“ไฮเนเก้น” ค้านสรรพสามิตรีดภาษี “เบียร์ 0%”

31 ต.ค. 2565 | 11:22 น.

“ไฮเนเก้น” ไม่เห็นด้วยกรมสรรพสามิตศึกษาขึ้นภาษีสรรพสามิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 0% เรทเดียวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ พ้อปัจจุบันเสียภาษี14% สูงกว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บางประเภท ย้ำหากรัฐขึ้นภาษีจริง จะไม่ออกจากตลาดแน่นอน

จากที่กรมสรรพสามิตเผยว่ากำลังศึกษาการจะขึ้นภาษีสรรพสามิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 0%  ซึ่งหนึ่งในเครื่องดื่มนี้คงหนีไม่พ้นเครื่องดื่มมอลต์ที่ไม่มีแอลกอฮอล์ หรือที่รู้จักกันในชื่อที่เรียกว่า เบียร์ 0% ซึ่งในตลาดไทยเป็นเซกเมนต์ใหม่ที่มีผู้เล่นเพียงรายเดียวคือ “ไฮเนเก้น”  ที่เริ่มทำตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 0% ภายใต้แบรนด์ “ไฮเนเก้น 0.0” 

นายปริญ มาลากุล ณ อยุธยา รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยเอเชีย แปซิฟิค บริวเวอรี่ จำกัด

นายปริญ มาลากุล ณ อยุธยา รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยเอเชีย แปซิฟิค บริวเวอรี่ จำกัด ในฐานะผู้ประกอบการและจัดจำหน่ายเครื่องดื่มมอลต์ไม่มีแอลกอฮอล์ ตรา ไฮเนเก้น ศูนย์จุดศูนย์ เปิดเผยว่า เครื่องดื่มมอลต์ไม่มีแอลกอฮอล์น่าจะเป็นทางเลือกของผู้บริโภคที่ดื่มเบียร์แต่ไม่ต้องการได้รับผลกระทบจากการดื่มเช่น ดื่มแล้วต้องขับรถ คนที่ต้องการดูแลสุขภาพ  การขึ้นภาษีจะเป็นการตัดทางเลือกของผู้บริโภค บริษัทจึงไม่เห็นด้วยที่กรมสรรพสามิตจะจัดตั้งหมวดหมู่ใหม่เพื่อจัดเก็บภาษีที่เทียบเคียงกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือเบียร์

 

“การที่ภาครัฐอยากจะจัดหมวดหมู่ใหม่ของเครื่องดื่มมอลต์ไม่มีแอลกอฮอล์ ให้ขึ้นมาจ่ายภาษีสูงกว่าเครื่องดื่มทั่วไปหรือให้ใกล้เคียงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือเบียร์เราบอกว่าไม่น่าจะใช่แนวคิดที่ถูกต้อง เพราะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามกฏหมายจะต้องมีปริมาณแอลกอฮอล์มากกว่า0.05% แต่  “ไฮเนเก้น 0.0” มีปริมาณแอลกอฮอล์ต่ำกว่า0.01%”

 

ทั้งนี้ในต่างประเทศส่วนใหญ่จะไม่จัดเก็บภาษีเครื่องดื่มมอลต์ไม่มีแอลกอฮอล์ ขณะที่บางประเทศจัดเก็บภาษีตามเครื่องดื่ม soft drink  หากเครื่องดื่มมอลต์ไม่มีแอลกอฮอล์หรือเบียร์ 0.0% โดนเก็บภาษีโอกาสที่ตลาดจะเกิดจะยากขึ้นกว่าเดิม เพราะในกลุ่มผู้ผลิตเบียร์ปัจจุบันยังไม่มีรายไหนผลิตเบียร์0.0% ออกสู่ตลาดแต่มีการปรับสูตรลดปริมาณแอลกอฮอล์ให้น้อยตามเทรนด์ของโลกที่ผู้บริโภคเริ่มดื่มเครื่องดื่มที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ลดลงไม่ใช่ประเด็นทางด้านภาษีเป็นหลัก

 

อย่างไรก็ตามรายได้รัฐบาลจากการจัดเก็บภาษีปี2564 กรมสรรพสามิตมีรายได้จากการจัดเก็บภาษีสูงสุดเป็นอันดับ2 ราวๆ 531,607 ล้านบาท หรือหรือ18.79%  ของโครงสร้างภาษี โดยภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาจากภาษีเบียร์58.93% และสุรา41.07% ส่วนหนึ่งเป็นเพราะช่วงโควิดไม่มีการเลี้ยงฉลอง ไม่มีการสังสรรค์ทำให้สุราขายได้น้อย ต่างจากเบียร์ที่สามารถดื่มคนเดียวได้ ซึ่งอาจไม่เพียงพอทำให้กรมสรรพสามิตต้องมองหาแหล่งรายได้ใหม่ๆ  และภาษีเบียร์เป็นภาษีสำคัญที่กรมสรรพสามิตตั้งเป้าหมายอยู่แล้วเพราะมองว่าเบียร์จัดเป็นสุราแช่ เพราะมีการต้ม สกัด ข้าวบาร์เลย์กับฮอป ปริมาณแอลกอฮอล์ไม่เกิน15%  ซึ่งหากมีการจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มมอลต์ไม่มีแอลกอฮอล์หรือเบียร์ 0.0%เพิ่ม “ไฮเนเก้น” จะไม่ออกจากตลาดเพราะมองว่าเบียร์ 0.0%อนาคตของทั้งบริษัทและผู้บริโภค

 

อย่างไรก็ตรามบริษัทฯ มีความเชื่อมั่นว่าหลังจากที่กรมสรรพสามิตได้ศึกษาและวิเคราะห์อย่างละเอียด สำหรับอัตราภาษี ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 0% คงไม่ตัดสินใจขึ้นภาษีของเครื่องดื่มมอลต์ไม่มีแอลกอฮอล์  เนื่องจากเป็นสินค้าทางเลือกที่ช่วยการดื่มอย่างรับผิดชอบต่อสังคมและตัวเอง ลดผลกระทบต่อสังคม ที่อาจเกิดขึ้น ภายใต้อิทธิพลของแอลกอฮอล์ ดังนั้นจึงควรเป็นเครื่องดื่มที่ได้รับการสนับสนุนมากกว่า

 

อย่างไรก็ตาม จากที่มีข่าวว่ากรมสรรพสามิตกำลังศึกษาแนวทางการจัดหมวดหมู่ภาษี สรรพสามิตใหม่ ให้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 0% สูงกว่าเดิมแต่น้อยกว่าเบียร์นั้น ตนเองไม่เห็นด้วย เนื่องจากการขึ้นภาษีแต่ละครั้ง แม้จำนวนเปอร์เซ็นต์จะฟังดูน้อย แต่เมื่อคำนวนจริงแล้วจะมีผลต่อราคา ขายปลีกปลายทางอย่างมีนัยสำคัญ เป็นการสร้างภาระให้กับผู้บริโภคในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัว ทั้งยัง นับว่าเป็นการตั้งกำแพงให้ผู้ที่ต้องการดื่มอย่างรับผิดชอบต่อสังคม อาจส่งผลให้ผหันไปสู่เครื่องดื่ม แอลกอฮอล์ที่มีราคาถูกกว่าแทนที่ แม้จะมีปริมาณแอลกอฮอล์สูง อันจะส่งผลต่อสุขภาพตนเอง และส่งผลกระทบต่อสังคมก็ตาม