อีวี “จีน-ญี่ปุ่น-มะกัน” ฟัดเดือดแข่งปักฐาน ดันไทยผงาดฮับผลิต-ส่งออกโลก

03 ม.ค. 2567 | 03:56 น.

รถอีวีปีมะโรงเดือด ค่ายจีน-ญี่ปุ่น-ยุโรป-อเมริกา แข่งปักฐาน ดันไทยผงาดศูนย์กลางการผลิต ส่งออกโลก บิ๊กโฟร์ญี่ปุ่น โตโยต้า ฮอนด้า อีซูซุ มิตซูบิชิ พร้อมลงสนามประกาศทุ่ม 1.5 แสนล้านเปลี่ยนผ่านสู่รถไฟฟ้าชนค่ายมังกร บีโอไอลุ้น Tesla-Ford บิ๊กอีวีสหรัฐใช้ไทยเป็นฐานผลิต

“รถยนต์” สินค้าส่งออกอันดับ 1 ของไทยมานานนับสิบปียังมีมนต์ขลัง ค่ายรถยนต์ต่างชาติโดยเฉพาะญี่ปุ่นยังเชื่อมั่นใช้ไทยเป็นฐานการผลิต ทำตลาดในประเทศและส่งออกอย่างเป็นลเป็นสัน สร้างงานให้คนไทยหลายแสนตำแหน่ง ปัจจุบันอุตสาหกรรมยานยนต์ของโลกกำลังเปลี่ยนผ่านจากรถยนต์สันดาปภายในที่ใช้น้ำมัน เป็นรถยนต์ไฟฟ้า(EV) ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดโลกร้อน ซึ่งเวลานี้ค่ายรถยนต์ต่างชาติแข่งปักฐานการผลิตในไทยกันอย่างคึกคัก

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ปัจจุบันมีผู้ผลิตรถยนต์ที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (BEV) รวม 16 ราย เงินลงทุนรวมกันกว่า 39,500 ล้านบาท กำลังการผลิตเต็มที่รวมกัน 359,000 คันต่อปี

นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)

ใน 16 รายนี้ มีทั้งผู้ผลิตรถยนต์รายเดิมจากค่ายรถญี่ปุ่นที่เริ่มทยอยเปลี่ยนผ่านไปสู่ EV ได้แก่ Toyota, Honda, Mitsubishi, Isuzu, Nissan ค่ายยุโรป ได้แก่ Mercedes-Benz ส่วนค่ายจีนมี 5 รายที่ได้รับการส่งเสริมแล้ว ได้แก่ SAIC Motor (MG), Great Wall Motor, BYD, Changan, Aion และมี NETA อยู่ระหว่างการยื่นขอรับการส่งเสริม นอกจากนี้มีบริษัทรถยนต์อื่น ๆ ได้แก่ FOMM, Takano, Advanced Mobility, Horizon Plus ของ ปตท. และ MINE Mobility ของ EA

3 ค่ายเริ่มผลิต-จำหน่ายแล้ว

สำหรับโครงการที่เริ่มผลิตและจำหน่ายรถยนต์ BEV แล้ว ได้แก่ Mercedes-Benz, FOMM, Takano ส่วนรายที่เหลือยังอยู่ระหว่างก่อสร้างโรงงานหรือวางแผนเตรียมการผลิต โดยส่วนใหญ่จะเริ่มผลิตภายในปี 2567 เพื่อให้ทันกับการผลิตรถ BEV ชดเชยตามมาตรการ EV3 เช่น Great Wall Motor, MG, BYD, Aion รวมทั้ง Honda ที่ได้ประกาศเดินสายการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า e:N1 ในประเทศไทย

นอกจากการผลิตรถยนต์ BEV แล้วบีโอไอยังให้การส่งเสริมกิจการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ โดยมีผู้ผลิตแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าได้รับการส่งเสริมจำนวน 17 บริษัท เงินลงทุนรวม 11,700 ล้านบาท และผู้ผลิตแบตเตอรี่ความจุสูง (High Density Battery) ซึ่งใช้สำหรับอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น ยานยนต์ ระบบกักเก็บพลังงาน อีกจำนวน 14 บริษัท เงินลงทุน 12,000 ล้านบาท และผู้ผลิตชิ้นส่วนสำคัญของยานยนต์ไฟฟ้า เช่น มอเตอร์ขับเคลื่อน (Traction Motor), ระบบบริหารจัดการแบตเตอรี่ (BMS), ระบบควบคุมการขับขี่ (DCU), Inverter, On-Board Charger จำนวน 18 บริษัท เงินลงทุนรวม 5,970 ล้านบาท

อีวี “จีน-ญี่ปุ่น-มะกัน” ฟัดเดือดแข่งปักฐาน ดันไทยผงาดฮับผลิต-ส่งออกโลก

ขอส่งเสริมสถานีชาร์จ 5,100 ล้าน

อีกกิจการหนึ่งที่มีส่วนสำคัญในระบบนิเวศของยานยนต์ไฟฟ้า คือกิจการสถานีอัดประจุไฟฟ้า (Charging Station) มีผู้ได้รับการส่งเสริม 11 บริษัท เงินลงทุนรวม 5,100 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 18,740 หัวจ่ายกระจายอยู่ทั่วประเทศ ในจำนวนนี้เป็น Quick Charge จำนวน 5,720 หัวจ่าย

ปัจจุบันค่ายรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่จากจีนได้เข้ามาลงทุนในประเทศไทยเกือบทั้งหมดแล้ว ไม่ว่าจะเป็น BYD, SAIC (MG), Great Wall Motor, GAC Aion, Changan และ Neta แต่บีโอไอยังคงเดินหน้าดึงบริษัทรถยนต์รายสำคัญอื่น ๆ ของจีนให้ตัดสินใจเข้ามาลงทุนเพิ่มเติม เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของโลก ซึ่งที่ผ่านมาบีโอไอได้พูดคุยกับผู้บริหารของบริษัทรถยนต์จีนรายใหม่ๆ เช่น Geely ซึ่งเป็นผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ของจีน โดยบีโอไอได้หารือกับบริษัทมาอย่างต่อเนื่องผ่านสำนักงานบีโอไอที่เซี่ยงไฮ้ และตนได้มีโอกาสเดินทางไปพบผู้บริหาร Geely เมื่อกลางปีที่ผ่านมา

“นอกจากนี้ ยังมีบริษัท JAC ที่แสดงความสนใจผลิตรถกระบะไฟฟ้าในประเทศไทย และบริษัท Chery ที่มีแผนนำรถ BEV SUV ทั้ง OMADA และ JAECOO มาทดลองตลาดในปี 2567”

ค่าย EV จีนสปีดออกตัวนำ

สำหรับในปี 2567 มีค่ายรถยนต์จีนที่พร้อมเข้าโครงการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าระยะที่ 2 ( EV 3.5) ทั้ง จีเอซี ไอออน,ฉางอาน และเชอรี่ โดยทั้งหมดมีแผนลงทุนสร้างโรงงานประกอบรถยนต์ในไทยเช่นกัน โดยจีเอซี จะใช้พื้นที่ใน จ.ระยอง เปิดโรงงานผลิต AION Y PLUS ในเดือนกรกฎาคม 2567 ส่วนฉางอาน มีแผนผลิตช่วงไตรมาสแรกปี 2568 ด้าน เชอรี่ กลับมาทำตลาดด้วยแบรนด์ OMODA และ JAECOO โดยบริษัทแม่ที่จีน Chery International จดทะเบียน ตั้งบริษัทลูกในไทย ประเดิมนำเข้าเอสยูวี OMODA 5 EV มาเปิดตัว ในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ตามด้วย JAECOO 8 ช่วงปลายปี

ด้านแผนการผลิตของเชอรี่ ในเฟสที่หนึ่งเตรียมว่าจ้างโรงงานภายนอกประกอบรถให้ในช่วง 2 ปีแรกของการดำเนินธุรกิจ (2567-2568) เริ่มจาก OMODA 5 EV ในไตรมาสที่ 3 หรือ 4 วางกำลังการผลิต 20,000 คันต่อปี

นอกจากผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจากจีนแล้ว รัฐบาลและบีโอไอยังมุ่งดึงการลงทุนจากผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจากทั่วโลก ทั้งค่ายสหรัฐอเมริกา (เช่น Tesla, Ford) ยุโรป (เช่น BMW, Stellantis) และเกาหลีใต้ (เช่น Kia, Hyundai) รวมถึงนายกรัฐมนตรีได้นำทีมเดินสายพบบริษัทรถยนต์ชั้นนำในประเทศต่าง ๆ บวกกับศักยภาพของประเทศไทยที่เป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ที่ใหญ่ที่สุดของภูมิภาคอาเซียน มีซัพพลายเชนที่ครบวงจรที่สุด และมีโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อม อีกทั้งรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า EV ที่ชัดเจน ทำให้ดึงดูดความสนใจของค่ายรถยนต์ต่างๆ อย่างมาก จึงเชื่อว่าปีหน้าจะยังมีผู้ผลิต EV รวมทั้งชิ้นส่วนสำคัญจากทั่วโลกตัดสินใจเข้ามาลงทุนตั้งฐานการผลิต BEV ในไทยอย่างต่อเนื่อง

4 ค่ายญี่ปุ่นพร้อมลงสนาม

ขณะเดียวกันระหว่างการเยือนประเทศญี่ปุ่นของนายกรัฐมนตรี เมื่อกลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่น 4 ราย ได้แก่ Toyota, Honda, Isuzu และ Mitsubishi ได้แจ้งแผนการลงทุนชัดเจนในช่วง 5 ปี ข้างหน้า โดยคาดว่าจะมีเม็ดเงินลงทุนรวมกันกว่า 1.5 แสนล้านบาท เพื่อขยายการผลิตรถยนต์ทุกประเภทในไทยอย่างต่อเนื่อง ทั้งการผลิตรถยนต์ ICE/HEV/PHEV เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของตลาดโลกและผู้บริโภคในประเทศ และการลงทุนเพื่อรองรับการผลิตรถยนต์ BEV ทั้งรถยนต์และรถกระบะไฟฟ้า โดยในส่วนรถกระบะไฟฟ้า ในระยะแรกจะมุ่งเน้นตอบโจทย์ความต้องการของภาคอุตสาหกรรมในประเทศ และการผลิตเพื่อส่งออกก่อน

ลุ้น “เทสลา”เลือกไทยฐานภูมิภาค

สำหรับ Tesla นั้น ประเทศไทยได้รับเสียงตอบรับที่ดี Tesla เองก็มีความสนใจดำเนินธุรกิจในประเทศไทย เห็นได้จากที่ผ่านมาได้จัดตั้งบริษัทและศูนย์บริการขนาดใหญ่ในไทย อีกทั้งยังได้รับการส่งเสริมจากบีโอไอ ในกิจการสถานีอัดประจุไฟฟ้าเงินลงทุนระยะแรกกว่า 100 ล้านบาท และเมื่อช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ผู้บริหารระดับสูงของ Tesla ได้เดินทางมาศึกษาโอกาสการลงทุนในไทยตามคำเชิญของท่านนายกฯ แสดงถึงความสนใจและโอกาสที่ประเทศไทยจะเป็นฐานการลงทุนของ Tesla ในภูมิภาคนี้ ปัจจุบันรัฐบาลยังคงมีการประสานงานกับทาง Tesla อย่างต่อเนื่อง เพื่อนำเสนอข้อมูลสำคัญให้บริษัทได้ทราบ