เศรษฐา โชว์งบประมาณปี 67 บูมท่องเที่ยว-ลงทุนเมกะโปรเจ็กต์ดึงบริษัทชั้นนำ

03 ม.ค. 2567 | 06:30 น.

เศรษฐา อภิปรายงบประมาณปี 67 จะเกิดอะไรขึ้นบ้างกับเศรษฐกิจไทย กระตุ้นเครื่องยนต์ท่องเที่ยว ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานดึงดูดบริษัทชั้นนำต่างประเทศ อัพเกรด 30 บาทรักษาทุกโรค พัฒนากองทัพ-เกณฑ์ทหารสมัครใจ แก้รัฐธรรมนูญไม่นำไปสู่ความขัดแย้งรอบใหม่

วันที่ 3 มกราคม 2567 ที่รัฐสภา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังลุกขึ้นอภิปรายชี้แจงร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 วงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท ซึ่งมีขึ้นระหว่างวันที่ 3-5 มกราคม 2567 เป็นเวลา 3 วัน โดยแบ่งเป็นผู้อภิปรายจากฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ฝ่ายละ 20 ชั่วโมง 

นายเศรษฐากล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจทั่วไปตามแถลงภาวะเศรษฐกิจของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ ณ วันที่ 20 พฤศจิกายน 2566 เศรษฐกิจไทยในปี 2566 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.5 ซึ่งเป็นเป้าล่าสุดในไตรมาสที่ 3 โดยเป็นเป้าหมายที่ถูกปรับมาเรื่อยๆ โดยหลายหน่วยงาน และยังมีองค์กรต่างประเทศที่ได้ลดการประมาณการขยายตัวลงด้วย

ปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจโลกชะลอตัว-หนี้ครัวเรือนสูง 

นายเศรษฐากล่าวว่า เป้าหมายการขยายตัวนี้ มีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ตามการขยายตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติ และการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการลงทุนภาคเอกชน

เศรษฐา โชว์งบประมาณปี 67 บูมท่องเที่ยว-ลงทุนเมกะโปรเจ็กต์ดึงบริษัทชั้นนำ

นายเศรษฐากล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงจากแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่มีผลต่อภาคการส่งออกสินค้า และภาคการผลิตอุตสาหกรรม รวมทั้งภาระหนี้สินครัวเรือนและภาคธุรกิจที่ยังอยู่ในระดับสูง และความเสี่ยงจากความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศที่อาจส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตร โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ที่เฉลี่ยร้อยละ 1.4 และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 1.0 ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ  

นายเศรษฐากล่าวว่า สภาพัฒน์ได้ประเมินไว้ว่า เศรษฐกิจในปี 2567 คาดว่าจะขยายตัวในช่วงร้อยละ 2.7 - 3.7 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของภาคการส่งออก การอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน รวมทั้งการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว

นายเศรษฐากล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงจากการลดลงของแรงขับเคลื่อนด้านการคลัง ภาระหนี้สินภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจยังอยู่ในระดับสูง ผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งต่อผลผลิตภาคการเกษตร ความเสี่ยงจากการชะลอตัวมากกว่าที่คาดการณ์ของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก ท่ามกลางความเสี่ยงจากความขัดแย้งเชิงภูมิรัฐศาสตร์และความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการเงินโลกที่ยังอยู่ในเกณฑ์สูง โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในช่วงร้อยละ 1.7 – 2.7 และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 1.5 ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ  

เศรษฐา โชว์งบประมาณปี 67 บูมท่องเที่ยว-ลงทุนเมกะโปรเจ็กต์ดึงบริษัทชั้นนำ

ทั้งนี้ ตัวเลขการประเมินข้างต้นอาจถูกกระทบโดยปัจจัยที่คาดไม่ถึงในอนาคต เช่น ภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างประเทศ ราคาพลังงานที่ผันผวน การเกิดขึ้นของเทคโนโลยีสมัยใหม่ และปัจจัยอื่นๆ ในอนาคต

สูญเสียขีดความสามารถแข่งขัน

นายเศรษฐากล่าวว่า ความสัมพันธ์ของงบประมาณรายจ่ายและแผนการพัฒนาประเทศ งบประมาณรายจ่ายปี พ.ศ. 2567 มุ่งทำให้ประชาชนมีชีวิตที่ดีขึ้นผ่านการดำเนินนโยบายที่จะครอบคลุมทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง โดยมีการดำเนินการทั้งระยะเร่งด่วน เพื่อแก้ไขปัญหาระยะสั้นและนโยบายระยะกลางและยาว เพื่อเสริมขีดความสามารถในการเจริญเติบโตของประเทศ

นายเศรษฐากล่าวว่า จากการปรับลดเป้าหมายการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น จนลงมาเหลือเพียงร้อยละ 2.5 ในไตรมาสที่ 3 ของปี พ.ศ. 2566 นั้น แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจของประเทศกำลังสูญเสียความสามารถในการเจริญเติบโต ซึ่งเกิดมาจากปัจจัยทั้งผลกระทบจากพิษเศรษฐกิจช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา การลงทุนของภาคเอกชนที่ลดลง การสูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ต้นทุนค่าใช้จ่ายต่างๆที่สูงขึ้น เป็นต้น

นายเศรษฐากล่าวว่า เศรษฐกิจจึงเป็นเรื่องที่รัฐบาลให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ เนื่องมาจากประชาชนจำนวนมากได้รับผลกระทบโดยตรง จึงเป็นความจำเป็นเร่งด่วนของรัฐบาลนี้ที่จะพลิกฟื้นเศรษฐกิจในระยะสั้น โดยเริ่มจากการสร้างอุปสงค์ (Demand) ในกลุ่มเป้าหมายของนโยบาย นำไปสู่การผลิตสินค้า ที่จะต้องมีการลงทุนในอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อขยายการผลิต ก่อให้เกิดการขยายอุปทาน (Supply) มีการพัฒนาขีดความสามารถในภาคอุตสาหกรรม ยกระดับการผลิตและพัฒนาห่วงโซ่อุปทานให้ใช้เทคโนโลยีที่ดีขึ้นทั้งประเทศ

เครื่องยนต์ท่องเที่ยวกระตุ้นเศรษฐกิจ 

นายเศรษฐากล่าวว่า การท่องเที่ยวยังคงจะเป็นกลไกที่สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยทำให้การท่องเที่ยวเข้าถึงเมืองรองมากขึ้น สร้างงานและอาชีพในพื้นที่ดังกล่าว เพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและบริการในพื้นที่ โดยรัฐบาลจะดึงดูดการท่องเที่ยวด้วยมาตรการต่างๆ ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น นำจุดเด่นทางวัฒนธรรมไปนำเสนอให้กับเวทีโลก สนับสนุนการใช้อัตลักษณ์ของไทยให้เกิดประโยชน์ ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนา Soft Power ของประเทศในระยะยาวด้วย

นายเศรษฐากล่าวว่า ในขณะเดียวกัน ประชาชนจำนวนมากเดือดร้อนจากค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นที่มาของนโยบายการลดรายจ่ายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การแก้ไขปัญหาหนี้ทั้งระบบ ซึ่งครอบคลุมไปถึงหนี้นอกระบบ และหนี้ในระบบ การลดราคาพลังงาน ซึ่งได้ดำเนินการไปแล้ว และกำลังอยู่ในระหว่างการปรับโครงสร้างพลังงานให้เหมาะสม ซึ่งจะทำให้ประชาชนมีค่าใช้จ่ายที่ลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมก็จะสามารถแข่งขันได้มากขึ้น ประชาชนไทยจะเข้าถึงแหล่งงานที่มีคุณค่ามากขึ้น สามารถพัฒนาความรู้ความสามารถที่มาจากภาคอุตสาหกรรมและภาคเอกชนระดับโลกได้ 

ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานดึงดูดบริษัทชั้นนำ

นายเศรษฐากล่าวว่า โดยรัฐบาลจะกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนผ่านสู่อุตสาหกรรมยุคใหม่ สร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศโดยรวม คนไทยจะมีทักษะความสามารถเพิ่มขึ้นจากการทำงานและการอบรม ซึ่งรัฐบาลได้เดินหน้าดึงดูดบริษัทชั้นนำต่างๆ ปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อขจัดข้อจำกัดในการลงทุน วางแผนลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นที่จะเอื้อให้เกิดการลงทุนเกี่ยวเนื่องให้ครอบคลุมทุกมิติ

นายเศรษฐากล่าวว่า การคมนาคมในประเทศจะสะดวกสบายมากขึ้น สามารถรองรับความต้องการได้ในทุกมิติไม่ว่าจะเป็นทางถนน ทางน้ำ ทางราง และทางอากาศ โดยรัฐบาลจะลงทุนอย่างต่อเนื่อง และทำให้การระบบคมนาคมและโลจิสติกส์มีประสิทธิภาพ กลายเป็นหนึ่งในจุดแข็งของประเทศไทย โดยพัฒนาทั้งโครงสร้างพื้นฐาน และการบริหารจัดการให้ดีขึ้น เช่น การเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ (National Single Window) ที่จะทำให้ขั้นตอนการยื่นเอกสารและดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐสะดวกและง่ายดายมากขึ้น เป็นต้น 

นายเศรษฐากล่าวว่า ประเทศไทยจะมีการลงทุนเรื่องน้ำที่ครอบคลุมทั้งระบบ เช่น น้ำในภาคการผลิต ภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม โดยรัฐบาลจะขยายการเชื่อมต่อชลประทานให้มากยิ่งขึ้นเพื่อเตรียมพร้อมรับกับสถานการณ์เอลนีโญ ซึ่งจะเพิ่มโอกาสให้เกษตรกรในการปลูกพืช เลี้ยงปศุสัตว์ ลดต้นทุนในการเข้าถึงน้ำ ทำให้เกษตรกรไม่ต้องเป็นกังวลเรื่องปัจจัยการผลิตอีกต่อไป และทำให้ภาคอุตสาหกรรมไม่เป็นกังวลกับการผลิต ให้ยังคงสามารถลงทุนต่อเนื่องได้

เศรษฐา โชว์งบประมาณปี 67 บูมท่องเที่ยว-ลงทุนเมกะโปรเจ็กต์ดึงบริษัทชั้นนำ

นายเศรษฐากล่าวว่า ทรัพยากรธรรมชาติจะได้รับการดูแล อนุรักษ์ ฟื้นฟู ทั้งป่าไม้ ป่าชายเลน ทะเล ชายฝั่ง ซึ่งเป็นสินทรัพย์ทางธรรมชาติของประเทศ อากาศจะต้องสะอาด ฝุ่นพิษจะต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน และประเทศไทยจะเดินหน้าลดก๊าซเรือนกระจกอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดผลกระทบจากภัยธรรมชาติในระยะยาว ผ่านการใช้เทคโนโลยีคาร์บอนต่ำ และดำเนินมาตรการจูงใจให้ภาครัฐและเอกชนลดการใช้คาร์บอน 

อัพเกรด 30 บาทรักษาทุกโรค

นายเศรษฐากล่าวว่า อีกด้านหนึ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญ คือด้านสังคมและความมั่นคง โดยประชาชนคนไทยจะต้องมีสุขภาวะที่ดีทั้งสุขภาพกาย สุขภาพใจ เข้าถึงงานบริการสาธารณสุขได้อย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ไม่จำเป็นต้องไปต่อคิวอีกต่อไป โดยรัฐจะลงทุนการเชื่อมต่อข้อมูลทั้งระบบ อัพเกรดระบบ 30 บาทรักษาทุกโรคให้ดียิ่งขึ้น 

นายเศรษฐากล่าวว่า รัฐบาลจะดูแลลูกหลานประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากยาเสพติด โดยการปรับปรุงหลักเกณฑ์ผู้เสพให้เป็นผู้ป่วย ซึ่งจะเน้นบำบัดผู้ติดยาและทำให้พวกเขาสามารถกลับคืนสู่ครอบครัวและสังคมได้ รวมทั้งจะสกัดกั้นยาเสพติดที่ลักลอบข้ามพรมแดนไม่ให้สามารถเข้ามาแพร่กระจายได้ ใช้มาตรการการจับกุมและยึดทรัพย์ผู้ผลิต ผู้ค้า และเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง ทำให้ยาเสพติดไม่สามารถแพร่ระบาดในประเทศไทยได้

นายเศรษฐากล่าวว่า ด้านอัตลักษณ์และความเสมอภาค รัฐบาลจะทำให้คนทุกกลุ่มได้รับการคุ้มครองทางกฎหมาย โดยปราศจากเงื่อนไขทางเพศสภาพ อายุ ความเจ็บป่วยของร่างกาย ทำให้ได้รับสิทธิครบถ้วนตามที่กำหนดไว้ และเข้าถึงโอกาสต่างๆ เพื่อสร้างความเสมอภาคทางสังคมที่แท้จริง

นายเศรษฐากล่าวว่า ประชาชนจะไม่ต้องกังวลเรื่องความมั่นคงใดๆ เพราะรัฐจะดูแลให้อย่างครบวงจร ครอบคลุมทั้งความมั่นคงทางด้านกายภาพ เช่น การดูแลชายแดนและชายฝั่งทะเล การพัฒนาความสามารถในการดูแลภัยพิบัติ และช่วยเหลือผู้ประสบภัย การต่อต้านการก่อการร้ายในรูปแบบดั้งเดิม และความมั่นคงทางด้านไซเบอร์ ที่มีแนวโน้มจะขยายความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆโดยจะมีการทำงานอย่างบูรณาการครบทุกส่วน และประชาชนจะไม่รู้สึกเป็นกังวลด้านความมั่นคงในชีวิตและทรัพย์สิน

กองทัพทันสมัย-เกณฑ์ทหารสมัครใจ 

นายเศรษฐากล่าวว่า รัฐบาลจะพัฒนากองทัพให้มีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น สอดคล้องไปกับการพัฒนาความมั่นคงในทุกรูปแบบและให้ตรงกับยุคสมัย ระบบการเกณฑ์ทหารจะเปลี่ยนเป็นแบบสมัครใจ โดยมีการสร้างแรงจูงใจใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาตนเอง การฝึกอาชีพ รวมถึงโอกาสในการประกอบอาชีพหลังจากการเป็นทหารประจำการ ทั้งหมดนี้จะทำให้สถาบันทหารมีความเป็นมืออาชีพ มีภาพลักษณ์ที่ดีและใกล้ชิดกับประชาชนมากยิ่งขึ้น

เศรษฐา โชว์งบประมาณปี 67 บูมท่องเที่ยว-ลงทุนเมกะโปรเจ็กต์ดึงบริษัทชั้นนำ

นายเศรษฐากล่าวว่า ประชาชนคนไทยทุกคนจะสามารถใช้ประโยชน์จากการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้ เป็นการดำเนินนโยบายแบบ “การต่างประเทศที่กินได้” โดยสร้างจุดยืนที่เป็นประโยชน์ต่อคนไทย เป็นประเทศแนวหน้าในภูมิภาค มีอำนาจต่อรอง และได้รับการยอมรับในสากล มีความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นการค้า การลงทุน การดูแลคนไทยในต่างแดน การพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นต้น ทำให้ประเทศและคนไทยรักษาไว้ซึ่งเกียรติภูมิและความภาคภูมิใจ

นายเศรษฐากล่าวว่า ด้านการพัฒนาศักยภาพของคนไทย ประชาชนจะต้องได้รับการศึกษาที่เข้าถึงได้ พัฒนาสถาบันการศึกษาให้มีคุณภาพ และพัฒนาหลักสูตรให้มีมาตรฐานและทันต่อยุคสมัย รวมทั้งขยายโอกาสทางการศึกษาให้ครอบคลุมไปถึงระดับวิชาชีพ เพื่อพัฒนาทักษะสำหรับตลาดแรงงาน หรือผู้ประกอบการยุคใหม่ๆ 

แก้รัฐธรรมนูญไม่ขัดแย้งใหม่

นายเศรษฐากล่าวว่า สุดท้าย ในด้านการเมืองการปกครอง ประชาชนจะได้เห็นการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่จะแก้ไขจุดด้อยของฉบับที่ผ่านมา ผ่านการทำงานที่โปร่งใส และตรวจสอบได้ โดยจะแก้ไขรัฐธรรมนูญบนหลักการที่เป็นไปได้มากที่สุดและเหมาะสมกับสถานการณ์ ไม่นำไปสู่ความขัดแย้งใหม่ในสังคมไทย

นายเศรษฐากล่าวว่า ประชาชนจะได้รับการบริการจากภาคราชการที่เร็วขึ้น สะดวกมากขึ้น ซึ่งในช่วงโควิด-19 หลายๆส่วนราชการก็ได้มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาให้บริการประชาชนมากขึ้น และในขณะเดียวกันประชาชนจำนวนมากก็เริ่มคุ้นเคยกับการใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการใช้บริการ จึงเป็นโอกาสอันดีที่ในปี พ.ศ. 2567 จะใช้งบประมาณรายจ่ายในการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลให้เกิดขึ้นได้เร็วยิ่งขึ้น ซึ่งจะทำให้ประชาชนได้รับบริการที่ดี รวดเร็ว สะดวก มีประสิทธิภาพ ไม่จำเป็นต้องใช้เอกสารกระดาษอีกต่อไป และยังทำให้เชื่อมโยงหลากหลายหน่วยงานเข้าเป็นฐานข้อมูลเดียวกัน มุ่งหน้าไปสู่การเป็น  E-government ที่แท้จริงในอนาคต 

"ประชาชนจะมีส่วนร่วมกับรัฐบาลมากขึ้นผ่านกลไกในระดับชุมชน ซึ่งจะเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคสังคม ทำให้ประชาชนตื่นตัว และช่วยกันพัฒนาประเทศไปเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน"นายเศรษฐากล่าว