สศช.ชี้ทิศทางลงทุนไทย 2567 เร่งดันเงิน 1 ล้านล้าน ประคองเศรษฐกิจ

08 ม.ค. 2567 | 00:01 น.

สศช. ประเมินทิศทางการลงทุนไทย 2567 ยังมีโอกาสช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แนะภาครัฐเร่งดันโครงการลงทุนเอกชนที่ขอรับสิทธิบีโอไอแล้ว ให้เกิดการลงทุนจริง หลังจากพบยอดตัวเลขสะสมแล้วอย่างน้อย 1 ล้านล้านบาท

รายงานข่าวจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยทิศทางการลงทุนภายในประเทศ ปี 2567 ว่า ภาครัฐควรเร่งรัดโครงการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนที่มีอยู่ในขณะนี้ ให้สามารถเกิดการลงทุนจริงได้โดยเร็ว เพื่อจะช่วยสนับสนุนการลงทุนภายในประเทศในปี 2567 ได้ ซึ่งปัจจุบันมียอดคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนสะสมรวมกันคิดเป็นมูลค่าอย่างน้อยกว่า 1 ล้านล้านบาท

ทั้งนี้ที่ผ่านมาหลังจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นต้นมา พบว่า การขอรับการส่งเสริมการลงทุนผ่านคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2564 มูลค่าคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนอยู่ที่ 4.7 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นเป็น 5.9 แสนล้านบาท ในปี 2565 ซึ่งถือเป็นระดับสูงสุดในรอบ 5 ปี 

ขณะที่ตัวเลขในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 มีมูลค่ารวม 5.2 แสนล้านบาท คิดเป็นการขยายตัวในเกณฑ์สูง 21.9% โดยคำขอรับการส่งเสริมตามกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายมีสัดส่วนเฉลี่ย 70% ของมูลค่าลงทุนรวม

 

สศช.ชี้ทิศทางลงทุนไทย 2567 เร่งดันเงิน 1 ล้านล้าน ประคองเศรษฐกิจ

สำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมายสูงสุด 5 อันดับแรก ซึ่งมีมูลค่ารวมกันประมาณ 1 ล้านล้านบาทมีดังนี้

  1. เครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ มูลค่ารวมตั้งแต่ปี 2564 - 9 เดือนแรกของปี 2566 อยู่ที่ 4.1 แสนล้านบาท สัดส่วน 25.8% 
  2. การเกษตร และแปรรูปอาหาร มูลค่า 1.8 แสนล้านบาท สัดส่วน 11.2% 
  3. ยานยนต์และชิ้นส่วน มูลค่า 1.7 แสนล้านบาท สัดส่วน 10.6%
  4. ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ มูลค่า 1.2 แสนล้านบาท สัดส่วน 7.9%
  5. การแพทย์ มูลค่า 9 หมื่นล้านบาท สัดส่วน 5.6%

ทั้งนี้ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 มีบริษัทต่างชาติที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนแล้วที่สำคัญในแต่ละอุตสาหกรรม ดังนี้ 

  1. อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า อาทิ บริษัท ฉางอัน ออโตโมบิล จำกัด บริษัท โฟตอน ซีพี มอเตอร์ จ่ากัด และบริษัท GAC AION New Energy Automobile Company Limited 
  2. ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อาทิ บริษัท มูราตะ อิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท โตชิบา เซมิคอนดัคเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด 
  3. ไฟฟ้าจากชีวมวล อาทิ บริษัท ซีแอนด์จี เอ็นไวรอนเมนทอล โปรเท็คชั่น (ประเทศไทย) บริษัท นิวสกาย เอ็นเนอร์จี (แบงค็อก) จำกัด 
  4. อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร อาทิ บริษัท น้ำตาลนิวกว้างสุ้นหลี จำกัด เป็นต้น

 

สศช.ชี้ทิศทางลงทุนไทย 2567 เร่งดันเงิน 1 ล้านล้าน ประคองเศรษฐกิจ

สศช. ระบุว่า ภาครัฐควรเร่งดำเนินมาตรการส่งเสริมการลงทุนที่สำคัญ นอกจากกรอบมาตรการภายใต้ยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุน 5 ปี (2566-2570) ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ โดยในช่วงปลายปี 2566 บีโอไอ ได้มีการออกมาตรการการส่งเสริมการลงทุนเพิ่มเติม ดังนี้

1.มาตรการส่งเสริมการลงทุน เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ กระตุ้นและสนับสนุนให้อุตสาหกรรมยานยนต์นำระบบอัตโนมัติหรือหุ่นยนต์มาปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต 

2.อนุมัติจัดตั้งสำนักงานเศรษฐกิจการลงทุนในต่างประเทศเพิ่มเติม 3 แห่ง ทั้งกรุงริยาด ประเทศซาอุดีอาระเบีย, นครเฉิงตู มณฑลเสฉวน สาธารณรัฐประชาชนจีน และ ประเทศสิงคโปร์ 

3.การประสานความร่วมมือปรับปรุงหลักเกณฑ์ เพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการเพื่ออำนวยความสะดวกและลดอุปสรรคในการลงทุน (Ease of Investment) ประกอบด้วย 

  • การปลดล็อกธุรกิจบริการของคนต่างชาติในกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศ 
  • การขยายขอบเขตและอ่านวยความสะดวกในการทำงานของชาวต่างชาติ 
  • การแก้ปัญหาผังเมืองในพื้นที่อุตสาหกรรม 
  • การจัดหาพลังงานสะอาด 
  • การลดขั้นตอนในการขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจของอุตสาหกรรมเป้าหมาย 

4.มาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ระยะที่ 2 (ปี 2567 -2570) หรือ มาตรการ EV 3.5 (วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566) โดยจะมีการลดอากรนำเข้าไม่เกิน 40% สำหรับการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าสำเร็จรูป (CBU) ในช่วง 2 ปีแรก (ปี 2567 - 2568) 

กรณีเป็นรถยนต์ไฟฟ้าที่ราคา ไม่เกิน 2 ล้านบาท และลดอัตราภาษีสรรพสามิตจาก 8% เหลือ 2% สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าราคาไม่เกิน 7 ล้านบาท โดยได้ตั้งเงื่อนไขกระตุ้นการลงทุนในประเทศ ให้ผู้ได้รับการสนับสนุนผลิตเพื่อชดเชยการนำเข้าภายในปี 2569 ในอัตราส่วน 1 : 2 (นำเข้า 1 คัน ผลิตชดเชย 2 คัน) และจะ เพิ่มอัตราส่วนเป็น 1 : 3 ภายในปี 2570 

ทั้งนี้คาดว่าจะช่วยสนับสนุนให้นักลงทุน ทั้งต่างชาติและภายในประเทศพิจารณาขอรับการส่งเสริมการลงทุนเพิ่มเติมมากขึ้น โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเป้าหมาย และจะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญให้การลงทุนภาคเอกชนในปี 2567 ขยายตัวได้ดีขึ้นต่อเนื่อง