ตลาดเบียร์ โค้งท้าย ไม่คึก ไฮเนเก้นจ่อปรับราคา เหตุต้นทุนพุ่งต่อเนื่อง

08 พ.ย. 2565 | 12:00 น.

“ไฮเนเก้น” ชี้ตลาดเบียร์ปี 65 เติบโตแค่ 3-5% เทศกาลลานเบียร์ไม่คึกคัก นักดื่มยังกังวลรวมตัวสังสรรค์ จับตาปีหน้าต้นทุนวัตถุดิบพุ่งทั้งการขนส่ง บรรจุภัณฑ์ ส่งสัญญาณปรับราคาขึ้นอีกระลอก ขณะที่การเก็บภาษีเบียร์ 0% ส่งผลแจ้งเกิดเซ็กเมนท์ใหม่ยาก

นายปริญ มาลากุล ณ อยุธยา รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยเอเชีย แปซิฟิค บริวเวอรี่ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายเบียร์ “ไฮเนเก้น” เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ปัจจุบันตลาดเบียร์มีมูลค่าราว 2 แสนล้านบาท โดยคาดว่าในปีนี้น่าจะมีการเติบโตราว 3-5 % จากปีก่อน และในช่วงสิ้นปีหรือเทศกาลปีใหม่ที่จะถึงนี้ตลาดเบียร์อาจไม่คึกคักเท่าที่ควรเนื่องจากยังอยู่ในช่วงที่ทำกิจกรรมการตลาดยาก

              

“ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาคิดว่าทำการตลาดยากเพราะโควิด ทำให้โดนสั่งห้ามทำและมีข้อจำกัดเยอะ แต่ปีนี้ประเทศเริ่มเปิดและกลับมาทำกิจกรรมได้ แต่ผู้ประกอบการเองไม่รู้จะจัดกิจกรรมอย่างไร เพราะผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมหลายอย่าง ถ้ามีการจัดกิจกรรมยังไม่รู้ว่าจะมีผู้เข้าร่วมมากน้อยแค่ไหนยิ่งมีข่าวอิแทวอน เข้ามาคนก็ยิ่งกลัวและอาจจะไม่เข้าร่วมกิจกรรม สุดท้ายในมุมของผู้บริโภคหลังจากที่ปิดประเทศมานานพอเริ่มเปิดเริ่มมีกิจกรรมก็ยังมีมู้ดสวิงอยู่พอสมควร”

              

ขณะที่ช่วงปลายปีจะเป็นช่วงของเทศกาลลานเบียร์หรือเบียร์การ์เด้นท์ แต่ปีนี้ลานเบียร์อาจไม่คึกคักเหมือนช่วงก่อนโควิด ซึ่งมองว่าปีนี้เซ็นทรัลเวิลด์จะไม่มีลานเบียร์ แต่สถานที่อื่นๆเล็กๆน้อยๆคงจะยังมีอยู่ ส่วนของไฮเนเก้นเองที่ผ่านมาไม่ได้จัดกิจกรรมลานเบียร์เป็นเรื่องเป็นราว แต่อาจจะทำลานเบียร์เป็นเรื่องเป็นราวในอนาคต แต่ในปีนี้ไฮเนเก้น มีกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นหลายอีเว้นท์ เช่น ไปร่วมแจมกับเอาท์เลตต่างๆ มีกิจกรรมบันเทิง มหรสพ และกิจกรรมอื่นๆ เป็นต้น

              

อย่างไรก็ตามนอกเหนือจากบรรยากาศการบริโภคที่อาจซบเซาแล้ว ธุรกิจเบียร์ยังได้รับผลกระทบจากวัตถุดิบที่สูงขึ้นจนหลายแบรนด์ทยอยปรับราคาขายขึ้น รวมทั้งไฮเนเก้น ซึ่งได้ปรับราคาเบียร์ไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ส่วนจะมีการปรับราคาขึ้นอีกครั้งหรือไม่ผู้บริหารมองว่ามีความเป็นไปได้ แต่ต้องดูสถานการณ์โดยเฉพาะต้นทุนหลายส่วนเป็นสิ่งที่ผู้ผลิตไม่สามารถควบคุมได้ ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนพลังงานแต่คาดว่าต้นทุนพลังงานน่าจะมีแนวโน้มที่จะนิ่งไม่กระฉูดขึ้นไปมากกว่านี้และไม่ลงพรวดพราดอย่างแน่นอน

ปริญ มาลากุล ณ อยุธยา               

นอกจากนี้ยังมีต้นทุนวัตถุดิบทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นมอลต์ ฮอป ขวด อลูมิเนียม กล่อง ซึ่งมองตามเทรนด์มีแนวโน้มที่ราคาจะปรับตัวสูงขึ้น เพราะส่วนหนึ่งวัตถุดิบที่ใช้ผลิตในปีนี้เป็นสต๊อกวัตถุดิบที่มีการสั่งซื้อล่วงหน้าในราคาเดิม ดังนั้นในปีหน้าโดยรวมแล้วต้นทุนน่าจะมีการปรับตัวสูงขึ้นรวมทั้งค่าขนส่งต่างๆก็จะเพิ่มขึ้นเช่นกัน

              

ท้ายที่สุดขึ้นอยู่กับว่าบริษัทต่างๆรวมทั้งไฮเนเก้นเองจะสามารถบริหารต้นทุนและค่าใช้จ่ายอื่นๆได้มากน้อยแค่ไหน ถ้าสามารถปรับราคาให้อยู่ในระดับที่ประทังได้ก็ยังสามารถคงราคาขายได้ แต่หากไม่สามารถบาลานซ์ค่าใช้จ่ายต่างๆได้โอกาสปรับราคาขึ้นก็ต้องมีสูง ดังนั้นในเรื่องต้นทุนอาจต้องรอให้พ้นสิ้นปีนี้ไปก่อน รวมทั้งดูสถานการณ์แวดล้อมทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาและการเมืองว่าจะมีทิศทางอย่างไร

              

ส่วนกรณีที่กรมสรรพสามิตจะจัดเก็บภาษีสรรพสามิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 0% หรือเบียร์ 0% ซึ่งปัจจุบันในตลาดเมืองไทยมีไฮเนเก้น เป็นผู้เล่นรายเดียวโดยเริ่มเปิดตลาดในไทยเมื่อ 3 ปีก่อน โดยนายปริญ กล่าวแสดงความคิดเห็นว่า ในตลาดต่างประเทศเบียร์ 0% จะกินสัดส่วน 5-10% ของตลาดเบียร์ในโซนยุโรป เบียร์ 0% เป็นตลาดที่ค่อนข้างพัฒนาและได้รับความนิยมสูง ตามมาด้วยตลาดอเมริกาที่ได้รับการตอบรับที่ดีมากเช่นกันส่วนในโซนเอเชีย สิงคโปร์และเวียดนามมีการพัฒนาเบียร์ 0% และการตอบรับสูงพอสมควร

              

ขณะที่ญี่ปุ่นและเกาหลีเบียร์ 0% เป็นเทรนด์ที่กำลังมาพอสมควร แต่สำหรับประเทศไทยถือว่ายังเป็นระยะเริ่มต้นของเครื่องดื่มมอลต์ไม่มีแอลกอฮอล์หรือเบียร์ 0% ซึ่งไฮเนเก้นเองเปิดตัว “ไฮเนเก้น 0.0” ในช่วงของโควิดพอดีดังนั้นในการทำการตลาดจึงมีข้อจำกัดพอสมควร ตอนนี้ในตลาดมี “ไฮเนเก้น 0.0” เป็นผู้เล่นในตลาดรายเดียว แต่เชื่อว่าปีนี้น่าจะมีอีกหลายบริษัทที่มองว่าเบียร์ 0% เป็นตัวเลือกของผู้บริโภคและมีโอกาสการเติบโต และในปีหน้าตลาดน่าจะมีการเติบโตอีกมากเมื่อมีผู้เล่นใหม่ๆเข้ามาช่วยกันทำตลาด”

              

ทั้งนี้ปัจจัยที่ทำให้ตลาดเบียร์ 0.0% ในเมืองไทยเติบโตช้า มาจากการรับรู้ในเรื่องฟังก์ชันนอลของตัวสินค้าอาจจะยังน้อยแต่โดยหลักการแล้วการที่ตลาดจะเกิดขึ้นได้จะต้องเกิดจากความร่วมมือของหลายๆ ภาคส่วน ทางรัฐต้องช่วยผู้ประกอบการ และถ้าเป็นไปได้ในตลาดควรจะต้องมีผู้ประกอบการมากกว่า 1 รายออกสินค้ามาขายในตลาดเพื่อให้มีสินค้าทางเลือก

              

อย่างไรก็ตามหากรัฐมีการจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มมอลต์ไม่มีแอลกอฮอล์หรือเบียร์ 0.0%เพิ่ม “ไฮเนเก้น” จะไม่ออกจากตลาดเพราะมองว่าเบียร์ 0.0% เป็นสิ่งที่องค์กรแสดงความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค รับผิดชอบต่อตัวเองและรับผิดชอบต่อประเทศ เพราะฉะนั้นต่อให้ถูกจัดเก็บภาษีเพิ่มหรือผลประกอบการยังไม่ดีไฮเนเก้นจะยังต้องทำต่อไป

 

หน้า 16 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,833 วันที่ 6 - 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565