สำนักงบฯ หวังรอยต่อรัฐบาลใหม่ 2 ไตรมาส ดันเงินลงระบบ 1.6 ล้านล้าน

24 ส.ค. 2566 | 10:17 น.

สำนักงบประมาณ ประเมินช่วงรอยต่อรัฐบาลใหม่ ช่วง 2 ไตรมาสของปีงบประมาณ 2567 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 – 31 มีนาคม 2567 คาดมีเงินลงไปในระบบเศรษฐกิจประมาณ 1.6 ล้านล้านบาท

นายเฉลิมพล เพ็ญสูตร ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เปิดเผยว่า ในช่วงที่งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 ยังไม่สามารถมีผลบังคับใช้ได้ สำนักงบประมาณ ประเมินว่า อย่างน้อยในช่วง 2 ไตรมาสของปีงบประมาณ 2567 คือตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 – 31 มีนาคม 2567 น่าจะมีเงินลงไปในระบบเศรษฐกิจประมาณ 1.6 ล้านล้านบาท 

สำหรับวงเงินที่จะลงไปในระบบเศรษฐกิจครั้งนี้ จะมาจาก 3 กลุ่มใหญ่ แยกเป็นวงเงิน ดังนี้

  • เงินจากงบประมาณไปพลางก่อน ประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท
  • เงินจากงบลงทุนที่ผูกพันวงเงินแล้ว 1 แสนล้านบาท
  • เงินจากงบลงทุนรัฐวิสาหกิจ 2 แสนล้านบาท

“แม้ว่าวงเงินที่จะลงไปยังเศรษฐกิจจากมาจากกรอบต่าง ๆ อยู่ที่ประมาณ 1.8 ล้านล้านบาท แต่จากสถิติการเบิกจ่ายงบประมาณที่ผ่านมา จะมีวงเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจประมาณ 1.6 ล้านล้านบาท ซึ่งก็น่าจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในช่วง 2 ไตรมาสนี้ได้” นายเฉลิมพล ระบุ

ส่วนการจัดเตรียมงบประมาณ ปี 2567 นั้น เบื้องต้นประเมินว่า รัฐบาลใหม่คงใช้เวลาไม่มากในการพิจารณาจัดทำงบประมาณ โดย สำนักงบประมาณ คงต้องหารือกับรัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงการปรับปรุงงบประมาณรายจ่ายปี 2567 ใหม่ โดยอาจปรับลดลงประมาณบางส่วนที่ไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนตามนโยบายของรัฐบาลลง หรือพิจารณาเพิ่มวงเงินงบประมาณขึ้นเล็กน้อย แต่ทั้งหมดต้องหารือกับหน่วยงานต่าง ๆ อีกครั้ง

ล่าสุดสำนักงบประมาณ ได้ปรับปรุงปฏิทินงบประมาณไว้แล้ว โดยเตรียมเสนอให้รัฐบาลใหม่ ที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี พิจารณาได้ทันทีในการประชุมครม. ครั้งแรก ๆ พร้อมทั้งการหารือร่วมกับ 4 หน่วยงานเศรษฐกิจ คือ สำนักงบประมาณ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ธนาคารแห่งประเทศไทย และ กระทรวงการคลัง เพื่อพิจารณารายละเอียดของงบประมาณต่อไป

สำหรับกรอบวงเงินงบประมาณปี 2567 มีวงเงินรวม 3.35 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น 

  • รายจ่ายประจำ 2,490,860.5 ล้านบาท 
  • รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง 33,759.1 ล้านบาท 
  • รายจ่ายลงทุน 717,199.6 ล้านบาท
  • รายจ่ายชำระคืนเงินกู้ 117,250.0 ล้านบาท 
  • วงเงินเพื่อชดเชยการขาดดุล 593,000 ล้านบาท 
  • ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ 19,421,600 ล้านบาท