สศช.เตือนรัฐบาล ทบทวน-เลิกมาตรการภาษี ไม่คุ้มค่า-บิดเบือนกลไกตลาด

30 ธ.ค. 2566 | 00:40 น.

สศช. เตือนรัฐบาล นโยบายการคลังระยะต่อไป ควรแสดงความมุ่งมั่นจัดเก็บรายได้-ลดรายจ่าย ปฏิรูปโครงสร้างภาษี เพิ่มประสิทธิภาพจัดเก็บรายได้ แนะทบทวน-ยกเลิกมาตรการภาษีที่ไม่เกิดความคุ้มค่า-บิดเบือนกลไกตลาด

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ครั้งล่าสุดมีมติเห็นชอบแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2568 - 2571) ตามที่คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐเสนอ โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) มีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมที่น่าสนใจเสนอให้ครม.รับทราบ มีสาระสำคัญดังนี้ 

สศช. ระบุว่า ได้พิจารณาแผนการคลังระยะปานกลางแล้ว มีความเห็นเพิ่มเติมว่า ในระยะปานกลางและระยะยาว แรงกดดันทางการคลังยังอยู่ในเกณฑ์สูง ตามแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของภาระดอกเบี้ยและผลกระทบจากการปรับตัวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ 

ขณะที่ความเสี่ยงจากความผันผวนของระบบเศรษฐกิจการเงินโลกยังอยู่ในเกณฑ์สูง ทำให้มีความจำเป็นที่จะต้องมีพื้นที่ทางการคลังที่เพียงพอ เพื่อการสร้างศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจ รวมทั้งเพื่อรองรับการเพิ่มขึ้นของรายจ่ายด้านสวัสดิการสังคม และสถานการณ์ความผันผวนรุนแรงที่อาจเกิดขึ้น

 

สศช.เตือนรัฐบาล ทบทวน-เลิกมาตรการภาษี ไม่คุ้มค่า-บิดเบือนกลไกตลาด

 

ดังนั้น การดำเนินนโยบายการคลังในระยะต่อไป จึงควรแสดงถึงความมุ่งมั่นในการเพิ่มการจัดเก็บรายได้และการลดรายจ่าย โดยมีแนวทางที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะการปฏิรูปโครงสร้างภาษีและการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ 

โดยเฉพาะการปฏิรูปโครงสร้างภาษีและการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ รวมถึงทบทวนและยกเลิกมาตรการทางภาษีที่ไม่เกิดความคุ้มค่าและบิดเบือนกลไกตลาด การลดความซ้ำซ้อน และการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีที่มีวัตถุประสงค์เป็นการเฉพาะเท่าที่จำเป็น 

ควบคู่ไปกับการลดทอนรายจ่ายที่ไม่จำเป็น การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่าย และการปรับโครงสร้างรายจ่ายให้มีความสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

รวมทั้งให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการด้านการคลัง โดยเฉพาะการเพิ่มงบชำระคืนต้นเงินกู้ให้มีความสอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของต้นทุนการกู้เงินและภาระดอกเบี้ยเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการคลังและอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศ

 

สศช.เตือนรัฐบาล ทบทวน-เลิกมาตรการภาษี ไม่คุ้มค่า-บิดเบือนกลไกตลาด

 

สำหรับ แผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2568 - 2571) นั้น นับเป็นแผนสำคัญของประเทศที่จะนำไปประกอบการพิจารณาจัดทำกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี ตามมาตรา 15 แห่ง พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังฯ รวมทั้งเพื่อให้หน่วยงานของรัฐนำไปใช้ประกอบการพิจารณาในการจัดเก็บหรือหารายได้ การจัดทำงบประมาณ และการก่อหนี้ของหน่วยงานของรัฐ ตามมาตรา 16 แห่ง พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังฯ ต่อไป

รายละเอียดของแผนการคลังระยะปานกลาง ปีงบประมาณ 2567 - 2572 ได้มีการจัดทำงบประมาณรายจ่ายแบบขาดดุลต่อเนื่อง เพื่อผลักดันให้เศรษฐกิจขยายตัวเฉลี่ยปีละ 5.3% โดยประเมินว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) จะขยายตัวเพิ่มขึ้นจาก 19,022,250 ล้านบาทในปี 2567 เป็น 24,626,515 ล้านบาทในปี 2572 

ขณะที่หนี้สาธารณะจะเพิ่มจาก 11,834,716 ล้านบาท หรือ 62.71% ต่อจีดีพี ในปี 2567 เป็น 15,371,314 ล้านบาท หรือ 62.98% ต่อจีดีพีในปี 2572 หากพิจารณาสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีจะขึ้นไปอยู่ในระดับสูงสุดในปีงบประมาณ 2569 ที่ระดับ 64.23%ต่อจีดีพี และจะค่อยทยอยลดลง เหลือ 63.61% ในปีงบประมาณ 2571 และ 62.98% ในปี 2572

นอกจากนี้ตามแผนการคลังระยะปานกลางปีงบประมาณ 2567-2572 รัฐบาลตั้งเป้าหมายจะค่อยๆลดบทบาทการใช้จ่ายภาครัฐ โดยจัดทำงบประมาณแบบขาดดุลลดลงต่อเนื่องเฉลี่ยปีละ 0.2% หรือ 10,000 ล้านบาท