เปิดเวทีเสวนา “กล้าเฟส : สุขอุราไทย” หนุนแก้ก.ม.เครื่องดื่มแอลกอฮอล์

28 ส.ค. 2565 | 07:55 น.

พรรคกล้า เปิดเวทีจัดเสวนา “กล้าเฟส : สุขอุราไทย” รวมเครือข่ายสุรา เดินหน้านโยบายแปรรูปสินค้าเกษตร เป็นสุราพรีเมียม หนุนแก้ไข พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สร้างโอกาสให้เกษตรกร เพิ่มความสามารถแข่งขันด้านท่องเที่ยว

นายวรวุฒิ อุ่นใจ รองหัวหน้าพรรคกกล้า กล่าวว่า การจัดงานเสวนา “กล้าเฟส : สุขอุราไทย” ขึ้นเพื่อเดินหน้านโยบายแปรรูปสินค้าเกษตร เป็นสินค้าพรีเมียม ขยายโอกาสให้เกษตรกร เพิ่มความสามารถด้านการแข่งขันท่องเที่ยว โดยการแปรรูปเป็นสุรา เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่สามารถเพิ่มมูลค่าสินค้าจากผลผลิตการเกษตรได้ เหมือนที่ต่างประเทศทำ

 

เช่น ญี่ปุ่น ยังนำเข้าข้าวจากประเทศไทยไปทำสุราชั้นดี ขายทั้งในประเทศ และกลับมาขายให้ประเทศไทย ทั้งที่ทำจากข้าวไทย จึงเกิดเป็นคำถามว่าทำไมประเทศไทยถึงผลิตเองไม่ได้ แล้วก็ค้นพบว่า กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการผลิต และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการขายสุรา อย่าง พ.ร.บ.ควบคุม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยังมีอุปสรรคหลายอย่างที่ไม่เอื้ออำนวย

เปิดเวทีเสวนา “กล้าเฟส : สุขอุราไทย” หนุนแก้ก.ม.เครื่องดื่มแอลกอฮอล์

“การเชิญผู้ประกอบการ วิสาหกิจชุมชน คนทำคนขายสุรา ไวน์ เบียร์ นักวิชาการ นักการตลาด นักการเมือง เข้าร่วมเสวนากันวันนี้ มีจุดมุ่งหมายอยากให้มีการปลดล็อกเงื่อนไขหลายๆ อย่าง ที่ยังเป็นอุปสรรคต่อการทำมาหากินของคนตัวเล็กๆ ซึ่งสุราเป็นตัวอย่างหนึ่ง ที่จะขยายขอบเขตไปถึงการขยายโอกาสอีกหลายๆ อย่าง ที่ไม่ใช่แค่ทำให้ขายง่ายขึ้นเท่านั้น แต่ยังเพิ่มกำลังซื้อสินค้าเกษตร เพิ่มศักยภาพการท่องเที่ยว ยํ้าว่าเราไม่ได้สนับสนุนให้คนดื่มแอลกอฮอล์มากขึ้นแต่เราต้องการขยายโอกาสให้กว้างขึ้น ปรับปรุงกฎหมายให้ทันสมัย ได้ประโยชน์ทั้งรายใหญ่และรายเล็ก”

 

ด้านนายธนากร คุปตจิตต์ ที่ปรึกษาสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย (TABBA) กล่าวว่า พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 รวมถึงกฎหมายลูกซึ่งบังคับใช้มากว่า 14 ปี มีปัญหาความคลุมเครือไม่ชัดเจน มีการใช้ดุลพินิจ จนก่อให้เกิดปัญหาการบังคับใช้กฎหมายอย่างไม่เป็นธรรม เป็นอุปสรรคในการประกอบอาชีพโดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจท่องเที่ยวและบันเทิง ร้านอาหาร และผู้ค้าปลีกต่าง ๆ

 

ตัวอย่างเช่น การห้ามขายระหว่างเวลา 14.00 – 17.00 น. และหลังเที่ยงคืน การห้ามขายผ่านช่องทางออนไลน์ และการควบคุมฉลาก ไม่ได้ทำให้ปัญหาการดื่มแอลกอฮอล์ลดลงตามเป้าหมายขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่จะลดการดื่มอย่างเป็นอันตรายลงไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ภายในปี พ.ศ. 2568 แต่กลับสร้างผลกระทบต่อผู้ประกอบธุรกิจ ซึ่งรัฐควรส่งเสริมการให้ความรู้แก่ผู้บริโภคให้ตระหนักถึงโทษภัยของการดื่มอย่างเป็นอันตรายซึ่งเป็นป้องกันและแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน

 

ขณะที่ผศ.ดร. เจริญ เจริญชัย นักวิชาการด้านเทคโนโลยีอาหาร แอดมินเพจสุราไทย และผู้เสนอร่างแก้ไขพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กล่าวถึงจุดเริ่มต้นในการรวบรวมรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน10,942 คน เสนอร่างแก้ไข พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ว่า มีข้อกฎหมายที่ซํ้าซ้อนกับกฎหมายอื่นที่มีอยู่แล้ว สร้างความเดือดร้อนหวาดกลัวแก่ผู้ทำสุราพื้นบ้าน ผู้ประกอบการรายเล็ก ผู้บริโภค

 

รวมถึงแอดมินเพจซึ่งโพสต์ภาพหรือเนื้อหาเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งที่ไม่มีเป้าหมายทางการค้า แต่ต้องถูกดำเนินคดี เพราะกฎหมายมุ่งเน้นการควบคุมอย่างเข้มงวด ไม่ใช่การกำกับดูแลละเมิดสิทธิของผู้บริโภค กีดกันภาคเอกชนจากการมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย โดยเนื้อหาของร่างแก้ไขกฎหมาย ปรับปรุงให้เหมาะสมกับเป้าหมายการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ20 ปี (พ.ศ. 2561 - 2580) โดยเฉพาะในประเด็นด้านการท่องเที่ยวและการส่งเสริมผู้ประกอบการและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมยุคใหม่

 

นางสาวสุวิสุทธิ์ โลหิตนาวี ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและประชาสัมพันธ์ กราน-มอนเต้ (GranMonte) เขาใหญ่ (มีมี่ กราน-มอนเต้) กล่าวว่า วันนี้ภูมิใจมากที่ไวน์ไทยแท้ ได้รับการยอมรับและเป็นที่ชื่นชอบของบริโภคทั้งในและต่างประเทศ ได้รับรางวัลเหรียญเงินและเหรียญทองจากเวทีระดับโลก ไร่องุ่นและไวเนอรี่ถูกพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวครบวงจร

 

แต่กฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ตอบโจทย์ด้านการส่งเสริมหรือพัฒนาการท่องเที่ยว รวมถึงธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม แล้วยังด้อยค่าบรรยากาศการท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวต่างชาติที่ต้องใช้เวลาเดินทางหลายชั่วโมงมาที่ไร่ แต่ต้องห้ามเสิร์ฟและขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ช่วง 14.00 – 17.00 น. ทำให้นักท่องเที่ยวต้องผิดหวัง ดื่มและซื้อไวน์กลับไม่ได้ ขายออนไลน์ก็ไม่ได้ สวนทางกับกระแสโลกและเทรนด์ผู้บริโภค

 

นายศุภพงษ์ พรึงลำภู หุ้นส่วนโรงเบียร์สหประชาชื่น (ตูน Sandport) กล่าวบนเวทีเสวนาเดียวกันว่า นอกจากวิกฤติโควิด 19 ที่สถานประกอบการถูกสั่งปิดยาวนาน กฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยังซ้ำเติม กีดกันการฟื้นฟูและเติบโตของสตาร์ทอัพ (Startup) และเอสเอ็มอี (SME) ปิดกั้นเสรีภาพและความคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่

 

ทำให้อุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทยขาด ความหลากหลาย คราฟท์เบียร์ของคนไทยคนตัวเล็กไม่สามารถแข่งขันได้ แม้ว่าจะมีคุณภาพเป็นที่ยอมรับ การันตีด้วยรางวัลระดับโลกก็ตาม กฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จึงเป็นกฎหมายหวังดี ที่หลงลืมสิทธิเสรีภาพของผู้ประกอบการและผู้บริโภค คนดื่มถูกสร้างภาพให้เป็น “คนบาป” คนทำคนขายเหล้าถูกประณามว่าเป็น “คนไม่ดี”

 

ปัญหาการดื่มอย่างผิดๆ ต้องแก้ที่การให้ความรู้ ให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้ดื่มอย่างพอดีและรับผิดชอบ ลงโทษผู้เมาแล้วขับอย่างตรงไปตรงมา อยากเห็นรัฐบาลไทยเหมือนรัฐบาลต่างประเทศ ที่ส่งเสริมคราฟท์เบียร์ สุราพื้นบ้าน ทำเป็น Soft Power สร้างรายได้ สร้างชื่อเสียงให้ประเทศ เหมือนเบียร์เยอรมันและเบลเยี่ยม สาเกของญี่ปุ่น โซจูของเกาหลี และสก็อตวิสกี้