“ทีดี ตะวันแดง” ลงดาบโชห่วยนอกลู่ยักยอกทรัพย์ร้านถูกดีฯ

24 ม.ค. 2566 | 09:57 น.

ทีดี ตะวันแดง ตั้งโต๊ะสยบดราม่า “ร้านถูกดี มีมาตรฐาน” รังแกโชห่วย สั่งลงดาบแจ้งความฐานยักยอกทรัพย์ หลังคู่สัญญานำส่งเงินล่าช้า 80 ครั้ง ห้ามพนักงานเข้าขนย้ายทรัพย์สิน ยันสินค้าและอุปกรณ์ในร้านเป็นกรรมสิทธิ์ที่บริษัทลงทุนให้100% ร่วม 1 ล้านบาท

เกิดเป็นดราม่าทั่วโลกโชเชียลและถูกนำเสนอบนพื้นที่สื่อสำหรับประเด็น หนึ่งในร้านโชห่วยคู่สัญญา “ ร้านถูกดี มีมาตรฐาน” เครือบริษัท ทีดี ตะวันแดง จำกัด ถูกยึดร้านโชห่วย ซึ่งนายเสถียร เสถียรธรรมะ ประธานกรรมการ บริษัท ทีดี ตะวันแดง จำกัด ได้ออกมาชี้แจงประเด็นนี้ว่า “ร้านถูกดี มีมาตรฐาน” เป็นธุรกิจภายใต้บริษัท ทีดี ตะวันแดง จำกัด ที่เปิดตัวใน พ.ศ. 2561 โดยมีวิสัยทัศน์ในการสร้างเครือข่ายร้านค้าปลีกของชุมชน โดยชุมชน เพื่อชุมชน ปัจจุบันมีร้านค้าที่เข้าร่วมเป็น ร้านถูกดี มีมาตรฐาน ทั้งหมดมากกว่า 5,000 ร้านค้า
ร้านถูกดี มีมาตรฐาน
สำหรับกรณีที่บริษัทเข้าดำเนินการปิดร้าน “ถูกดี มีมาตรฐาน” ของคู่สัญญารายหนึ่งในจังหวัดเชียงรายนั้น โดยคู่สัญญาดังกล่าวได้เปิดร้านถูกดีฯ ในวันที่ 14 ส.ค. 2565 หลังจากเปิดดำเนินการ ทางร้านค้ามีการโอนเงินล่าช้าอย่างต่อเนื่องมากกว่า 80 ครั้ง จาก 130 ครั้ง และในเดือนพ.ย. ทีมนับสต๊อกของบริษัทได้เข้าตรวจนับสต๊อก และพบว่ามียอดสินค้าสูญหายสูงกว่าส่วนแบ่งรายได้ ทางบริษัทจึงนำรายได้ของร้านค้ามาหักชำระค่าสินค้าสูญหายก่อน ซึ่งไม่พอชำระ ทำให้ไม่มีเงินรายได้ของร้านค้าเหลือให้โอนไปในวันที่ 7 ธ.ค. 2565

จนกระทั่งเมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2565 บริษัทได้ส่งหนังสือไปถึงร้านค้าดังกล่าว เพื่อทวงถามการชำระเงินของวันที่ 6-14 ธ.ค. และกำหนดให้ชำระเข้ามาภายใน 3 วัน เมื่อถึงกำหนดชำระและบริษัทไม่ได้รับเงินดังกล่าว จึงได้ออกจดหมาย ณ วันที่ 22 ธ.ค. เพื่อแจ้งยกเลิกสัญญา และกำหนดเข้าปิดร้านในวันที่ 26 ธ.ค. ต่อมาในวันที่ 25 ธ.ค. เวลา 20.49 น. ทางร้านค้าได้โอนยอดเงินค้างชำระมาให้กับบริษัท ซึ่งการชำระนี้เลยกำหนดที่บริษัทได้ให้กับทางร้านค้าไปแล้ว


บริษัทจึงยืนยันเข้าไปปิดร้านตามที่นัดหมายไว้ในจดหมาย แต่ไม่สามารถที่จะเข้าไปเก็บทรัพย์สินของบริษัทออกมาจากร้านได้ เพราะทางร้านค้าไม่อนุญาตให้พนักงานของบริษัทเข้าไปในร้าน ภายหลังบริษัทพยายามนัดเข้าไปปิดร้านอีกครั้งในวันที่ 17 ม.ค. 2566 แต่ในครั้งนี้ก็ไม่สามารถขนย้ายสินค้าและทรัพย์สินของบริษัทออกมาได้ จึงจำเป็นต้องแจ้งความผู้ดำเนินการในข้อหายักยอก ซึ่งมีพยานหลักฐานเพียงพอเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงจะดำเนินการให้ โดยขณะนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ออกหมายเรียกผู้ดำเนินการรายนี้แล้ว
 

“โมเดลร้านถูกดี มีมาตรฐาน เกิดขึ้นจากการที่เราต้องการแก้ปัญหาของร้านโชห่วยไม่มีเงินทุนในการซื้อสินค้ามาหมุนเวียนและไม่มีองค์ความรู้ในการบริหารจัดการร้านต่างๆ บนวิสัยทัศน์ที่เราต้องการสร้างร้านค้าปลีกโดยชุมชน เพื่อชุมชน หลักการง่ายๆ คือเราจะเป็นผู้ลงทุนให้ในส่วนของสินค้าทุกชนิด และอุปกรณ์ทั้งหมดภายในร้าน เช่นชั้นวางสินค้า ตู้เย็น เครื่องคิดเงินอัตโนมัติ (POS) ป้ายสินค้า กล้องวงจรปิด ระบบที่ใช้ในการดำเนินการร้านค้า มูลค่าต่อร้านค้าเกือบ 1 ล้านบาท

ร้านถูกดี มีมาตรฐาน
ส่วนทางเจ้าของร้านจะต้องลงทุนในส่วนของการปรับปรุงร้านค้าให้ได้ตามมาตรฐาน และ เงินค้ำประกันสัญญา 2 แสนบาท ซึ่งทุกคนทราบดีว่าสินค้าและอุปกรณ์ในร้านค้าเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัท เมื่อขายสินค้าได้เจ้าของร้านต้องนำส่งรายได้จากการขายสินค้าให้บริษัทในวันทำการธนาคารถัดไปภายในเวลา 21.00 น. และต้องยินยอมให้บริษัทส่งเจ้าหน้าที่เพื่อเข้าไปนับสต๊อกสินค้า หากมีสินค้าสูญหาย ทางผู้ดำเนินการจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ
ในกรณีที่ร้านค้าไม่นำส่งเงิน เราจะทวงถามและถ้าไม่ส่งเงินเข้ามาเกิน 3 วัน เราจะหยุดส่งสินค้า และวันที่ 4 เราจะส่งจดหมายแจ้งเตือนเป็นหลักที่เราปฏิบัติมาตลอดและกรณีส่วนใหญ่ขอผ่อนผันซึ่งเหตุผลส่วนใหญ่คือนำเงินไปหมุนหรือนำไปใช้หนี้นอกระบบก่อน
เรื่องนี้คู่กรณีโพสต์ผ่านโซเชียลมีเดียว่าเปิดร้านมา 2 เดือนไม่ได้รับส่วนแบ่งเลยจนนำมาซึ่งกรณีพิพาทและมีการปิดร้านและแจ้งความดำเนินการในข้อหายักยอก เพราะทรัพย์สินในร้านเป็นกรรมสิทธิ์ของเรามีสัญญาต่อกันที่ชัดเจน กรณีนี้เราไม่มีทางเลือกต้องนำเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายให้ตำรวจเป็นผู้นัดเจรจา เพราะเมื่อเราถูกโจมตีย่อมส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือแก่พาร์ทเนอร์ของเราทั้งกว่า 5,000 ราย และสมาชิกลูกค้าเกือบ 1 ล้านรายที่ซื้อขายกับเราเป็นประจำ และทราฟฟิกที่เข้าร้านประมาณ 5 ล้านรายจาก 5,000 กว่าร้านค้าด้วย”

นายเสถียร เสถียรธรรมะ ประธานกรรมการ บริษัท ทีดี ตะวันแดง จำกัด
นายเสถียร กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมามีเจ้าของร้านที่เปิดร้านถูกดี มีมาตรฐานที่เปิดร้านกับเราและมีปัญหาเรื่องนำส่งเงินช้า ส่วนใหญ่70-80% จะเข้าสู่กระบวนการผ่อนผัน ซึ่งบริษัทให้ผ่อนผันมาโดยตลอดเพราะหากมีการปิดร้านคนที่เสียหายเยอะที่สุดคือบริษัท เงินค้ำประกันสัญญา 200,000บาทที่เจ้าของร้านต้องจ่ายนั้นไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายในร้าน เนื่องจากทรัพย์สินที่ได้กลับมาไม่สามารถนำไปให้ร้านใหม่นำมาใช้ต่อได้เพราะมีร่องรอยการใช้งานบริษัทจะต้องขายเป็นสินทรัพย์มือสองซึ่งราคาหายไปเกินครึ่ง ส่วนสินค้าที่อยู่ในร้านไม่สามารถนำไปส่งให้ร้านอื่นได้เช่นกัน จำเป็นต้องนำมาขายลดราคาขาดทุนความเสียหายมากกว่า 5 แสนบาทเป็นอย่างน้อย
“ที่ผ่านมาถ้าเราผ่อนผันได้เราผ่อนผันให้หมด และยังจับมือกับสถาบันการเงินตั้งคลินิกแก้หนี้ให้ ถ้าเราไม่ช่วยเขาเขาก็จะลุกขึ้นมาไม่ได้ เราเป็นคนแรกที่กล้าทำร้านแบบนี้ด้วยแนวคิดว่าอยากจะพลิกชีวิตโชห่วยให้รวยได้ ธุรกิจของเราจะโตได้ก็ต่อเมื่อร้านที่มาเปิดร้านการค้าขายดี เราก็จะมีรายได้จากส่วนแบ่งที่เขาขายได้ ตอนนี้ธุรกิจร้านถูกดี มีมาตรฐานมียอดขาดทุนสะสมกว่า 3,000 ล้านบาท ซึ่งเราคาดหวังว่าภายในสิ้นปีนี้จะสามารถล้างขาดทุนได้”


นอกจากนี้ผู้บริหารยังชี้แจงกรณีผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ สมฤดี สุขสมหวัง ลงข้อความโจมตีบริษัทให้เสื่อมเสียชื่อเสียงมาตลอด ตั้งแต่เดือน ส.ค. 2565 ที่ผ่านมา บริษัทขอแจ้งให้ทราบว่าบุคคลนี้ไม่มีความเกี่ยวข้องกับบริษัท ไม่เคยเป็นพาร์ทเนอร์ร้านถูกดีฯ และข้อความที่ปรากฏอยู่บนเฟซบุ๊ก ไม่เป็นความจริงโดยบริษัทได้ทำการแจ้งความในข้อหาหมิ่นประมาท และนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จสู่ระบบคอมพิวเตอร์ไปแล้วถึง 2 ครั้ง
จากการสืบสวนเบื้องต้นของเจ้าหน้าที่ตำรวจ พบข้อมูลที่สอดคล้องกับการตรวจสอบของบริษัทว่า ผู้ใช้เฟซบุ๊กรายนี้ ไม่มีตัวตนอยู่จริง เป็นเพจอวตาร มีการนำรูปบุคคลอื่นมาเป็นรูปโปรไฟล์ของตนเอง และกระจายข่าวอันเป็นเท็จ เพื่อทำให้บุคคลอื่นเสื่อมเสีย จึงขอให้ทุกท่านอย่าหลงเชื่อกับข้อความอันเป็นเท็จของผู้ใช้เฟซบุ๊กรายนี้