“น้ำปลาร้า” แข่งเดือด ปุ้มปุ้ยโดดชิงมาร์เก็ตแชร์ 1 พันล้าน

09 พ.ค. 2566 | 10:34 น.

“น้ำปลาร้า” แข่งเดือด ปุ้มปุ้ยโดดชิงมาร์เก็ตแชร์ 1,000 ล้านบาท เปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ล่าสุด น้ำปลาร้าปรุงรส แบบอีสานแท้ ๆ หวังชิงส่วนแบ่งของตลาด ที่แนวโน้มเริ่มเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบันตลาด "น้ำปลาร้า" กลายมาเป็นตลาดใหญ่ที่สำคัญสำหรับสินค้าในกลุ่มของเครื่องปรุงรส โดยมีมูลค่าสูงกว่า 1,000 ล้านบาท ขณะที่แนวโน้มของตลาดก็เริ่มเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีผู้ผลิตสินค้าแบรนด์ดังกลายเจ้าหันมาโดดร่วมวงเพื่อชิงส่วนแบ่งในตลาดมากขึ้น

ล่าสุด นางปวิตา โตทับเที่ยง ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท ผลิตภัณฑ์อาหารกว้างไพศาล จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปุ้มปุ้ย มองเห็นโอกาสในตลาดนี้ เพิ่มทางเลือกสินค้าใหม่ ๆ ให้ตรงตามความต้องการของผู้บริโภค จึงได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ล่าสุด “น้ำปลาร้าปรุงรส” รสชาติแบบอีสานแท้ ๆ มีคุณภาพได้มาตรฐาน

ทั้งนี้ “น้ำปลาร้าปรุงรส” จะมีส่วนผสมหลักจากปลาทะเล 100% ทำให้ไม่มีกลิ่นคาว และรสชาติไม่ติดหวาน ทำได้อร่อยทุกเมนู ตำ ยำ แกง และรับประกันรสชาติถูกปากคนไทยแน่นอน

 

ผลิตภัณฑ์ใหม่ล่าสุด “น้ำปลาร้าปรุงรส” รสชาติแบบอีสานแท้ ๆ

 

ขณะเดียวกันเพื่อเป็นการส่งเสริมกด้านการตลาด ยังได้ดึง “ครูเต้ย อภิวัฒน์” นักร้องหนุ่มหล่อขวัญใจชาวอีสาน เจ้าของเพลงฮิตหลายร้อยล้านวิว มาเป็นพรีเซนเตอร์ “น้ำปลาร้าปรุงรส” เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มคนอีสานที่อยู่ทั่วประเทศไทยด้วย

สำหรับธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับน้ำปลาร้านั้น ที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการส่งออกปลาร้าของไทย พบตัวเลขการส่งออกผลิตภัณฑ์ปลาร้าในลักษณะต่าง ๆ ดังนี้

ปี 2550-2562 การส่งออกปลาร้า ปริมาณ 87 ล้านตัน มูลค่าการส่งออก 10,576 ล้านบาท

ปี 2543-2562 การส่งออกแจ่วบอง ปริมาณ 1,372 ล้านตัน มูลค่าการส่งออก 133,692 ล้านบาท

ปี 2543-2562 การส่งออกน้ำพริกปลาร้า และน้ำปลาร้า ปริมาณ 2,861 ล้านตัน มูลค่าการส่งออก 176,884 ล้านบาท

 

กระทรวงพาณิชย์ รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการส่งออกปลาร้าของไทย

ก่อนหน้านี้ สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครชิคาโก กระทรวงพาณิชย์ ยังระบุข้อมูลด้วยว่า กระแสความนิยมบริโภคน้ำปลาร้าในสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีผู้ผลิตขนาดย่อม กลาง และใหญ่ ส่งออกน้ำปลาร้ามาจำหน่ายจำนวนมาก ทั้งศิลปินคนดัง สตาร์ตอัพ หรือนักลงทุน ซึ่งมีอย่างน้อยกว่า 100 ยี่ห้อ 

รวมทั้งยังมีการพัฒนาปลาร้าไปสู่ซอสน้ำปลาร้า เพื่อยกระดับสินค้าไทยสู่สากล ดึงดูดความสนใจจากคนรุ่นใหม่ คนวัยทำงาน ที่ชอบลองชิมซ้อสปรุงรสอาหารชนิดใหม่ๆได้มากขึ้น รวมทั้งยังมีโอกาสที่จะขยายตลาดไปสู่ร้านอาหารไทยในสหรัฐฯ ซึ่งมีไม่ต่ำกว่า 5,000 แห่ง เป็นการเจาะตลาดคนเอเชียที่อาศัยอยู่ในสหรัฐฯที่คุ้นเคยกับปลาร้าด้วย