ปลดล็อก ธุรกิจกลางคืน ดันเงินสะพัด 3- 4 แสนล้าน

20 พ.ค. 2565 | 04:40 น.

เอกชนเดินหน้าชงแผนศบค.พิจารณาปลดล็อกธุรกิจกลางคืน นำร่องใน 28 จังหวัดเป็นเฟสแรก ย้ำหากสำเร็จจะมีเงินสะพัด 3-4 แสนล้าน พร้อมสานต่อเฟส 2 ดึงทัวริสต์เข้าประเทศช่วงไฮซีซั่น เผยพิษโควิดฉุดตลาดแอลกอฮอล์สูญกว่า 8 หมื่นล้าน

การท่องเที่ยวถือเป็นเครื่องยนต์ใหญ่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และเพื่อให้ธุรกิจด้านการท่องเที่ยวเดินหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ หลังรัฐบาลปลดล็อกมาตรการด้านการเดินทางเข้าประเทศ รวมถึงผ่อนปรนมาตรการการเดินทางท่องเที่ยว เหลือเพียงการท่องเที่ยวในภาคธุรกิจกลางคืนที่ยังคงมีมาตรการควบคุมเข้มข้น ส่งผลกระทบอย่างหนักทั้งทางตรงและทางอ้อมเป็นเวลากว่า 2 ปี

 

ทำให้ผู้ประกอบการต่างพยายามผลักดัน ให้ศบค.พิจารณาทบทวนการอนุญาตให้เปิดสถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการท่องเที่ยวกลางคืน ต่อที่ประชุม ศบค.ที่มีขึ้นในวันที่ 20 พ.ค. 2565 เพื่อให้พิจารณาเปิดประเทศและทบทวนการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่างๆ เพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยเร็ว

ภาพรวมธุรกิจแอลกอฮอล์

นายธนากร คุปตจิตต์ ที่ปรึกษาสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย (TABBA) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เพื่อให้การบริหารจัดการสอดคล้องกับสภาพการณ์ปัจจุบันระหว่างโรคโควิด-19 กับเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยเฉพาะการท่องเที่ยวเพื่อการกลับคืนฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วขึ้นและอย่างยั่งยืน ซึ่งไม่ใช่เฉพาะการท่องเที่ยวภาคกลางวัน แต่การท่องเที่ยวภาคกลางคืนก็มีส่วนสำคัญ เพราะมีผู้เกี่ยวข้องทั้งผู้ประกอบการตรง ผู้ประกอบการที่เกี่ยวเนื่อง นักร้อง นักดนตรี ลูกจ้าง พนักงาน ฯลฯ รวมกว่า 1 ล้านคน

 

ทั้งนี้สมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทยร่วมกับพันธมิตรสมาคมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจกลางคืน ในการนำเสนอแผนในการอนุญาตให้เปิดสถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ เป็นการเปิดแบบนำร่องเพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดเพิ่มขึ้นและใช้ในการวิเคราะห์สถานการณ์โควิด-19 รวมถึงเพื่อสามารถนำมาใช้ประกอบการพิจารณาเปิดประเทศและอนุญาตให้เปิดสถานบันเทิงทั้งหมดเต็มรูปแบบทั่วประเทศอีกด้วย

           

โดยเบื้องต้นอนุญาตให้เปิดกิจการสถานบริการ ผับ บาร์ คาราโอเกะ ที่ได้รับรองมาตรฐาน SHA Plus หรือ Thai Stop COVID 2 Plus และผ่านการตรวจประเมินโดยคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครหรือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด โดยการเปิดกิจการแบ่งเป็น 2 เฟส ได้แก่

 

เฟส 1 เป็นระยะทดลอง มีผลตั้งแต่วันที่ 1-30 มิ.ย. 2565 เฉพาะในพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว 28 จังหวัดที่ปรากฏตามบัญชีรายชื่อจังหวัดพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว หลังจากนั้นประเมินสถานการณ์ หากเป็นไปในด้านดี รัฐบาลก็สามารถพิจารณาขยายการอนุญาตให้เปิดสถานบันเทิงในจังหวัดที่คงเหลือเป็นเฟส 2 ต่อทันที ซึ่งจะรองรับกับการวางแผนเดินทางท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามาในช่วงไฮซีซั่นตั้งแต่เดือนกันยายนเป็นต้นไป

ธนากร คุปตจิตต์

“วันนี้ประเทศเพื่อนบ้านและทั่วโลกต่างเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติกันหมดแล้ว และผ่อนปรนมาตรการต่างๆแบบไม่มีกั๊ก เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ หากประเทศไทยผ่อนปรนให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาได้ แต่ภาคธุรกิจโดยเฉพาะธุรกิจกลางคืนยังไม่สามารถเปิดบริการได้ นักท่องเที่ยวเหล่านั้นจะใช้บริการอะไร ที่ไหน ก็จะเสียโอกาส เสียรายได้เหล่านี้ เพราะนักท่องเที่ยวต่างชาติเองก็จะเลือกไปกประเทศที่มีความพร้อมมากกว่า”

 

อย่างไรก็ดีเบื้องต้นประเมินว่า หากรัฐผ่อนปรนให้ภาคธุรกิจกลางคืนกลับมาเปิดบริการได้เต็มรูปแบบจะทำให้เศรษฐกิจกลับมาคึกคัก และมีเม็ดเงินสะพัด 3-4 แสนล้านบาทเลยทีเดียว

 

นายธนากร กล่าวอีกว่า การผ่อนปรนครั้งนี้ไม่ได้ส่งผลโดยตรงต่อธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทย เพราะธุรกิจแอลกอฮอล์เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่อยากให้มองภาพรวมของธุรกิจกลางคืน ซึ่งจากข้อมูลของททท. พบว่า นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในเมืองไทย

 

จะใช้จ่ายในเรื่องของอาหาร-เครื่องดื่ม 20% ที่พัก 28% ช้อปปิ้ง 24% ที่เหลือเป็นค่าใช้จ่ายอื่นๆ ขณะที่รายได้จากธุรกิจแอลกอฮอล์มีสัดส่วนราว 30% หรือคิดเป็น 1.2 แสนล้านบาท จากสัดส่วนการใช้จ่ายค่าอาหาร-เครื่องดื่มทั้งหมด ซึ่งเกิดจากธุรกิจโดยรวม

เครื่องดื่มแอลกอฮอล์            

ขณะเดียวกันต้องยอมรับธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในเมืองไทย ได้รับผลกระทบอย่างหนักในช่วงที่ผ่านมาส่งผลให้มูลค่าตลาดโดยรวมลดลงไปถึง 22.2% หรือกว่า 8 หมื่นล้านบาท จากปี 2562 ซึ่งมีมูลค่าตลาดกว่า 3.3 แสนล้านบาท ลดลงเหลือ 2.7 แสนล้านบาทในปี 2563

 

และในปี 2564 ที่แม้สถานการณ์ช่วงปลายปีจะฟื้นกลับมา มีการผ่อนปรนมาตรการให้ร้านอาหารกลับมาเปิดให้บริการได้ แต่ตลาดโดยรวมก็ยังไม่มีการเติบโตขึ้น ดังนั้นในปีนี้จึงคาดหวังว่าศบค. จะผ่อนปรนเพื่อให้ธุรกิจกลับมาคึกคักและเติบโตได้ แม้จะเป็นสัดส่วนที่น้อยก็ตามที

 

“ยังมีอีกหลายประเด็นที่จะช่วยให้ธุรกิจบริการในภาคการท่องเที่ยวกับมาได้ ไม่ว่าจะเป็น การทบทวนยกเลิกเวลาห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเวลา 14.00-17.00 น. เพราะเป็นกฎหมายที่ล้าสมัยมีมากว่า 50 ปี และส่งผลกระทบและรบกวนในการประกอบธุรกิจด้านโรงแรม การทบทวนเกี่ยวกับโซนนิ่ง (zoning) หรือห้ามขายในสถานที่หรือบริเวณใกล้สถานศึกษา

 

ซึ่งส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวด้านโรงแรมและการค้าปลีก แนวคิดนี้เกิดขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ที่เรียกว่าฉบับ “ล้มแล้วลุกไว” ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นอย่างรวดเร็ว ไม่ได้คิดขึ้นมาแบบลอยๆ”

 

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศราฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,785 วันที่ 22 - 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2565