“เซ็น กรุ๊ป” เข็น 5 ธุรกิจกวาดรายได้ปี 66 แตะ 4.5 พันล้านบาท

07 มี.ค. 2566 | 22:10 น.

“เซ็น กรุ๊ป” สปีดธุรกิจร้านอาหารหลังโควิด เปิดเกมบุกยึดหัวหาดไฮเปอร์มาร์เก็ต-ต่างจังหวัด ดั๊มพ์ต้นทุนเพิ่มกำไร พร้อมดันพอร์ตค้าปลีกเสริมรายได้ปี 66 เข้าเป้า 4.5 พันล้านบาท

ธุรกิจร้านอาหารกลับมาคึกคักอีกครั้งหลังจากตกที่นั่งลำบากในช่วงโควิดจากสถานการณ์การแพร่ระบาดที่ลากยาว บวกกับมาตรการล็อกดาวน์ ปิดห้าง-ปิดร้านอาหารทำให้รายได้และกำไรธุรกิจร้านอาหารร่วงกราว โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าในปี 2566 นี้มูลค่ารวมธุรกิจร้านอาหารจะอยู่ที่ 4.18 – 4.25 แสนล้านบาท หรือเติบโตประมาณ 2.7 – 4.5% จากปีก่อน โดยเฉพาะร้านอาหาร Full Service ที่เป็นกลุ่มร้านอาหารที่อยู่ในห้างสรรพสินค้า และร้านนอกห้างสรรพสินค้าที่มีชื่อเสียง จะเห็นการเติบโตแบบชัดเจนขึ้น 

ร้านอาหารอากะ พร้อมกับภาพการแข่งขันที่หนักหน่วงของผู้เล่นในอนาคต ที่งัดไม้เด็ดออกมาคึกคักหวังทวงคืนรายได้และมาร์เก็ตแชร์ที่ลดลงในช่วงโควิดกลับคืนมาและสร้างการเติบโตแบบก้าวกระโดดให้ได้เร็วที่สุด ล่าสุด บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ เซ็น กรุ๊ป ผู้เล่นเบอร์ต้นในอุตสาหกรรมเร่งสปีดรุกธุรกิจร้านอาหารหลังโควิดแบบเต็มสปีดทั้ง 5 เสาหลักเพื่อกวาดรายได้เข้าพอร์ต 4.5 พันล้านบาทภายในสิ้นปีนี้

 

นายบุญยง ตันสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปัจจุบัน“เซ็น กรุ๊ป” มีพอร์ตธุรกิจในมือมากกว่า 10 แบรนด์ โดยหลักการของธุรกิจคือการสร้างธุรกิจร้านอาหารที่มีความแตกต่าง โดยเน้นการพัฒนาแบรนด์ขึ้นเองและขยายการลงทุนด้วยตัวเองและแฟรนไชส์ทั้งในและต่างประเทศ ที่สำคัญคือการสร้างระบบนิเวศน์ธุรกิจให้ครบตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ 

นายบุญยง ตันสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)

“ เซ็น กรุ๊ป เป็นธุรกิจร้านอาหารดังนั้นสิ่งที่เป็นหัวใจสำคัญคือ “วัตถุดิบ”  เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมาเราเริ่มลงทุนในธุรกิจต้นน้ำ โดยติดต่อ supplier ที่เป็น SME ใน  2 บริษัท  “คิง มารีน ฟู้ดส์” และ “เซ็น แอนด์ โกสุม อินเตอร์ฟู้ดส์” ในการซัพพลายวัตถุดิบโลวคอลและวัตถุดิบพรีเมียมนำเข้า และต่อยอดมาเป็นธุรกิจกลางน้ำ โดยใช้สินค้าและวัตถุดิบที่ลูกค้าเคยทานในร้านมาผลิตเป็นสินค้าretail วางจำหน่ายทั้งซุปเปอร์มาเก็ต ออนไลน์และออฟไลน์  ส่วนธุรกิจปลายน้ำเรานำมาวัตถุดิบเหล่านี้มาเสิร์ฟเป็นเมนูต่างๆในร้านอาหารในเครือของเราทั้งอาหารไทยและอาหารญี่ปุ่นที่มีกว่า 300 สาขา”

ทั้งนี้ปี 2565 เป็นปีทองของ  “เซ็น กรุ๊ป” ในรอบ 32 ปี เพราะสามารถสร้างการเติบโตต่อสาขาสูงที่สุดตั้งแต่เปิดธุรกิจมา  สร้างรายได้สูงที่สุดตั้งแต่ดำเนินธุรกิจมา กำไรสูงที่สุดและอัตราการทำกำไรสูงที่สุดที่เคยทำธุรกิจมา โดยมีรายได้ถึง 3,413 ล้านบาท กำไรสุทธิ 154 ล้านบาท เติบโต 51%จากตัวเลขติดลบ 92 ล้านบาท ในช่วงโควิด 

ร้านอาหารตามสั่ง "เขียง"

สำหรับเป้าหมายปี 2566 ผู้บริหารมองว่า   “เซ็น กรุ๊ป”  จะต้องทำอัตราการเติบโตที่สูงไม่แพ้ปี 2565 โดยการเติบโตน่าจะอยู่ที่ 30-40% ทั้งจากสาขาเดิมและสาขาใหม่ที่กำลังจะขยายเพื่อผลักดันรายได้ทั้งปีแตะ  4,500 ล้านบาทและเป็นนิวไฮสำหรับปีนี้ โดยสัดส่วนรายได้ของ 5 เสาธุรกิจหลักยังคงไม่มีการเปลี่ยนแปลง พระเอกของกรุ๊ปยังคงเป็น 1.ธุรกิจร้านอาหาร ครองสัดส่วน74%  มีร้านอาหารในเครือกว่า 10 แบรนด์ กว่า 345 สาขา ในปีนี้ธุรกิจนี้จึงถูกโฟกัสเป็นพิเศษเพื่อทำรายได้และกำไรของสาขาเดิม ปรับโมเดลธุรกิจให้กระชับ ทันสมัย และขยายกว่า 90 สาขาทั้งสาขาที่ลงทุนเองและแฟรนไชส์ โดยเน้นพื้นที่น่านน้ำใหม่ เช่น ต่างจังหวัดทั้งเมืองหลักและเมืองรองที่ไม่เคยไป พร้อมกับนำเทคโนโลยีRobot, QR Ordering/Payment, Cashless และ CRM มาใช้ จัดการค่าใช้จ่ายทั้งต้นทุนและแรงงาน

2. retail ครองสัดส่วน 13% ของพอร์ต ปัจจุบันมี 2 ธุรกิจจากการลงทุน “คิง มารีน ฟู้ดส์” และ “เซ็น แอนด์ โกสุม อินเตอร์ฟู้ดส์”  เมื่อ 2 ปีที่แล้ว เป็นตัวขับเคลื่อน หลังจากประสบปัญหาต้นทุนสูงขึ้นและวัตถุดิบขาดตลาด การลงทุนในทั้ง 2 ธุรกิจนอกจากเป็นการนำเข้าวัตถุดิบเพื่อซัพพอร์ตแบรนด์ร้านอาหารในเครือแล้วยังสามารถขยายไปสู่ธุรกิจ B2B ในการเป็น supplier ให้กับร้านอาหารทั่วไป  ในปีที่ผ่านมาธุรกิจนี้สามารถสร้างรายได้ 390 ล้านบาท ในปีนี้บริษัทตั้งเป้ายอดขายเติบโต 40% หรือมีรายได้ 500 ล้านบาท รวมทั้งออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เช่นน้ำจิ้มแจ่ว ออกสู่ตลาด 

3 ธุรกิจแฟรนไชส์ทั้งในและต่างประเทศ ปัจจุบันครองสัดส่วน 7% ในปีนี้จะขยายฐานลูกค้าใหม่และมองหาตลาดใหม่ โดยส่งแบรนด์ ตำมั่ว และเขียง เข้าทำตลาดใน มาเลเซีย กัมพูชา เวียดนาม ลาวเพิ่ม และตลาดใหม่เช่น เกาหลีใต้ รวมทั้งการขายวัตถุดิบให้แฟรนไชส์เพื่อควบคู่คุณภาพอาหารให้เท่ากันทุกสาขา

4 ธุรกิจ delivery และ e-commerce ครองสัดส่วน 6%  ในปีนี้จะเริ่มปรับปรุงระบบเพิ่มจำนวนสมาชิกจากกลุ่มBig Order ผ่านแอพพลิเคชัน ZEN GROUP และ 1376 Delivery  รวมทั้งขยายฐานลูกค้าจาก B2C เป็น B2B โดยเน้นขาย Voucher แก่องค์กร 

และ5 new business ซึ่งบริษัทมีการลงทุนและซื้อธุรกิจใหม่ๆเข้ามาเสริมพอร์ตผ่าน 2 โมเดลธุรกิจคือการเข้าไปลงทุนในธุรกิจใหม่ๆในรูปแบบของ M&A หรือ Joint Venture และขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง

ร้านอาหารตำมั่ว

“ปีนี้เราตั้งงบลงทุน 300 ล้านบาท โดยงบลงทุน 60-70 ล้านบาทจะเป็นการลงทุนในเทคโนโลยี ส่วนที่เหลือจะใช้เป็นการขยายสาขาปรับปรุงสาขาและรีโนเวทสาขาให้ทันสมัย โดยเฉพาะในต่างจังหวัดหลังจากที่ผ่านมาเราเน้นขยายในเขตกรุงเทพฯ ซึ่งหลังจากวันนี้ไปเราจะเริ่มรุกขยายสาขาในไฮเปอร์มาร์เก็ต ปัจจุบันเราเริ่มขยายแบรนด์อากะในบิ๊กซีและโลตัส ในไฮเปอร์มาร์เก็ตหรือห้างสรรพสินค้าท้องถิ่น ทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัดเพราะมีความสามารถในการทำอัตรากำไรสูงกว่า เพราะต้นทุนแรงงานและค่าเช่าที่ถูกกว่าซึ่งตอนนี้เรากำลังเจรจาโลเคชั่นใหม่ๆเพิ่มทั้งห้างค้าปลีกเทียร์ 2 และเทียร์ 3”