ไทม์ไลน์ใหม่ “เมืองการบินอู่ตะเภา” เลื่อนตอกเสาเข็มออกไปอีก 1 ปี

25 พ.ค. 2566 | 04:46 น.

ปัจจุบันการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกของ อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น (UTA) ล่าช้าไปอีก 1 ปี เนื่องจากรัฐไม่สามารถส่งหนังสือแจ้งให้ UTA เริ่มงานได้ ส่งผลให้ไทม์ไลน์ล่าสุด จะมีการตอกเสาเข็มก่อสร้างสนามบินอู่ตะเภา เฟส 1 ออกไปอีก 1 ปี

ปัจจุบันการลงทุนโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ของบริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด (UTA) ถือว่าล่าช้าไปอีกร่วม 1 ปี จากเดิมรัฐต้องส่งหนังสือแจ้งให้ UTA เริ่มงาน (Notice to Process: NTP) ตั้งแต่เดือนม.ค.ปี 2566 ส่งผลให้ไทม์ไลน์ล่าสุด UTA คาดว่าในปี 2567 จะได้เห็นการเริ่มตอกเสาเข็มก่อสร้างสนามบินอู่ตะเภาเฟส 1

อุปสรรคที่ทำให้การพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา ไม่สามารถเดินตามแผนเดิมที่วางไว้ หลักๆ ติดเงื่อนไขใน 5 ข้อของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องที่มีความคืบหน้าในการดำเนินงานล่าช้ากว่าแผน จึงทำให้อีอีซียังไม่สามารถส่งหนังสือแจ้งให้ UTA เริ่มงานได้

ดังนั้นเมื่อได้เลขาธิการอีอีซี(EEC)คนใหม่ “จุฬา สุขมานพ” จึงเป็นหัวเรือใหญ่ในการขับเคลื่อนให้โครงการต่างๆ ในสัญญาทั้ง 5 ข้อเดินหน้า เร็วขึ้นกว่าที่ผ่านมา โดยหวังว่าจะ สามารถส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างให้ UTA ได้ภายในช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้ โดยความคืบหน้าล่าสุดของโครงการต่างๆ ใน 5 ข้อ พบว่า

1. มอเตอร์เวย์ M7 เชื่อมสนามบิน ครม.อนุมัติแล้ว กรมทางหลวงเตรียมก่อสร้าง

2. ระบบไฟฟ้าประปา สาธารณูปโภค อีอีซีรับผิดชอบ เริ่มดำเนินการแล้ว ขณะนี้ได้เริ่มงานก่อสร้างส่วนระบบสาธารณูปโภคในพื้นที่โครงการแล้ว ได้แก่ งานระบบไฟฟ้าและนํ้าเย็น ซึ่งได้ก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ (Solar Farm) และโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม (Cogeneration) เป็นพลังงานสะอาด มีกำลังผลิตไฟฟ้ารวม 95 เมกะวัตต์

พร้อมด้วยระบบกักเก็บพลังงานอัจฉริยะ ขนาด 50 เมกะวัตต์ เพื่อให้ สนามบินอู่ตะเภา และงานระบบอื่น ๆ ที่สำคัญ ทั้ง งานน้ำประปาและบำบัดน้ำเสีย งานระบบเติมน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยาน ล่าสุดงานมีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง

3.การรื้อย้าย อยู่ระหว่างตรวจสอบเพื่อส่งมอบพื้นที่

ไทม์ไลน์ใหม่  “เมืองการบินอู่ตะเภา” เลื่อนตอกเสาเข็มออกไปอีก 1 ปี

4. งานก่อสร้างรันเวย์ที่ 2 ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของกองทัพเรือ คาดว่าในเดือนพ.ค. 2566 จะออกประกาศเชิญชวนผู้รับจ้าง ก่อนเข้าสู่ขั้นตอนประกวดราคา และประกาศผลภายในเดือนพ.ย. 2566 จากนั้นจึงลงนามในสัญญาจ้างเดือนธ.ค. 2566 เริ่มงานก่อสร้างปี 2567 แล้วเสร็จปี 2570

5. การทำแผนก่อสร้างร่วมกับรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เพื่อการวางตำแหน่งและบริหารสถานีรถไฟที่เชื่อมต่อและสอดคล้องกับอาคารผู้โดยสาร รวมถึงทำแผนตารางเดินรถไฟให้สอดคล้องกับ สนามบินหารือใกล้ได้ข้อสรุปแล้ว

พลเรือโท สมประสงค์ วิศล ดิลกพันธ์ ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพเรือพิเศษ กองทัพเรือ  กล่าวว่า กองทัพ เรือรับผิดชอบงาน 2 ส่วนคือ ก่อสร้างทางวิ่ง (รันเวย์) 2 และทางขับ (แท็กซี่เวย์) มีกรอบวงเงิน 17,768 ล้านบาท โดยมีการอนุมัติงบเพื่อดำเนินการถมดินปรับพื้นที่ 1,274.24 ล้านบาท ดำเนินการใกล้แล้วเสร็จ

ส่วนงานก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 2 และทางขับ กรอบวงเงิน 16,493.76 ล้านบาทนั้น มีการปรับเปลี่ยนแหล่งเงินจากงบประมาณเป็นเงินกู้จากธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย (Asian Infrastructure Investment Bank) หรือ AIIB ซึ่งแหล่งเงินมีเงื่อนไขในการจัดทำทีโออาร์ การออกประกาศ จึงต้องมีการเจรจาตกลงกัน

เช่น คุณสมบัติและผลงานการก่อสร้างสนามบิน ย้อนหลัง 5 ปี ของผู้ยื่นข้อเสนอ ซึ่งเงื่อนไขเดิมผู้รับเหมาไทยไม่สามารถเข้าร่วมประมูลได้เลย ใช้เวลา 4 เดือนจึงได้ข้อยุติ เป็นการรักษาผลประโยชน์ของประเทศให้มากที่สุด ทำให้มี ความล่าช้า

นายวีรวัฒน์ ปัณฑวังกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร UTA เผยว่า UTA อยู่ระหว่างปรับแผนพัฒนาสนามบิน อู่ตะเภาให้สอดคล้องกับจำนวนผู้โดยสารที่ลดลงจากโควิด-19 ซึ่งขยายเฟสการพัฒนาจาก 4 เฟส เป็น 6 เฟส โดยปรับเฟสแรกจากรองรับที่ 15.9 ล้านคนต่อปี เป็น 12 ล้านคนต่อปี คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี 2567 เฟสแรก ใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี

สนามบินอู่ตะเภา

จากนั้นมีการทดสอบระบบคาดว่าเปิดให้บริการได้ในปี 2570 และเมื่อมีจำนวนผู้โดยสารถึงระดับ 80% ของขีดการรองรับ จะเริ่มก่อสร้างเฟส 2 โดยหารือกับอีอีซี และที่ปรึกษา  สัญญาสัมปทาน 50 ปีในการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภารองรับผู้โดยสาร 60 ล้านคนต่อปี

ตามแผนงานการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบิน แบ่งเป็น 3 ส่วน โดยส่วนแรก ประกอบด้วย 3 เรื่อง ได้แก่ 1. การบินและผู้โดยสาร และองค์ประกอบของสนามบิน 2. Airport City โดยมีแนวคิดการพัฒนาเพื่อเป็นศูนย์กลางด้านธุรกิจ ที่อยู่อาศัย สันทนาการ การท่องเที่ยว 3. ศูนย์ธุรกิจขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ (Cargo Logistic Center) เพื่อตอบโจทย์การขนส่งสินค้าในภูมิภาคโดยเป็นศูนย์รวมและกระจายของขนส่ง 4 โหมดครบวงจร ทั้งทางอากาศ ทางราง ทางถนน และทางนํ้า หรือ Multimodel Transport

ส่วนที่สอง เป็นการเตรียมความพร้อมด้านการก่อสร้างและด้าน Operation ซึ่งที่ผ่านมา UTA ได้มีการออกแบบเพื่อเตรียมก่อสร้างและวางคอนเซ็ปต์ด้านวิศวกรรมศาสตร์ โดยประสานกับอีอีซี กองทัพเรือ เพื่อจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบทางด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม (EHIA) ให้เรียบร้อย

ไทม์ไลน์ใหม่  “เมืองการบินอู่ตะเภา” เลื่อนตอกเสาเข็มออกไปอีก 1 ปี

รวมถึงแนวคิดการพัฒนาทางธุรกิจที่จะก่อสร้างเมืองการบินใน 1-2 ปีนี้ แต่ตอบโจทย์ใน 5-10 ปีข้างหน้า ที่สามารถดึงดูดการท่องเที่ยว นอกจากนี้ ยังได้เตรียมการด้าน Operation จัดเตรียมด้านบุคลากรในการให้บริการสนามบิน

ส่วนที่สาม เป็นความร่วมมือกับพันธมิตร ทั้งอีอีซี กองทัพเรือ และผู้เชี่ยวชาญการพัฒนาสนามบิน เพื่อหาแนวทางการพัฒนาที่จะทำให้มีจำนวนผู้โดยสารกลับมาเท่าหรือเพิ่มมากกว่าช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ซึ่งเป็นโจทย์ที่ต้องร่วมกัน โดย UTA ได้มีการว่าจ้างที่ปรึกษาผู้บริหารสนามบินระดับโลก 3 ราย

ประกอบด้วย นาริตะ อินเตอร์เนชั่นแนล แอร์พอร์ต ดูแลด้านการบริหารจัดการสนามบิน, มิวนิค อินเตอร์เนชั่นแนลแอร์พอร์ต ช่วยด้านการวางผังพัฒนาสนามบิน, ฮ่องกง อินเตอร์เนชั่นแนล แอร์พอร์ต ดูแลด้านคาร์โก้ โลจิสติกส์ ซึ่งแผนการลงทุนมีหมดแล้วรอแค่การส่งมอบพื้นที่เท่านั้น