‘ฟู้ด ออเดอรี่’ เปิดศึก ‘ฟู้ดเดลิเวอรี่’ ดั๊มพ์ค่า GP เหลือ 10%

22 ม.ค. 2566 | 10:15 น.

“ชาติชาย พยุหนาวีชัย” อดีตบิ๊กแบงก์ออมสิน คุมทัพ “ฟู้ด ออเดอรี่” เปิดเกมฟู้ดเดลิเวอรี่ แจ้งเกิด “eatsHUB” ปั้นแพลตฟอร์มรับ-ส่งอาหารด้วยโมเดล social enterprise หั่นค่า GP เหลือ 10-12% กดดันคู่แข่งพร้อมผนึกตลาดสด 40 แห่ง เจาะลูกค้า B2B

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ประธานกรรมการ บริษัท ฟู้ด ออเดอรี่ จำกัด เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ปัจจุบันแพลตฟอร์มให้บริการรับ-ส่งอาหารกำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทั้งจากผู้ประกอบการร้านอาหารที่พาเหรดเข้าร่วมบนแพลตฟอร์มและผู้ใช้งานอื่น โดย “ฟู้ด ออเดอรี่” มีเป้าหมายยกระดับขึ้นเป็นบริษัท Tech company ชั้นนำในไทย ดังนั้นจำเป็นจะต้องมีผู้บริหารและผู้ที่มีประสบการณ์ด้านการเงิน การธนาคารเข้ามาช่วย หลังจากเข้ามาดูแล “ฟู้ด ออเดอรี่”พบว่าเป็นบริษัทที่ไม่ได้เน้นแต่กำไรสูงสุด อาจจะเรียกว่าเป็น Social enterprise ก็ได้

เนื่องจากในธุรกิจแพลตฟอร์มให้บริการรับ-ส่งอาหาร ปกติเก็บ GP ราว 30% แต่ “eatsHUB” ภายใต้ “ฟู้ด ออเดอรี่” จัดเก็บ GP ราว 10-12% เป็นการช่วยเหลือเศรษฐกิจภาคอาหารและร้านค้ารายเล็ก เสียค่าใช้จ่ายให้กับแพลตฟอร์มถูกลง ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจฐานรากเช่น street food หรือร้านค้าเล็กๆ ด้วย

‘ฟู้ด ออเดอรี่’ เปิดศึก ‘ฟู้ดเดลิเวอรี่’ ดั๊มพ์ค่า GP เหลือ 10%

“หลังโควิดแม้ว่าคนจะออกมาใช้ชีวิตนอกบ้านมากขึ้น สั่งเดลิเวอรีน้อยลง แต่พฤติกรรมของคนเริ่มเปลี่ยนไปโดยส่วนใหญ่ยังต้องการความสะดวกสบาย โดยเฉพาะการสั่งอาหารผ่านแพลตฟอร์ม ดังนั้น “eatsHUB” หรือแพลตฟอร์มอื่นๆยังเป็นที่นิยมอยู่ จนกลายเป็นนิว นอร์มอลไปแล้ว ถ้าสังเกตจากยอดของการสั่งอาหารออนไลน์ในปี 2564 มียอดสั่งอาหารผ่านออนไลน์กว่า 5.5 หมื่นล้านบาท แต่ปี 2565 ยอดการสั่งซื้อเพิ่มขึ้น 27% เป็นกว่า 7 หมื่นล้านบาท

ปัญหาของการสั่งซื้ออาหารผ่านแพลตฟอร์มคือ แพลตฟอร์มทั้งหลายเรียกค่า GP สูง ทำให้ร้านค้ากำไรลดลง และหันมาลดปริมาณอาหารลงหรือขึ้นราคาเพื่อชดเชยกำไรที่หายไป ในขณะที่ฝั่งผู้ซื้อเองต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าสั่งหน้าร้าน แต่ถ้าร้านอาหารสามารถขายอาหารหรือสินค้าในราคาที่ถูกกว่าหรือเท่ากับหน้าร้านเชื่อว่าคนส่วนใหญ่จะเลือกสั่งอาหารทางออนไลน์ เพราะฉะนั้นแพลตฟอร์มนี้น่าจะยังเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคอยู่อย่างต่อเนื่อง”

‘ฟู้ด ออเดอรี่’ เปิดศึก ‘ฟู้ดเดลิเวอรี่’ ดั๊มพ์ค่า GP เหลือ 10%

นอกจากบริการสั่งอาหารผ่านแพลตฟอร์ม “eatsHUB” แล้ว “ฟู้ด ออเดอรี่” ยังมีความชำนาญการทำ call center เป็น point of sale ลูกค้าสามารถโทรมาสั่งอาหารได้ ดังนั้นการที่ลูกค้าสามารถเลือกใช้บริการได้หลายช่องทางทำให้คล่องตัวกว่า และ ฟู้ด ออเดอรี่ เองพยายามสื่อสารกับผู้บริโภคว่าบริษัทไม่ได้ต้องการกำไรสูงสุด

เพราะมีความร่วมมือกับทางหน่วยราชการหรือดีป้าที่เข้ามาเป็นเหมือนผู้ถือหุ้นคนหนึ่งในลักษณะ Matching funds ผ่านโครงการ dVenture เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจทางด้านดิจิตอลให้มีความคล่องตัว โดยเฉพาะแพลตฟอร์มที่เป็นของคนไทย เพื่อทำให้ผู้บริโภคหรือประชาชนคนไทยได้รับบริการที่ดีในราคายุติธรรม และเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้คู่แข่งหรือผู้ให้บริการเจ้าอื่นๆ ต้องปรับโครงสร้างราคาหรือลดราคาลงมา เพื่อทำให้สามารถแข่งขันได้

ปัจจุบัน “eatsHUB” มีร้านอาหารที่เข้าร่วมเป็นพันธมิตรกว่า 2.6 หมื่นร้าน มีไรเดอร์กว่า 3,000 คนและมียอดดาวน์โหลดมากกว่า 7 แสนดาวน์โหลดแต่อาจต้องใช้เวลาอีกระยะในการเป็นแพลตฟอร์มที่เป็นที่ยอมรับของประชาชนมากขึ้นและทำให้ “eatsHUB” ยังสามารถแข่งขันกับคู่แข่งได้

‘ฟู้ด ออเดอรี่’ เปิดศึก ‘ฟู้ดเดลิเวอรี่’ ดั๊มพ์ค่า GP เหลือ 10%

สำหรับปี 2566 บริษัทตั้งเป้าเพิ่มจำนวนร้าน จำนวนผู้ใช้และจำนวนไรเดอร์ไม่ต่ำกว่า 20% จากปีที่แล้ว ดังนั้นการเติบโตของ “eatsHUB” จะเป็นลักษณะค่อยๆเติบโตขึ้น ขณะเดียวกันก็พัฒนาแพลตฟอร์มให้แข็งแกร่งและมี เซอร์วิสที่ดี มีความเสถียรให้มากขึ้นเพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน รวมทั้งพัฒนาทำแพลตฟอร์มให้สามารถรองรับการให้บริการทั้งอาหารสดและอาหารอาหารสำเร็จรูป ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างการเจรจากับตลาดต่างๆเพื่อให้ลูกค้าร้านอาหาร ร้านขนมที่อยู่บริเวณใกล้เคียงตลาดสามารถสั่งซื้อผักผลไม้ผ่านแพลตฟอร์มได้

ทั้งนี้เพื่อขยายธุรกิจ “eatsHUB” ไปนอกเหนือจากลูกค้า B2Cในปัจจุบัน ซึ่งบริษัทตั้งเป้าจะขยายตลาดที่ร่วมแพลตฟอร์มจำนวนไม่ต่ำกว่า 40 ตลาดในปีนี้และปีหน้าจะขยายไปเป็น 150 ตลาด แต่ละตลาดจะรองรับและให้บริการลูกค้าที่เป็นทั้งพ่อค้าแม่ค้า (B2B) หรือประชาชนทั่วไปได้ในอาณาเขตประมาณ 3-5 กิโลเมตรรอบตลาดเพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการรายย่อยสามารถลดต้นทุนได้

หน้า 16 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,855 วันที่ 22 - 25 มกราคม พ.ศ. 2566