เอกชนหนุน “กิโยติน” กฎหมายล้าสมัย ขอเคลียร์ค่าแรง 450-600

18 พ.ค. 2566 | 04:49 น.

เอกชนพร้อมทำงานร่วมรัฐบาลใหม่แบบไร้เงื่อนไข บิ๊กสภาอุตฯ ชี้ต้องให้โอกาสแสดงฝีมือ ลุ้นตั้งรัฐบาลฉลุย เรียกความเชื่อมั่น เชียร์ลดค่าไฟ “กิโยติน”กฎหมายล้าสมัยถ่วงขีดแข่งขันประเทศ ห่วงขึ้นค่าแรง 450-600 ทุบ SME สลบ สรรพสามิตพร้อมปรับแก้ร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า

เสียงประชาชนเลือกพรรคก้าวไกลชนะการเลือกตั้งทั่วประเทศเป็นอันดับ 1 ได้ส.ส.แบบแบ่งเขต และ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ(ปาร์ตี้ลิสต์) รวม 152 ที่นั่ง รวมกว่า 14.13 ล้านคะแนนเสียง ทำให้มีความชอบธรรมในการเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคฯประกาศพร้อมเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30

นับจากนี้ยังมีอีกหลายขั้นตอน ทั้งรอคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)รับรองผลการเลือกตั้ง การเปิดประชุมสภาฯนัดแรกเพื่อเลือกประธานและรองประธาน การเปิดประชุมสภาฯเพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี และโปรดเกล้าฯแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี การจัดตั้งคณะรัฐมนตรี และเข้าเฝ้าถวายสัตย์ปฏิญาณ รวมถึงการแถลงนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ ซึ่งตามไทม์ไลน์หากไม่มีอะไรทำสะดุดหกล้มระหว่างทาง รัฐบาลชุดใหม่ที่มาจากพรรคผสมจะเข้ามาบริหารเพื่อขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้าได้ประมาณเดือนสิงหาคม

อย่างไรก็ดี เบื้องต้นหลายฝ่ายจับตามองคณะรัฐมนตรี รวมถึงทีมเศรษฐกิจจะมีหน้าตาอย่างไร จะสร้างความฮือฮาหรือสร้างความเชื่อมั่นให้กับทุกฝ่ายได้หรือไม่ เพราะโดยเนื้อในแล้วขุนพลว่าที่รัฐมนตรีจากพรรคก้าวไกลส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ยังมีประสบการณ์น้อย

เอกชนหนุน “กิโยติน” กฎหมายล้าสมัย ขอเคลียร์ค่าแรง 450-600

ขอให้โอกาสคนรุ่นใหม่นำประเทศ

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า จากที่พรรคก้าวไกลมาตามกฎกติการเลือกตั้ง และได้คะแนนเสียงเป็นอันดับ 1 แสดงให้เห็นถึงความต้องการของประชาชน ซึ่งแม้จะเป็นคนรุ่นใหม่ประสบการณ์ยังน้อย แต่ต้องให้โอกาสในการแสดงฝีมือในการบริหารประเทศร่วมกับพรรคร่วม ซึ่งอยากเห็นการฟอร์มทีมรัฐบาลโดยเร็ว เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับทุกฝ่ายทั้งในประเทศ และต่างประเทศ เฉพาะอย่างยิ่งนักลงทุนต่างชาติ หากการจัดตั้งรัฐบาลมีปัญหา และล่าช้า ขาดความเชื่อมั่นอาจย้ายไปลงทุนประเทศอื่น

อย่างไรก็ดี ไม่ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาล ภาคเอกชนพร้อมร่วมทำงานอย่างไร้เงื่อนไข ไม่ใช้ความรู้สึกส่วนตัว เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไปข้างหน้า โดยข้อเสนอเพื่อให้พรรคการเมืองนำไปแก้ปัญหาของประเทศ กกร.ได้นำเสนอไปแล้วใน 6 ประเด็นหลักก่อนหน้านี้ ได้แก่ ด้าน Competitiveness, ด้าน Ease of Doing Business, ด้าน Digital Transformation, ด้าน Human Development, ด้าน SME, และด้าน Sustainability ซึ่งจะขอโอกาสรัฐบาลชุดใหม่ในการเข้าพบเพื่อวางแผนการทำงานล่วงหน้าร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน(ในนาม กรอ.)เพื่อประสานการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด ซึ่งจะทำรัฐบาลได้รับทราบข้อมูลที่แท้จริงจากภาคเอกชน สามารถแก้ไขปัญหาอย่างได้ผล ไม่ต้องมาตามแก้ภายหลัง

นโยบายโดน-ค่าแรงต้องเคลียร์

“นโยบายหลายอย่างของว่าที่รัฐบาลชุดใหม่ตรงใจและตรงความต้องการของภาคธุรกิจอยู่แล้ว เช่น ลดค่าไฟ ค่าพลังงาน ขจัดคอรัปชั่นไม่ต้องจ่ายเงินใต้โต๊ะ กิโยติน (ยกเลิก) กฎหมายที่ล้าสมัยนับพันฉบับที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบธุรกิจให้มีความง่ายขึ้นและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ การมีรัฐบาลดิจิทัล เป็นต้น”

เกรียงไกร  เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม ในเรื่องค่าจ้างหรือค่าแรงขั้นตํ่าที่พรรคก้าวไกลหาเสียงไว้ มีนโยบายจะปรับขึ้นค่าแรง 450 บาทต่อวันภายใน 100 วัน และพรรคเพื่อไทย 600 บาทต่อวันภายในปี 2570 มีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจำนวนมากได้ให้ข้อมูลและสอบถามเข้ามา โดยระบุว่าปัจจุบันผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต้องแบกภาระต้นทุนที่สูงขึ้นมาก ทั้งจากวัตถุดิบ ค่าไฟฟ้า ค่านํ้ามัน ค่าจ้างแรงงาน และอื่น ๆ หากต้องแบกรับภาระค่าจ้างที่จะสูงยิ่งขึ้นไปอีกตามนโยบายหาเสียงอาจจะอยู่ไม่ได้

“ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าใจดีว่าการปรับขึ้นค่าแรงเป็นนโยบายหาเสียง ที่มองในเรื่องค่าครองชีพของประชาชน ราคาสินค้า และหนี้ครัวเรือนที่พุ่งสูงขึ้นเกือบ 90% ต่อจีดีพี แต่ก็ตั้งคำถามว่า การขึ้นค่าแรง 450 บาท หรือ 600 บาท ความหมายในที่นี้คือ จะไม่ยึดตามหลักเกณฑ์เดิมของการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นตํ่าโดยใช้กลไกของไตรภาคีเดิม ที่จะพิจารณาจากค่าครองชีพ และเงินเฟ้อของแต่ละจังหวัดใช่หรือไม่ หากเป็นเช่นนั้นรัฐบาลก็ต้องมีมาตรการช่วยเอสเอ็มอีเพิ่มเติมเพื่อให้เอสเอ็มอีอยู่รอด ลูกจ้างอยู่ได้ เรื่องนี้จะได้นำหารือในรายละเอียดกับรัฐบาลใหม่ต่อไป”

หวังรัฐบาลเสถียรอยู่ครบวาระ

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หลังเลือกตั้ง สิ่งสำคัญที่สุดคือ เสถียรภาพของรัฐบาล ซึ่งประเทศต้องเดินหน้าต่อในระบอบประชาธิปไตย ภาคเอกชนหวังว่าจะสามารถตั้งรัฐบาลได้โดยเร็วภายในเวลาที่กำหนด เพื่อเรียกความเชื่อมั่นจากทุกภาคส่วน และในการแก้ไขปัญหาอื่น ๆ ตามที่แต่ละพรรคได้เสนอไว้

ขณะที่เรื่องเร่งด่วนของรัฐบาลใหม่ มองว่าเป็นเรื่องการจัดสรรงบประมาณ และการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจ จากที่แต่ละพรรคที่จะเข้ามาร่วมจัดตั้งรัฐบาลมีแนวทางในการดำเนินการต่างกัน คงต้องหาจุดลงตัวเพื่อแก้ไขปัญหาเร่งด่วนร่วมกัน โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจและการฟื้นฟูประเทศ รวมถึงการปฏิรูปกฎหมายต่าง ๆ

สนั่น  อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

“ภาพประเทศไทยที่เอกชนอยากเห็นในช่วงอีก 4 ปีนับจากนี้ แน่นอนว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งที่โปร่งใส ชัดเจนและเป็นประชาธิปไตย ก็ควรที่จะบริหารประเทศครบวาระ ซึ่งเอกชนอยากเห็นเสถียรภาพของรัฐบาล และการทำงานร่วมกันของรัฐและเอกชนอย่างชัดเจน ที่ผ่านมาหอการค้าฯ ทำงานกับทุกรัฐบาลอย่างเป็นรูปธรรม โดยมองผลประโยชน์ของประเทศเป็นสำคัญ”

งานยากขึ้นค่าแรงใน 100 วัน

นายชาลี ลอยสูง ที่ปรึกษาคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) กล่าวถึงการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นตํ่า 450 บาท และ 600 บาท ตามที่พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยหาเสียงไว้ หากทำได้ถือเป็นสิ่งที่ดี และจะเป็นกำลังใจต่อผู้ใช้แรงงาน เวลานี้ก็เริ่มมีเสียงทวงถามคำสัญญากันบ้างแล้ว แม้ว่าปัจจุบันค่าครองชีพขยับขึ้นไปสูงกว่าระดับวันละ 600 บาทไปแล้วก็ตาม

อย่างไรก็ตามจากค่าจ้างขั้นตํ่าทั่วประเทศ ณ ปัจจุบัน 328-354 บาท หากขึ้นไปเป็น 450 บาท หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 25% เป็นอัตราเพิ่มน้อยกว่าคราวปรับขึ้นเป็น 300 บาททั่วประเทศในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ แต่ครั้งนี้ไปให้สัญญาว่าจะปรับขึ้นใน 100 วัน น่าติดตามว่าจะทำได้หรือไม่ ซึ่งหากทำไม่ได้รัฐบาลก็จะเสียรังวัด

ปัดฝุ่นรอร่าง พ.ร.บ.“สุราก้าวหน้า”

ด้าน นายเกรียงไกร พัฒนาภรณ์ รองอธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยถึงกรณีพรรคก้าวไกลได้มีการแถลงแผนงานหากได้รับเลือกเป็นรัฐบาล 100 วันแรก จะมีการปลดล็อกกฎกระทรวงการคลังในเรื่องของสุราก้าวหน้านั้น ส่วนนี้อธิบดีกรมสรรพสามิตได้สั่งการให้กรมฯติดตามและศึกษานโยบายของรัฐบาลใหม่เกี่ยวกับการแก้ไขกฎหมายสุราก้าวหน้าแล้ว เพื่อพิจารณารายละเอียดว่าจะเป็นอย่างไร และต้องมีการปรับแก้ส่วนใดหรือไม่ หากมีข้อดีข้อเสียก็ต้องรายงานรัฐบาลใหม่ตามข้อเท็จจริงไป

ทั้งนี้ ปัจจุบันคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบร่างกฎกระทรวงการผลิตสุรา พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ เป็นการแก้ไขปรับปรุงกฎกระทรวงการอนุญาตผลิตสุราพ.ศ. 2560 โดยได้มีการปลดล็อกเรื่องเงินทุนจดทะเบียน และกำลังการผลิตไปส่วนหนึ่งแล้ว ซึ่งสามารถผลิตสุราได้ทั้งโรงขนาดเล็ก กลาง และใหญ่ โดยโรงขนาดเล็กมีกำลังการผลิตไม่เกิน 5 แรงม้า กำลังคนไม่เกิน 7 คน ขนาดกลาง กำลังการผลิตไม่เกิน 50 แรงม้า กำลังคนไม่เกิน 50 คน

ส่วนหากมีการแก้ไขกฎหมายสุราก้าวหน้าให้มีความเสรีจะส่งผลดีต่อผู้บริโภคและผู้ประกอบการอย่างไรนั้น จะต้องติดตามอีกครั้งว่านโยบายดังกล่าวต้องการเปิดให้มีความเสรีมากน้อยเพียงใด เนื่องจากยังมีข้อดีและข้อเสียแตกต่างกัน ซึ่งจะต้องเข้าไปปิดข้อเสีย อีกทั้งจะต้องมีการพิจารณาคุณภาพและมาตรฐานหลักของการผลิต ซึ่งกรมก็ต้องมีการหารือร่วมกับรัฐบาลใหม่อีกครั้ง

“กรมฯพร้อมที่จะรับนโยบายมา แล้วนำมาสรุปข้อดีข้อเสียให้ทางรัฐบาลใหม่ตัดสินใจอีกครั้งหนึ่ง ที่ผ่านมา พรรคก้าวไกลได้มีเสนอร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้าเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว แต่ยังไม่ผ่าน ซึ่งกรมก็จะมีการนำร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวมาพิจารณาอีกครั้งว่าจะต้องมีการปรับแก้อย่างไร” นายเกรียงไกร กล่าว

จี้ปลดล็อกสุราชุมชนทำเหล้าสี

ขณะที่ นายอาชิระวัสส์ วรรณศรีสวัสดิ์ นายกสมาคมคราฟท์เบียร์ประเทศไทย กล่าวว่า ในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เวลานี้ธุรกิจสุรามีปัญหาเรื่องกฎกระทรวงที่ออกมาล่าสุดยังไม่ได้เอื้อประโยชน์รายย่อย ดังนั้นเมื่อพรรคก้าวไกลได้ขึ้นมาเป็นรัฐบาลและต้องการที่จะผลักดันสุราเสรีให้เกิดขึ้นได้ในแผน 100 วันที่ จะต้องมีการแก้กฎกระทรวงที่อาจจะต้องมีการปลดล็อกให้สุราชุมชนสามารถทำเหล้าสีได้ หรือทำเหล้าขาวที่สามารถเติมสี เติมกลิ่น เติมเฟเวอร์เพื่อทำให้มูลค่าสูงขึ้นมากกว่าเป็นเหล้าขาว

รวมทั้งต้องไปเคลียร์กับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งกระทรวงการคลัง กรมสรรพสามิตในเรื่องของกฎระเบียบการผลิต กระทรวงสาธารณสุขในเรื่อง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สผ. ที่ควบคุมเรื่องมลภาวะสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการผลิตเหล้าเบียร์ ซึ่งเป็นจุดที่ทำให้ผู้ประกอบการรายย่อยทุกวันนี้ไม่เกิด และไม่สามารถพัฒนาอุตสาหกรรมไปได้มากเท่าที่ควร

หวังคนตัวเล็กได้อานิสงส์ท่องเที่ยว

นายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวว่าผู้ประกอบการท่องเที่ยวอยากเรียกร้องให้รัฐบาลใหม่เร่งดำเนินการภายใน 100 วัน คือ การเชิญภาคเอกชนร่วมระดมสมองในการแก้ปัญหาด้านการท่องเที่ยวเพื่อกระตุ้นได้อย่างตรงจุด และทำให้ทุกภาคส่วนได้รับประโยชน์จากการท่องเที่ยวได้อย่างแท้จริง และผลักดันให้การท่องเที่ยวเป็นวาระแห่งชาติ จากเกี่ยวข้องกับหลายกระทรวง

ชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

ที่ผ่านมาคนที่ได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวจะกระจุกตัวอยู่เฉพาะในจังหวัดท่องเที่ยวไม่กี่จังหวัด เช่น ภูเก็ต กระบี่ เชียงใหม่ ชลบุรี และธุรกิจขนาดกลางและใหญ่จะได้ประโยชน์ แต่คนตัวเล็ก รวมถึงจังหวัดส่วนใหญ่ยังมีโอกาสในการรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติน้อยมาก สิ่งที่อยากเห็นคือภาคการท่องเที่ยวทั่วประเทศได้รับอานิสงส์ และฐานรากทุกคนได้ประโยชน์

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3888 วันที่ 18 - 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2566