุน “หนังสือ” สู่ Soft Power

“แพทองธาร ชินวัตร” รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ กล่าวว่า การจะผลักดันมหกรรมหนังสือให้มีชื่อเสียงหรือดังระดับโลกได้ไม่ใช่เรื่องยาก เพราะการอ่านหนังสือถือเป็นต้นทางและแรงบันดาลใจของความคิดสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็นการทำหนังสือ การเขียนเพลง การเขียนเนื้อเรื่อง และกำกับภาพยนตร์นั้น มาจากการอ่านหนังสือทั้งสิ้น

พร้อมยกตัวอย่างประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นผู้นำด้าน Soft Power จะพบว่าอุตสาหกรรมหนังสือของเกาหลีใต้มีมูลค่ามากกว่าอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ซีรีส์ หรือเพลงรวมกันเสียอีก ประเทศไทยจึงต้องการที่จะสนับสนุนอุตสาหกรรมหนังสืออย่างเต็มที่ เพื่อยกระดับและขับเคลื่อนให้วงการหนังสือเป็น Soft Power ของไทย

ยกระดับ “หนังสือ” ขึ้นแท่น Soft Power สร้างสรรค์ผลงานไทยสู่สากล

โดยในอนาคตหากองค์กร THACCA (Thailand Creative Content Agency) ที่ก่อตั้งเพื่อตอบสนองและรองรับนโยบาย One Family One Soft Power เข้ามาทำหน้าที่ดูแลในเรื่องของ Soft Power ไทยอย่างเป็นระบบครบวงจรจัดตั้งสำเร็จ รัฐบาลก็อยากปักหมุดประเทศไทยว่าต้องมีการโชว์หนังสือของไทยให้ดังไปทั่วโลก รวมถึงแสดงให้เห็นว่าความคิดสร้างสรรค์ต่างๆ ที่ได้มาจากหนังสือ ว่าไม่ได้มีอยู่แค่ในหนังสือ แต่สามารถเกิดขึ้นได้มากมายในอุตสาหกรรมด้านต่างๆ โดยมีหนังสือเป็นพื้นฐานหรือเป็นจุดเริ่มต้นของความคิดสร้างสรรค์ในแขนงต่างๆ

อีกทั้งได้ขอร่วมรณรงค์ให้ทุกคนมามอบหนังสือเป็นของขวัญให้แก่กัน ไม่ว่าจะเป็นคนที่รัก คนที่หวังดี หรือมอบหนังสือแทนคำขอบคุณในโอกาสต่างๆ พร้อมทิ้งท้ายว่า หนังสือราคาไม่ได้สูงมากจนเกินไป แต่สามารถคงอยู่ได้อย่างยั่งยืน ถ้าเรามีการเก็บรักษาอย่างดี หนังสือก็จะมีค่าไปอีกหลายสิบปี

THACCA เพื่อ “ซอฟต์พาวเวอร์ไทย”

อย่างไรก็ดี THACCA (Thailand Creative Content Agency) ทำหน้าที่ผลักดันอุตสาหกรรมแขนงต่างๆ ให้กลายเป็น Soft Power ของไทย โดยทั้ง 8 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่ภาครัฐเร่งสนับสนุน ได้แก่ 1. ภาพยนตร์ 2. ศิลปะ 3. หนังสือ 4. อาหาร 5. ดนตรี เฟสติวัล 6. ท่องเที่ยว 7. กีฬา และ 8. ออกแบบ แฟชั่น

เมื่อมองลงมาเฉพาะนโยบายส่งเสริม Soft Power เพื่อ “อุตสาหกรรมหนังสือ” ไทย ที่องค์กร THACCA จะเข้ามาสนับสนุน ก็จะมีตั้งแต่การลดภาษีมูลค่าเพิ่มกระดาษและภาษีอุปกรณ์ศิลปะต่างๆ เหลือ 0% เพื่อลดต้นทุนในการพิมพ์หนังสือ สนับสนุนให้ทุกคนสามารถปลดปล่อยทุกจินตนาการ หยุดตีกรอบ ไม่ปิดกั้นเสรีภาพ เลิกแบนหนังสือ

ยกระดับ “หนังสือ” ขึ้นแท่น Soft Power สร้างสรรค์ผลงานไทยสู่สากล

ระเบิดทุกพลังสร้างสรรค์ ในส่วนของพื้นที่เรียนรู้และนันทนาการเกี่ยวกับหนังสือ ก็จะมีการพัฒนาห้องสมุดและขยายห้องสมุดให้ครอบคลุมทั่วประเทศ เพื่อให้คนไทยเข้าถึงหนังสือได้ถ้วนหน้า พร้อมกับจะมีกองทุนพัฒนาหนังสือ นักเขียน นักแปล สำนักพิมพ์ และร้านหนังสือ ให้สามารถเข้าถึงทุนได้ง่ายขึ้นโดยไม่ถูกกีดกัน

รวมถึงจะมีการสนับสนุนทุนการแปลหนังสือไทยเป็นภาษาต่างประเทศ และส่งเสริมการส่งออกหนังสือไทยสู่สายตาคนทั่วโลกอีกด้วย ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของนโยบายเพื่อ “หนังสือ” ไทย โดย THACCA จะมีกลไกให้คนในวงการหนังสือได้เข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยกำหนด และผลักดันนโยบายด้านอื่นๆ ที่ควรจะมี เพื่อให้วงการหนังสือไทยขยับขยายและเติบโตได้ไกลกว่าที่เป็นอยู่ต่อไป

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,933 วันที่ 22 - 25 ตุลาคม พ.ศ. 2566