เจาะงบประมาณ "บุคลากรภาครัฐ" ทะลุ 7.8 แสนล้านบาท

07 มี.ค. 2567 | 10:16 น.

เปิดรายละเอียดงบประมาณ “บุคลากรภาครัฐ” ของไทย ทั้งข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐ ลูกจ้าง พนักงานรัฐวิสาหกิจ ล่าสุด ปี 2567 สำนักงบประมาณจัดสรรวงเงินไว้รอ 7.8 แสนล้านบาท เช็คข้อมูลเชิงลึกกระทรวงไหนได้มากสุด-น้อยสุด

ไม่นานมานี้มีประเด็นน่าสนใจเกี่ยวกับข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี “เศรษฐา ทวีสิน” หลังจากได้เสนอในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา ขอให้ลดการบรรจุอัตรากำลังใหม่ โดยให้มีเฉพาะที่จำเป็นตามกรอบอัตรากำลัง ระเบียบและหลักเกณฑ์ที่สำนักงาน ก.พ. กำหนดไว้เท่านั้น 

หลังนายกรัฐมนตรี รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณ ปี 2567 และคณะอนุกรรมาธิการด้านต่าง ๆ ว่า ยังมีการตั้งงบประมาณซ้ำซ้อนกันในหลายหน่วยงาน เนื่องจากขาดการบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งงบประมาณรายจ่ายประจำยังคงมีสัดส่วนค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับงบประมาณรายจ่ายลงทุน

จึงขอให้ลดงบประมาณรายจ่ายที่ไม่จำเป็นต่าง ๆ ภายใต้การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ลงให้ได้ ซึ่งหนึ่งในรายการที่นายกฯ ต้องการให้ปรับลดลงนั่นก็คือ การขอให้ลดการบรรจุอัตรากำลังใหม่ เพื่อจะนำงบประมาณที่เกี่ยวกับบุคลากรที่ปรับลดลงนี้ ไปจัดสรรเป็นงบประมาณรายจ่ายลงทุน เพื่อใช้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศต่อไป

 

เจาะงบประมาณ \"บุคลากรภาครัฐ\" ทะลุ 7.8 แสนล้านบาท

สำหรับ “งบประมาณรายจ่ายบุคลากร” นั้น ระเบียบว่าด้วยการโอนงบประมาณรายจ่ายบูรณาการและงบประมาณรายจ่ายบุคลากรระหว่างหน่วยรับงบประมาณ พ.ศ.2562 กำหนดคำนิยาม งบประมาณรายจ่ายบุคลากร มีหมายความว่า งบประมาณรายจ่ายที่ตั้งไว้ในแผนงานบุคลากรภาครัฐตามกฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่าย

ฐานเศรษฐกิจ ตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับจำนวนข้าราชการและบุคลากรรัฐ พบข้อมูลของ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (กพ.) สรุปภาพรวมกำลังคนภาครัฐประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 พบว่า ประเทศไทยมีกำลังคนภาครัฐ ทั้งสิ้น 3,199,106 คน แยกเป็น

  • ข้าราชการ 1,775,812 คน
  • กำลังคนประเภทอื่น เช่น ลูกจ้างชั่วคราว พนักงานรัฐวิสาหกิจ พนักงานราชการ พนักงานมหาวิทยาลัย พนักงานจ้าง ลูกจ้างประจำรวม 1,423,294 คน

โดยในปีงบประมาณ 2567 รัฐบาลได้มีการกำหนดงบประมาณรายจ่ายเอาไว้ 3.48 ล้านล้านบาท โดยจำนวนนี้ มีงบประมาณที่เป็นรายจ่ายบุคลาการไว้สูงถึง 785,957 ล้านบาท

ส่วนในปีงบประมาณ 2568 ยังไม่มีการจัดทำรายละเอียดงบประมาณที่เป็นรายจ่ายบุคลาการ แต่มีกรอบวงเงินเบื้องต้น คือ ภายใต้กรอบวงเงินรวม 3.6 ล้านล้านบาท โดยมีรายจ่ายประจำ 2,713,700 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณก่อน 180,873 ล้านบาท

ทั้งนี้ ฐานเศรษฐกิจ ยังได้ตรวจสอบข้อมูลการจัดทำงบประมาณประจำปี 2567 ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของรัฐสภา พบว่า มีการแสดงรายละเอียดของงบประมาณที่เป็นรายจ่ายบุคลาการ วงเงิน 785,957 ล้านบาท แยกเป็นรายกระทรวง และรายหน่วยรับงบประมาณ โดยเรียงจากกระทรวงหน่วยงานที่ใช้งบรายจ่ายในส่วนนี้มากที่สุดไปถึงน้อยที่สุด ดังนี้

  1. กระทรวงศึกษาธิการ มีรายจ่ายบุคลาการ 204,590 ล้านบาท 
  2. กระทรวงสาธารณสุข มีรายจ่ายบุคลาการ 115,564 ล้านบาท 
  3. กระทรวงกลาโหม มีรายจ่ายบุคลาการ 109,164 ล้านบาท 
  4. กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มีรายจ่ายบุคลาการ 79,465 ล้านบาท 
  5. กระทรวงมหาดไทย มีรายจ่ายบุคลาการ 52,542 ล้านบาท 
  6. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีรายจ่ายบุคลาการ 24,227 ล้านบาท 
  7. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีรายจ่ายบุคลาการ 11,248 ล้านบาท 
  8. กระทรวงยุติธรรม มีรายจ่ายบุคลาการ 11,044 ล้านบาท 
  9. กระทรวงการคลัง มีรายจ่ายบุคลาการ 13,178 ล้านบาท 
  10. กระทรวงคมนาคม มีรายจ่ายบุคลาการ 9,694 ล้านบาท 
  11. สำนักนายกรัฐมนตรี มีรายจ่ายบุคลาการ 7,056 ล้านบาท 
  12. กระทรวงแรงงาน มีรายจ่ายบุคลาการ 3,953 ล้านบาท 
  13. กระทรวงการต่างประเทศ มีรายจ่ายบุคลาการ 3,924 ล้านบาท 
  14. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มีรายจ่ายบุคลาการ 2,861 ล้านบาท 
  15. กระทรวงพาณิชย์ มีรายจ่ายบุคลาการ 2,697 ล้านบาท 
  16. กระทรวงวัฒนธรรม มีรายจ่ายบุคลาการ 2,492 ล้านบาท 
  17. กระทรวงอุตสาหกรรม มีรายจ่ายบุคลาการ 1,579 ล้านบาท 
  18. กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มีรายจ่ายบุคลาการ 1,801 ล้านบาท 
  19. กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา มีรายจ่ายบุคลาการ 1,785 ล้านบาท 
  20. กระทรวงพลังงาน มีรายจ่ายบุคลาการ 870 ล้านบาท 

 

นอกจากนี้ส่วนราชการที่ไม่สังกัดสำนักนายรัฐมนตรี กระทรวง หรือทบวง และหน่วยงานภายใต้การควบคุมดูแลของนายกรัฐมนตรี มีรายจ่ายบุคลาการรวม 88,042 ล้านบาท โดยเรียงจากมากที่สุดไปหาน้อยที่สุดในกลุ่มหน่วยงาน  ดังนี้ 

  1. หน่วยงานของศาล มีรายจ่ายบุคลาการ 16,960 ล้านบาท
  2. หน่วยงานขององค์กรอิสระ และองค์กรอัยการ มีรายจ่ายบุคลาการ 13,996 ล้านบาท
  3. หน่วยงานของรัฐสภา มีรายจ่ายบุคลาการ 4,575 ล้านบาท
  4. รัฐวิสาหกิจ มีรายจ่ายบุคลาการ 2,319 ล้านบาท 
  5. หน่วยงานอื่นของรัฐ มีรายจ่ายบุคลาการ 318 ล้านบาท

 

ที่มา : พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี สำนักงบประมาณ