แนะรัฐบาลใหม่สานต่อ EEC วาระเร่งด่วน ช้าอดนักลงทุนหมดประเทศ

10 ก.ค. 2566 | 01:08 น.

“กอบศักดิ์ ภูตระกูล” แนะรัฐบาลใหม่ เดินหน้าสานต่อโครงการ EEC เป็นวาระเร่งด่วนโดยเฉพาะการเร่งโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ พร้อมฟื้นโปรเจกต์ท่าเรือระนอง สร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนต่างชาติ

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เปิดเผยว่า รัฐบาลใหม่ควรให้ความสำคัญกับการเดินหน้าเร่งรัดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศ โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานที่อยู่ในในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) 

โดยปัจจุบันมีโครงการสำคัญ ๆ ประกอบด้วย รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง – สุวรรณภูมิ – อู่ตะเภา) โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 และท่าเรือมาบตาพุตระยะที่ 3 และโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก 

ทั้งนี้เชื่อว่า หากรัฐบาลใหม่สามารถขับเคลื่อนโครงการต่าง ๆ ที่อยู่ในพื้นที่ EEC ให้แล้วเสร็จภายในระเวลา 1 – 2 ปีต่อจากนี้ ก็น่าจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้นักธุรกิจและนักลงทุนต่างชาติได้ว่าประเทศไทยมีความพร้อมในการรองรับการลงทุนรอบใหม่แล้ว

 

ภาพประกอบข่าว การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และโครงการ EEC

นายกอบศักดิ์ ระบุว่า ที่ผ่านมามีหลายนโยบายที่พรรคการเมืองได้หาเสียงไว้ แต่ส่วนใหญ่ไม่ได้พูดเรื่องการลงทุนเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐาน และเดินหน้าโครงการที่มีความพร้อมอยู่แล้วมากนัก โดยเฉพาะโครงการใหญ่ในพื้นที่ EEC ที่รัฐบาลใหม่เข้ามาแล้วก็สามารถทำต่อได้ทันที

“โครงการ EEC เมื่อรัฐบาลไหนเข้ามาก็สามารถเดินต่อได้ เพราะเป็นโครงการที่อยู่ในพื้นที่ที่มีความพร้อมอยู่แล้ว หากไปทำพื้นที่อื่นๆ คงไม่ทัน และอาจต้องใช้เวลาในการศึกษา และทำกฎหมายอีกนาน”

นายกอบศักดิ์ ยอมรับว่า นอกจาก EEC แล้ว ยังต้องการให้รัฐบาลใหม่ผลักดันโครงการท่าเรือฝั่งตะวันตก (Western Port) เพื่อเพิ่มศักยภาพการขนส่งทางเรือของไทยไปยังประเทศขนาดใหญ่ที่อยู่ด้านทิศตะวันตก เช่น อินเดีย โดยควรฟื้นโครงการการพัฒนาท่าเรือระนองเชิงพาณิชย์ ซึ่งรัฐบาลเคยผลักดันมาแล้วให้เกิดขึ้น เพื่อเป็นประตูสู่ทิศตะวันตก และสอดคล้องกับการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC) ซึ่งมีแผนการดำเนินงานอยู่แล้วในปัจจุบัน

“หากผลักดันโครงการท่าเรือนี้ให้บริการเป็นท่าเรือเชิงพาณิชย์ได้จะย่นระยะเวลาในการขนส่งสินค้าทางเรือจากไทยไปยังอินเดีย โดยใช้เวลาเพียง 1 สัปดาห์ ในขณะที่หากส่งจากมาเลเซียต้องใช้เวลามากถึง 3 สัปดาห์ ซึ่งโครงการนี้จะช่วยให้ไทยเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ทางน้ำของภูมิภาคได้ ที่เชื่อมต่อไปยังอินเดียที่เป็นตลาดสินค้าขนาดใหญ่ได้ในอนาคต”

 

ภาพประกอบข่าว การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ท่าเรือ ฟื้นการส่งออก สร้างความเชื่อมั่นนักลงทุน

สำหรับเหตุผลที่ต้องเร่งผลักดันโครงการต่าง ๆ ให้เสร็จโดยเร็วนั้น เป็นเพราะปัจจุบันสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจทั้งจีนและสหรัฐฯ รวมทั้งสงครามที่เกิดขึ้นในยุโรประหว่างรัสเซียและยูเครน รวมทั้งความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์หลายพื้นที่ในโลก ทำให้เกิดกระแสการเคลื่อนย้ายการลงทุนมายังภูมิภาคอาเซียนหลายอุตสาหกรรม 

โดยประเทศที่เป็นเป้าหมายของลงทุน ณ ปัจจุบัน ได้แก่ ประเทศไทย เวียดนาม และอินโดนีเซีย ซึ่งทุกประเทศมีนโยบายในการดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมที่สำคัญ ๆ  ดังนั้นถ้าประเทศไทยไม่สามารถดึงนักลงทุนจากอุตสาหกรรมสำคัญเข้ามาตั้งฐานการการผลิตในประเทศไทยภายในช่วงนี้ได้ ผ่านนโยบายและมาตรการส่งเสริมต่าง ๆ อาจทำให้ในอีก 5 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะเสียความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศเพื่อนบ้านแน่นอน