แลนด์สเคป "ร้านอาหาร" เปลี่ยน ไม่สนราคา ปลุกตลาดพรีเมียมคึกคัก

16 เม.ย. 2566 | 22:08 น.

แลนด์สเคป “ร้านอาหาร” หลังโควิดเปลี่ยน จับตาพฤติกรรมนักชิม หันหาของพรีเมียม ไม่สนใจราคา ดันผู้ประกอบการเร่งปรับตัว ปรับเมนู อัพเกรดวัตถุดิบ เสิร์ฟลูกค้ากระเป๋าหนัก หนีผู้เล่นหน้าใหม่ตบเท้าดอดแชร์ ปลุกตลาดแข่งเดือด

ต้องยอมรับว่าธุรกิจร้านอาหารยังไม่มีการเติบโตขึ้นจากปี 2564 หากย้อนไปในปี 2562 มูลค่าการตลาดมีแนวโน้มดีขึ้น ก่อนที่จะลดลงอีกครั้งในปี 2563 และขยับตัวขึ้นในปีถัดมา โดยมีมูลค่ารวม 4.1 แสนล้านบาท ขณะที่ตลาดอาหารโดยรวมมีมูลค่าแตะล้านล้านบาท เติบโต 14% จากปี 2564 ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่เติบโตขึ้นค่อนข้างสูง โดยเซ็กเมนต์ที่มีส่วนแบ่งการตลาดสูงเป็นอันดับต้นๆ ประกอบด้วย คาเฟ่และเครื่องดื่ม มีมูลค่าราว 3 หมื่นล้านบาท รองลงมาเป็นร้านอาหารญี่ปุ่น 2.5 หมื่นล้านบาท

ในขณะที่ร้านอาหารบริการด่วนหรือ QSR เซ็กเมนต์ไก่ทอดมีมูลค่า 2.5 หมื่นล้านบาท ตามด้วยเบอร์เกอร์ 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งมีผู้เล่นรายใหม่เข้ามาในตลาด เช่นเดียวกับเบเกอรี่ ที่มูลค่าตลาดใกล้เคียงกันคือ 1 หมื่นล้านบาท และพิซซ่า 8,500 ล้านบาท ส่วน Hot pot เป็นเซ็กเมนต์มีการโปรโมทอย่างคึกคักและมีแบรนด์ใหญ่ๆเข้ามาในตลาดเพิ่มมากขึ้นทำให้มูลค่าตลาดเติบโตแตะ 2 หมื่นล้านบาท ตามด้วยส้มตำ 1.6 หมื่นล้านบาทและอื่นๆ 1.2 หมื่นล้านบาท

แลนด์สเคป \"ร้านอาหาร\" เปลี่ยน ไม่สนราคา ปลุกตลาดพรีเมียมคึกคัก

“คาดว่าในปีนี้ ธุรกิจร้านอาหารจะกลับมาเติบโตอีกหลังจากที่มีปัจจัยบวกเข้ามากมาย แต่อาจจะยังไม่ร้อนแรงเท่าก่อนการระบาดของโควิด เนื่องจากมีฐานที่ต่ำกว่า ดังนั้นในปีนี้ คาดว่าตลาดน่าจะเติบโตประมาณ 3-5% จากปี 2565 โดยมีปัจจัยบวกส่วนหนึ่งมาจากการที่นักท่องเที่ยวหรือทัวริสต์ทยอยเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวแต่ยังไม่เต็มที่ ขณะที่ภาพรวมเศรษฐกิจทั้งธนาคารต่างๆยังตกอยู่ในภาวะที่ยากลำบากทำให้เศรษฐกิจในภาพรวมยังต้องจับตามองอยู่พอสมควร” นายณัฐ วงศ์พานิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด หรือ CRG ยังฉายภาพต่อว่า

ในอุตสาหกรรมร้านอาหารในปี 2566 มี Key movement ในตลาดที่จะส่งผลต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมอย่างมีนัยสำคัญ 7 ประเด็นประกอบไปด้วย 1. สถานการณ์โรคระบาดเริ่มดีขึ้น สถานการต่างๆกลับเข้าสู่ภาวะปกติ เพราะฉะนั้นปีนี้ตลาดโดยรวมน่าจะกลับมาเท่ากับก่อนโควิด แต่ยังต้องจับตาเหตุการณ์และประเด็นใหม่ๆที่ควบคุมไม่ได้จากภายนอกเข้ามากระทบซึ่ง CRG คาดหวังว่าเป้าหมายที่วางไว้น่าจะกลับมาใกล้เคียงกับปี 2565 ได้บ้าง

2. พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง “ดีลิเวอรี” เปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคให้สดวกและง่ายขึ้น แม้ว่าจะสามารถออกมาทานอาหารนอกบ้านได้แล้ว แต่ “ดีลิเวอรี” จะยังเป็นเทรนด์ต่อเนื่อง ทำให้ O2O Channel เข้ามามีบทบาทสำคัญไม่เฉพาะแค่เรื่องอาหารเท่านั้นแต่รวมไปถึง retail และ Industry อื่นๆด้วย

แลนด์สเคป \"ร้านอาหาร\" เปลี่ยน ไม่สนราคา ปลุกตลาดพรีเมียมคึกคัก

3. ผู้เล่นในตลาดปรับกลยุทธ์ และDiversify portfolio ใหม่เพื่อกระจายความเสี่ยงโดยขยายธุรกิจทั้งในมอลล์และนอน-มอลล์เช่น คอมมูนิตี้ มอลล์ หรือสแตนด์อะโลน อื่นๆ รวมทั้งนำฟอร์แมทหรือโมเดลใหม่ๆเข้ามาขยายธุรกิจ ไปจนถึงการทำธุรกิจใหม่ๆที่รีเลทกับธุรกิจเดิม

4. เกิด New Business model ใหม่ เช่น Vending Machine ที่จะค่อยๆเติบโตในลักษณะค่อยๆ เป็นค่อยๆไปในทำนองเดียวกับ Grab & Go ที่เข้ายึดพื้นที่ในโลเคชั่นต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ลูกค้าที่ต้องการซื้อกลับไปทานที่บ้านได้

5. ลูกค้าหลังโควิดต้องการใช้เงินทำให้ เทรนด์ของพรีเมี่ยมเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งในส่วนของ วัตถุดิบพรีเมียมนำเข้าและโซเชียลแคทเทอริ่ง ซึ่ง CRG ได้ตอบรับเทรนด์นี้โดยพัฒนาเมนูต่างๆเช่น เมนูมิโซะและเนื้อวากิวในแบรนด์ ชาบูตง, เมนูทราฟเฟิลใน เปเปอร์ ลั๊นซ์ และเมนูแพลนต์เบส meet zero ใน อานตี้ แอนส์แม้ราคาสูงแต่ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังมีแบรนด์ นักล่าหมูกระทะ เข้ามาตอบโจทย์โซเชียลแคทเทอริ่ง เพราะผู้บริโภคต้องการออกมารับประทานอาหารร่วมกันและพบปะสังสรรค์

แลนด์สเคป \"ร้านอาหาร\" เปลี่ยน ไม่สนราคา ปลุกตลาดพรีเมียมคึกคัก

6. people shorted กลายมาเป็น Challenge ใหม่ของธุรกิจร้านอาหารเพราะพนักงานกลับบ้านในช่วงโควิดและไม่กลับมาทำงานเมื่อสถานการณ์ดีขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะมีอาชีพใหม่และย้ายกลับภูมิลำเนา นอกจากนี้ยังมีประเด็นสงคราม เงินเฟ้อ ทำให้ต้นทุนโลจิสติกส์และวัตถุดิบราคาสูงขึ้น เป็น Challenge ที่ยังจะต้องพบเจอต่อไป ซึ่งผู้ประกอบการพยายามตรึงราคาสินค้าให้มากที่สุด

7. New Player เข้ามาในตลาดมากขึ้น เพราะเป็น Industry ที่ไม่มีแบริเออร์กันผู้เล่นรายใหม่ให้เข้ามาในตลาดได้ เพราะฉะนั้นผู้เล่นรายใหม่ที่ไม่ได้อยู่ในธุรกิจอาหารแต่มีเงินทุนกระโดดเข้ามาในรูปแบบเปิดร้านใหม่ นำแบรนด์ต่างประเทศเข้ามาหรือซื้อกิจการจำนวนมาก แม้แต่ผู้เล่นเดิมในตลาดก็เข้าสู่โหมดของการขยายธุรกิจ

แลนด์สเคป \"ร้านอาหาร\" เปลี่ยน ไม่สนราคา ปลุกตลาดพรีเมียมคึกคัก

“สำหรับเรามองว่าปี 2566 เป็นปีที่ท้าทายและสนุกสนานแน่ๆ หลังจากผ่านโควิดมาเราเห็นแสงที่ปลายทางแต่แน่นอนหมอกควันยังมีมาให้เห็นตลอดเวลา ดังนั้นทุกปีจากนี้และถัดๆไปจะมี Challenge ใหม่เข้ามาตลอด องค์กรที่ปรับตัวได้ดี ยืดหยุ่น มีพนักงานคุณภาพจะผ่านไปได้อย่างดี

ในปีนี้สิ่งที่เราจะทำต่อคือ 1. ผลักดันพอร์ตธุรกิจที่ดีอยู่แล้วหรือมีศักยภาพ 2. สร้าง new growth Pillar ขึ้นมาเพื่อทำให้บริษัทมีการเติบโตต่อไปให้ได้ 3. มองหา partnership ช่วยในการสร้างการเติบโตใหม่ 4. สร้างสมดุล productivity ไม่ใช่เติบโตแต่ธุรกิจท็อปไลน์ แต่ธุรกิจท็อปไลน์ก็ต้องให้ความสำคัญ และ 5. การเติบโตอย่างยั่งยืน ไม่ทิ้งของเสีย ไม่ทำอะไรที่ไม่ดีให้กับโลกและสังคม”

ด้านนายอนิรุทร์ เดวิด คอลลินส์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เอสแอลอาร์ที จำกัด (ซิซซ์เล่อร์) ในเครือ เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวแสดงความคิดเห็นว่า ภาพรวมร้านอาหารมีแนวโน้มการขยายตัวอย่างต่อเนื่องพร้อมๆกับการแข่งขันในตลาดที่สูง จากการที่มีร้านอาหารใหม่ๆ โดยเฉพาะร้านสเต๊ก หรือร้านอาหารเพื่อสุขภาพจำนวนมากเข้ามาในตลาด ในขณะที่พฤติกรรมของผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วตามกระแสนิยมในสังคม และเลือกร้านอาหารผ่านการแนะนำบนโซเชียลมีเดียมากขึ้น

“หลังจากโควิดมาตลาดมีคู่แข่งเยอะ บวกกับประเด็นเรื่องเงินเฟ้อทำให้supplier farmer ต้องการปรับราคาวัตถุดิบ รวมทั้งค่าเช่า ค่าไฟก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นตรงนี้เป็น challenge ของแบรนด์ที่ต้องรับมือเพื่อไม่ให้ค่าใช้จ่ายนั้นกลายเป็นการผลักภาระไปให้ผู้บริโภค โดยหาวิธีนำเสนอโซลูชั่นใหม่ๆให้ลูกค้าเพื่อทำให้เกิดความแตกต่าง ซึ่งตอนนี้ผู้บริโภคไม่ได้ต้องการให้เราลดราคาแต่ต้องการให้เพิ่มคุณภาพและเพิ่ม value for money

แลนด์สเคป \"ร้านอาหาร\" เปลี่ยน ไม่สนราคา ปลุกตลาดพรีเมียมคึกคัก

เราเชื่อว่าประสบการณ์ 30 ปีและการมีคาแรคเตอร์ของตัวเอง บวกกับจำนวนสาขาที่เยอะกว่าจะทำให้เราอยู่ได้นานแน่นอน เพราะตอนนี้เทรนด์คนเอเชียหันมาทานสเต็กมากขึ้นเห็นได้จากการเติบโตเฉลี่ย 5-7% เพราะในตลาดคู่แข่งที่เป็น Premium steak ยังมีไม่เยอะมาก และราคาค่อนข้างสูง ซึ่งเราก็มีความพยายามทุกภาคส่วนที่จะให้ราคาเท่าเดิมแต่เราเสริมคุณภาพขึ้นปรับรสชาติปรับเมนูเพิ่มประสบการณ์ให้กับลูกค้ามากขึ้น”

อย่างไรก็ตาม ในช่วง 3 เดือนแรกของไตรมาส 1 ปี 2566 ซิซซ์เล่อร์ ยังเติบโตตามเป้าหมายจากกำลังการใช้จ่ายภาคครัวเรือนฟื้นตัว ส่งผลให้จำนวนผู้ใช้ทราฟฟิกเพิ่มขึ้นทั้งการรับประทานที่หน้าร้าน ,ดีลิเวอรี และTake away ดังนั้นปีนี้คาดว่า ซิซซ์เล่อร์ จะสามารถกลับไปเติบโตเท่ากับช่วงก่อนโควิดได้อย่างแน่นอน

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,879 วันที่ 16 - 19 เมษายน พ.ศ. 2566