ตลาดแรงงานไทยไตรมาสแรกฟื้นตัว อัตราว่างงานลดลงเหลือ 4.2 แสนคน

03 พ.ค. 2566 | 04:45 น.

สำนักงานสถิติฯ เผยผลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากร ไตรมาส 1 ปี 2566 และตัวชี้วัดด้านแรงงานที่สำคัญ ตลาดแรงงานไทยฟื้นตัวอย่างเห็นได้ชัดเจน จากการทำงานเต็มเวลาเพิ่มขึ้น อัตราว่างงานลดลงเหลือ 4.2 แสนคน

ดร.ปิยนุช วุฒิสอน ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) เปิดเผยว่าสำนักงานสถิติแห่งชาติ ทำการสำรวจภาวะการทำงานของประชากร เพื่อติดตาม สถานการณ์แรงงานในทุกสามเดือนหรือรายไตรมาส โดยข้อมูลจากการสำรวจฯ สะท้อนสถานการณ์ปัจจุบันของตลาดแรงงานไทย

ตลาดแรงงานไทยไตรมาสแรกฟื้นตัว อัตราว่างงานลดลงเหลือ 4.2 แสนคน

รวมทั้งนำข้อมูลจากการสำรวจฯ มาจัดทำตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้องกับการว่างงานและตลาดแรงงานของประเทศ  สถานการณ์ด้านแรงงานในไตรมาสแรกของปี 2566 จากผลการสำรวจพบว่าสถานการณ์ด้านแรงงานมีการปรับตัวดีขึ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปี 2565

ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

- โครงสร้างกำลังแรงงาน ประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป จำนวน 58.8 ล้านคน เป็นผู้อยู่ในกำลังแรงงาน 40.3 ล้านคน หรือร้อยละ 68.5 และที่เหลืออยู่นอกกำลังแรงงานประมาณ 18.5 ล้านคน โดยผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงาน ประกอบด้วยผู้มีงานทำ 39.6 ล้านคน (ร้อยละ 98) และผู้ว่างงาน 4.2 แสนคน

ตลาดแรงงานไทยไตรมาสแรกฟื้นตัว อัตราว่างงานลดลงเหลือ 4.2 แสนคน

- สถานการณ์การมีงานทำในไตรมาส 1 ปี 2566 ตลาดแรงงานไทยฟื้นตัวอย่างเห็นได้ชัดเจน เห็นได้จาก การทำงานเต็มเวลาเพิ่มขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า (ไตรมาส 1 ปี 2565) พบว่า จำนวนผู้ทำงานเต็มเวลา (ทำงาน 35-49 ชั่วโมงต่อสัปดาห์) เพิ่มขึ้นกว่า 3 แสนคน เช่นเดียวกันกับผู้ที่ทำงาน 50 ชั่วโมงขึ้นไปต่อสัปดาห์ มีจำนวนเพิ่มขึ้นกว่า 7 แสนคน ในขณะที่ผู้ที่ทำงานน้อยกว่า 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ลดลงเกือบ 1.3 แสนคน

- การว่างงานลดลง สำหรับสถานการณ์การว่างงานในไตรมาสนี้ลดลงเหลือ 4.2 แสนคน หรือร้อยละ 1.1 ซึ่งกลับมาเท่ากับช่วงก่อนการแพร่ระบาดโควิด-19 สำหรับการว่างงานระยะยาว (หรือการว่างงาน ตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป) พบว่ามีทิศทางที่ดีขึ้น โดยการว่างงานระยะยาวในไตรมาส 1 ปี 2566 มีจำนวนลดลงกว่า 26,000 คน จากไตรมาสก่อนหน้า (จากเดิม 1.13 แสนคน เป็น 87,000 คน) และกลุ่มคนว่างงานระยะยาวที่จบการศึกษาสูงสุดระดับปริญญาตรี มีจำนวนลดลงอย่างมากในไตรมาสนี้ จาก 45,000 คนในไตรมาสที่แล้ว เหลือเพียง 35,000 คน

- สถานการณ์แรงงานอีกประเด็นที่ต้องติดตาม คือ ผู้เสมือนว่างงาน ซึ่งหมายถึงที่มีชั่วโมงทำงานต่อสัปดาห์น้อยกว่าเกณฑ์ที่กำหนด นั่นคือ ไม่เกิน 20 ชั่วโมงสำหรับภาคเกษตรกรรม และไม่เกิน 24 ชั่วโมงสำหรับนอกภาคเกษตรกรรม ผู้เสมือนว่างงานนี้เป็นกลุ่มที่ต้องให้ความสำคัญ เนื่องจากแม้จะยังมีงานทำแต่ก็มีรายได้ที่ลดลงตามชั่วโมงการทำงาน มีความเสี่ยงที่จะกลายเป็นผู้ว่างงานได้ในอนาคต โดยผู้เสมือนว่างงานในไตรมาส 1 ปี 2566 นี้ มีจำนวน 3.4 ล้านคน ซึ่งเพิ่มขึ้น 1.3 ล้านคนจากไตรมาสก่อนหน้า (2.1 ล้านคน) แต่หากเทียบ 3 ปี ย้อนหลังของไตรมาสเดียวกัน พบว่า มีแนวโน้มที่ลดลง

- การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของตลาดแรงงานในไตรมาสที่ 1 ปี 2566 คือการเติบโตของแรงงานในภาคการท่องเที่ยว หลังจากที่จีนกลับมาเปิดประเทศและมีนักท่องเที่ยวชาวจีนเดินทางเข้ามายังประเทศไทยเป็นจำนวนมาก พบว่า ในภาคการท่องเที่ยว กิจกรรมที่พักแรม การบริการอาหารและเครื่องดื่ม หรือตัวแทนธุรกิจท่องเที่ยว มีอัตราการว่างงานที่ลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ของปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะกิจกรรมตัวแทนธุรกิจท่องเที่ยวที่อัตราการว่างงานลดลงเกือบ 7 เท่า จากร้อยละ 27.6 เหลือเพียงร้อยละ 4.2