สภาองค์กรผู้บริโภคเสนอ ครม.ล็อกค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีชมพูไม่เกิน 20 บาท

21 พ.ย. 2566 | 06:12 น.

สภาองค์กรของผู้บริโภคเสนอ ครม. คิดค่าโดยสาร “รถไฟฟ้าสายสีชมพู” ไม่เกิน 20 บาท เท่ากับรถไฟฟ้าสายสีแดงและสายสีม่วงให้ทุกคนขึ้นได้ ขออย่าซ้ำรอยสายสีเหลืองที่คิดแพงเกินจริง

ตามที่กระทรวงคมนาคมกำหนดเปิดให้รถไฟฟ้าสายสีชมพูทดลองนั่งฟรีเริ่มวันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 จากนั้นจะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบเชิงพาณิชย์ (เก็บค่าโดยสาร) ในวันที่ 18 ธันวาคม 2566  โดยคาดว่าภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ กระทรวงคมนาคม จะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบ เพื่อกำหนดอัตราค่าโดยสารเริ่มต้น 15 บาท สูงสุด 45 บาท นั้น

นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค หรือ สภาผู้บริโภค เห็นว่า  ค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีชมพูในราคาเริ่มต้นที่ 15 - 45 บาทต่อเที่ยวนั้น เป็นราคาที่สูงเกินไปสำหรับผู้บริโภค ท่ามกลางปัญหาค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้นในปัจจุบัน เช่นเดียวกับเมื่อครั้งเปิดเดินรถไฟฟ้าสายสีเหลืองที่มีเสียงสะท้อนของประชาชนจำนวน ถึงราคาค่าโดยสารที่แพงเกินกว่าที่ผู้บริโภคจะแบกรับได้เช่นกัน

นอกจากนี้ จากผลการศึกษาของนักวิชาการ สภาผู้บริโภค ชี้ชัดเจนว่า ค่าใช้จ่ายเดินรถต่อคนต่อเที่ยวของผู้บริโภคระหว่างปี 2557–2562 มีต้นทุนเฉลี่ยต่อคนต่อเที่ยวโดยสารระหว่าง 10.10– 16.30 บาท ขึ้นกับจำนวนผู้โดยสารและค่าใช้จ่ายในแต่ละปี รวมถึงผลการศึกษาของกรุงเทพมหานครในปัจจุบันที่ยืนยันว่า ค่าบริการเดินรถประมาณ 11-13 บาทต่อคนต่อเที่ยว 

สอดคล้องกับข้อมูลโครงการศึกษากำหนดอัตราค่าโดยสารขั้นสูง ค่าแรกเข้า และหลักเกณฑ์การขึ้นอัตราค่าโดยสารขนส่งมวลชนระบบรางของกรมการขนส่งทางรางที่ระบุว่า ค่าเฉลี่ยต้นทุนงานระบบรถไฟฟ้าต่อผู้โดยสาร (30 ปี) ถ้าเป็น Heavy rail จะอยู่ที่ 14.31 บาท หรือ LRT หรือ Monorail จะอยู่ที่ 11.67 บาท เท่านั้น

 จากข้อมูลดังกล่าว สภาผู้บริโภคเห็นว่า การกำหนดค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีชมพูสูงสุดตลอดสายไม่เกิน 20 บาท เหมือนรถไฟฟ้าสายสีแดง และสายสีม่วงนั้น เพียงพอกับค่าบริหารจัดการเดินรถของเอกชน โดยที่รัฐบาลไม่ต้องสมทบและไม่ขาดทุน เพราะสายสีชมพูมีเส้นทางวิ่งผ่านจุดเศรษฐกิจสำคัญ เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล แหล่งชุมชนต่าง ๆ  

ขณะที่กระทรวงคมนาคมคาดการณ์ว่า เมื่อเปิดทดลองให้นั่งฟรีจะมีผู้มาใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีชมพูมากกว่า 1 แสนคนต่อวัน และเมื่อเก็บค่าโดยสารแล้ว คาดว่าผู้โดยสารจะอยู่ที่ 5-6 หมื่นคนต่อวัน 

ทั้งนี้ เพื่อให้รถไฟฟ้าสีชมพู เป็นบริการขนส่งมวลชนที่ทุกคนขึ้นได้ทุกวันจริง สภาผู้บริโภคจึงเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณากำหนดค่าโดยสารสายสีชมพูในราคาสูงสุดไม่เกิน 20 บาทเช่นเดียวกับค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีแดงและรถไฟฟ้าสายสายสีม่วง 

อย่างไรก็ดี ข้อมูลกระทรวงคมนาคมพบว่า ตลอดเวลา 1 เดือนของการทำนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาท มีค่าเฉลี่ยของปริมาณผู้โดยสารระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงในช่วงวันทำงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.47 และช่วงวันหยุดมีผู้โดยสารใช้บริการเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.84 และมีผู้โดยสารสูงสุดในวันที่ 27 ตุลาคม 2566 ที่เพิ่มขึ้นถึง 34,018 คน 

ขณะที่ค่าเฉลี่ยของปริมาณผู้โดยสารระบบรถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วงวันทำงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.72 และช่วงวันหยุดมีผู้โดยสารใช้บริการเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.88 และมีผู้โดยสารสูงสุดในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2566 ผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้นสูงสุด 76,926 คน 

นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาท มีผลตอบแทนด้านเศรษฐศาสตร์ทำให้เกิดการประหยัดค่าใช้จ่ายในการใช้รถยนต์ และมีผู้โดยสารมาใช้บริการรถไฟฟ้ามากขึ้น จะลดค่าเดินทางด้วยรถยนต์ ประเมินมูลค่าการเงินทางด้านเศรษฐศาสตร์ และเวลาในการเดินทาง ค่าความสุข และการลดความสูญเสียทางถนน และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ รวมทั้งสิ้น 79.35 ล้านบาทต่อเดือน หรือคิดเป็น 952.23 ล้านบาทต่อปี ถือเป็นผลตอบแทนทางเศรษฐกิจและสังคมที่คุ้มค่ามาก

นอกจากนี้ เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคและภาคประชาสังคม ได้รณรงค์ให้ “ขนส่งมวลชนทุกคนขึ้นได้ทุกวัน” โดยให้รัฐตั้งเป้าหมายสนับสนุนให้ประชาชนเดินออกจากบ้าน 500 เมตร เจอบริการขนส่งสาธารณะเพื่อลดปัญหาอุบัติเหตุทางถนนในเทศกาลต่างๆ การจราจรที่ติดขัด และปัญหาสุขภาพจากฝุ่น PM 2.5 ปัญหาโลกร้อนที่ยังไม่สามารถจัดการได้ และคนใช้รถยนต์อาจจะต้องจ่ายเงินเพื่อรับผิดชอบต่อการปล่อยมลพิษเพิ่มขึ้น