ช็อค! GDP ไทย ไตรมาส 2/66 โตแค่ 1.8% สศช.หั่นเป้าทั้งปี 2.5-3%

21 ส.ค. 2566 | 02:41 น.

สศช. แถลงตัวเลขเศรษฐกิจไทย ไตรมาส 2 ปี 2566 GDP ขยายตัวแค่ 1.8% หลังได้รับผลกระทบเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ส่งผลให้ทั้งปี 2566 ต้องหั่นประมาณการลงเหลือ ขยายตัวแค่ 2.5-3%

วันนี้ (21 สิงหาคม 2566) นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผย รายงานภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ของปี 2566 และแนวโน้มปี 2566 ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ GDP ไทย ไตรมาสที่ 2 ปี 2566 ขยายตัวแค่ 1.8% ชะลอลงจากขยายตัว 2.6% ในไตรมาสแรก ปี 2566 ทำให้ช่วงครึ่งแรกของปี 2566 เศรษฐกิจไทยขยายตัว 2.2%

ทั้งนี้เป็นผลมาจากการส่งออกที่ปรับลดลงต่อเนื่องถึง 3 ไตรมาส โดยปริมาณการส่งออก ไตรมาส 2 ของปี 2566ติดลบ 5.7% ส่งผลถึงสาขาอุตสาหกรรม ติดลบ 3.3% เช่นเดียวกับการอุปโภคภาครัฐบาล ที่ติดลบ 4.3% ส่วนการลงทุนรวมขยายตัว 1.8% และการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ขยายตัว 7.8% เร่งขึ้นจาก 5.8% ในไตรมาสก่อนหน้า

 

รายงานภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ของปี 2566 และแนวโน้มปี 2566

สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจไทย ไตรมาสที่ 2 ปี 2566 โดยตังเลข GDP ในส่วนของเครื่องชี้ทางเศรษฐกิจที่มีปัญหา 3 ด้าน แบ่งเป็น

1. การส่งออก

ปริมาณการส่งออกสินค้า ติดลบ 5.7% เป็นการปรับลดต่อเนื่อง 3 ไตรมาสติดต่อกัน ตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ปี 2565 กลุ่มสินค้าที่มีมูลค่าส่งออกลดลง เช่น เครื่องจักรและอุปกรณ์ ลดลง 1.5% ชิ้นส่วนและอุปกรณ์สำหรับยานยนต์ ลดลง 3.3% อาหารสัตว์ ลดลง 24.6% ยางพารา ลดลง 40.2% ผลิตภัณฑ์โลหะ ลดลง 19% ชิ้นส่วนและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ลดลง 29.6% และเคมีภัณฑ์และปิโตรเคมี ลดลง 19.9%

ส่วนการนำเข้าสินค้า มีมูลค่า 68,110 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 5% เทียบกับการขยายตัว 2% ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการลดลงของการผลิตภาคอุตสาหกรรมและการส่งออก โดยปริมาณและราคานำเข้าลดลง 4% และ 1.1% ตามลำดับ ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 2,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 75,100 ล้านบาท

รวมครึ่งแรกของปี 2566 การส่งออกสินค้ามีมูลค่า 140,068 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 5.1% ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 134,970 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 1.7% ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 5,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 179,400 ล้านบาท)

 

องค์ประกอบของเศรษฐกิจไทย ไตรมาสที่ 2 ปี 2566

2.การบริโภครัฐบาล

การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคของรัฐบาล ลดลง 4.3% ต่อเนื่องจากการลดลง 6.3% ในไตรมาสก่อนหน้า โดยรายจ่ายการโอนเพื่อสวัสดิการสังคมที่ไม่เป็นตัวเงินสำหรับสินค้าและบริการในระบบตลาดลดลง 25.1% ต่อเนื่องจากการลดลง 40.6% ในไตรมาสก่อนหน้า ส่วนค่าซื้อสินค้าและบริการลดลง 2.6% ขณะที่ค่าตอบแทนแรงงาน (ค่าจ้างเงินเดือน) ขยายตัว 0.3% สำหรับอัตราการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำในไตรมาสนี้อยู่ที่ 24.7%

3.สาขาการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม 

ลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 3 ติดลบ 3.3% ต่อเนื่องจากการลดลง 3% ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการลดลงของ ทุกกลุ่มการผลิต โดยเฉพาะกลุ่มการผลิตเพื่อส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญ สอดคล้องกับการลดลงของดัชนี ผลผลิตอุตสาหกรรม 5.6%

 

สมมติฐานการประมาณการเศรษฐกิจไทย 2566

 

เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ 

อัตราการว่างงานอยู่ที่ 1.06% ใกล้เคียงกับ 1.05% ในไตรมาสก่อนหน้า แต่ต่ำกว่า 1.37% ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ที่ 1.1% และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยอยู่ที่ 1.5% เทียบกับ 3.9% และ 2.2% ในไตรมาสก่อน ตามลำดับ

สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล 1,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 6.4 หมื่นล้านบาท ขณะที่เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2566 อยู่ที่ 2.2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2566 มีมูลค่าทั้งสิ้น 10,923,183.5 ล้านบาท คิดเป็น 61.1% ของ GDP

แนวโน้มเศรษฐกิจไทย ปี 2566

ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจไทย ในปี 2566 สศช. ได้ปรับประมาณการใหม่ คาดว่า จะขยายตัวได้เพียง 2.5-3% ลดลงจากจากประมาณการเดิม 2.7-3.7% 

โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวในเกณฑ์ดีของการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน การฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว รวมทั้งการขยายตัวต่อเนื่องของการลงทุนทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ โดยคาดว่าการอุปโภคบริโภคและการลงทุนรวมจะขยายตัว 5% และ 1.6% ตามลำดับ ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ในช่วง 1.7 - 2.2% และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 1.2% ของ GDP

 

รายงานภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ของปี 2566 และแนวโน้มปี 2566 สศช.