4 ปีแห่งความท้าทาย วัดฝีมือรัฐบาล “เศรษฐา1” คนไทยอยู่ดีกินดี?

16 ก.ย. 2566 | 07:48 น.

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา (11 ก.ย. 2566) เพื่อเป็นเข็มทิศนำทางประเทศไทยขับเคลื่อนไปข้างหน้าในห้วงเวลา 4 ปีนับจากนี้ ทั้งนโยบายด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมืองและการปกครอง

โดยนโยบายด้านเศรษฐกิจปากท้องที่ประชาชน และภาคธุรกิจเฝ้ารอคอย รัฐบาลประกาศมีนโยบายเร่งด่วน ได้แก่ การเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต (5.6 แสนล้านบาทให้กับประชาชน 56 ล้านคนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป) ที่คาดหวังจะเป็นตัวจุดชนวนกระตุกเศรษฐกิจไทยให้ตื่นขึ้นมาอีกครั้ง

นอกจากนี้จะเร่งแก้ปัญหาและช่วยเหลือประชาชนผ่านนโยบายการแก้ไขปัญหาหนี้สินทั้งในภาคเกษตร ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน การลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน ทั้งค่าไฟฟ้า ค่าก๊าซหุงต้ม และค่านํ้ามันเชื้อเพลิงให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมในทันที และจะผลักดันการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวที่จะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในระยะสั้น และช่วยสร้างงานให้กับประชาชนอีกเป็นจำนวนมาก

ส่วนนโยบายระยะกลางและระยะยาว เช่น การใช้การทูตเศรษฐกิจเชิงรุกเพื่อเปิดประตูการค้าไทยสู่ตลาดใหม่ๆ การเร่งเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) ในอีกหลายกรอบเจรจา การปรับปรุงขบวนการพิจารณาอนุมัติโครงการผ่านบีโอไอ และสำนักงานอีอีซีเพื่อดึงดูดการลงทุน ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ อาทิ การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง อุตสาหกรรมสีเขียว การพัฒนาต่อยอดเขตเศรษฐกิจพิเศษและระเบียงเศรษฐกิจ 4 ภาคให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น การปลดล็อกกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับสุราพื้นบ้าน เป็นต้น

4 ปีแห่งความท้าทาย วัดฝีมือรัฐบาล “เศรษฐา1” คนไทยอยู่ดีกินดี?

อย่างไรก็ดี นโยบายรัฐบาลถูกท้วงติงจากฝ่ายค้าน ระบุหลายนโยบาย “ไม่ตรงปก” โดยนโยบายที่แถลงไม่ตรงกับนโยบายที่หาเสียงไว้ เช่น พรรคเพื่อไทยมีนโยบายพักหนี้เกษตรกร 3 ปี ทั้งต้น ทั้งดอกทันที แต่ในคำแถลงระบุจะพักหนี้ตามเงื่อนไขและคุณสมบัติที่เหมาะสม, นโยบายค่าแรงขั้นตํ่า 600 บาท ภายในปี 2570 ไม่มีในคำแถลง

และนโยบายเงินเดือนผู้จบปริญญาตรี 25,000 บาท ภายในปี 2570 ก็ไม่มีในคำแถลงเช่นกัน นายเศรษฐา มาตอบคำถามภายหลังว่า นโยบายค่าแรงขั้นตํ่ารัฐบาลเห็นสมควรได้รับการปรับให้เร็ว ที่สุด โดยตั้งเป้าหมายว่าจะทำให้เศรษฐกิจโตเฉลี่ยปีละ 5% ตลอด 4 ปี ซึ่งจะทำให้ค่าแรงขั้นตํ่าขึ้นไปถึง 600 บาทต่อวัน และเงินปริญญาตรี 25,000 บาทต่อเดือน

นอกจากนี้อีก 1 นโยบายสำคัญที่เป็นความหวังช่วยลดค่าครองชีพของคนเมืองหลวงคือ นโยบาย “รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย” ก็ไม่มีในคำแถลงโดยฝ่ายค้านติงว่าตอนหาเสียงบอกว่าทำทันที แต่ตอนนี้ไม่รู้ว่าไปจอดหลับอยู่ที่สถานีไหน และตั้งคำถามว่าเรื่องนี้จะเอาเงินที่ไหนมาทำและจะต้องเอาเงินไปชดเชยบริษัทเอกชนหรือไม่ อย่างไร

ภายหลัง นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้ออกมาชี้แจงว่า นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาท ตลอดสายจะเริ่มทันที โดยจะรวบรวมสัมปทานเส้นทางเดินรถไฟฟ้าของเอกชนทุกสาย และจะตั้งคณะกรรมการเจรจา อาจต้องใช้เวลา 6 เดือน จากนั้น 20 บาทตลอดสายจะทำได้ทันที

ขณะที่มีอีกหลายนโยบายเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทยที่ได้หาเสียงไว้ ไม่อยู่ในถ้อยแถลงนโยบายในครั้งนี้ เช่น นโยบายลดช่องว่างทุกครอบครัวมีรายได้ไม่น้อยกว่า  20,000 บาทต่อเดือน, นโยบายสินค้าเกษตรขึ้นยกแผง รายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้น 3 เท่าใน 4 ปี นโยบายโคขุนเงินล้าน เป็นต้น แต่ใช้คำแถลงแบบกว้างๆ แทนคือมีเป้าหมายทำให้รายได้ของเกษตรกรทั้งประเทศเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญภายในระยะเวลา 4 ปี

อย่างไรก็ดีเมื่อพิจารณานโยบายของรัฐบาล “เศรษฐา 1” ส่วนใหญ่ยังเป็นกรอบกว้างๆที่ต้องไปลงลึกในรายละเอียด ขณะที่นโยบายส่วนใหญ่ไม่ได้กำหนดกรอบระยะเวลาชัดเจน รวมถึงแหล่งเงินที่จะนำมาใช้ เป้าหมายและตัวชี้วัดความสำเร็จ ดังนั้นคงต้องจับตาดูกันยาวๆ ว่า นโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาลจาก 11 พรรคร่วมรัฐบาล จะทำสำเร็จตามที่หาเสียงและตามที่แถลงนโยบายไว้ต่อรัฐสภา ที่ถือเป็นคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชนหรือไม่