ย้อนรอย มหากาพย์ คดี "สายสีส้ม" ถึงคำชี้ขาดศาลปกครองสูงสุด

06 เม.ย. 2566 | 23:39 น.

ส่องมหากาพย์ คดีรถไฟฟ้าสายสีส้ม 1.4 แสนล้านบาท หลังบีทีเอส ฟ้องร้องศาลปกครอง-ศาลอาญาคดีทุจริตฯ ปมเปลี่ยนเกณฑ์ประมูล-กีดกันการแข่งขัน ส่อเอื้อเอกชนบางราย กระทบองค์กรเสียหายหนัก

โครงการรถไฟฟ้าสายส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มูลค่า 1.4 แสนล้านบาท ยังกลายเป็นประเด็นร้อนระอุต่อเนื่องมากกว่า 2 ปี อีกทั้งยังต้องลุ้นว่าประชาชนจะได้ใช้บริการตามเป้าหมายที่วางไว้หรือไม่ หากย้อนไทม์ไลน์ของโครงการฯนี้จะพบว่าในการเปิดประมูลครั้งแรกนั้นการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้ดำเนินการขายซองเอกสารข้อเสนอการร่วมลงทุนและมีผู้ซื้อซองเอกสารรวม 10 ราย โดยกำหนดให้มีการยื่นซองเอกสารเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2563 ตั้งแต่ยังไม่ทันเริ่มเปิดประมูลโครงการฯ

 

ที่ผ่านมาบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ได้ทำหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ขอให้ทบทวนวิธีการประเมินข้อเสนอ การร่วมทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯโดยระบุว่าไม่ควรพิจารณาให้ผู้ชนะการคัดเลือกเป็นผู้ที่เสนอผลประโยชน์ทางการเงินสูงสุดเท่านั้น แต่ควรพิจารณาผู้ที่ให้ประโยชน์สูงสุดแก่รัฐในภาพรวม ที่จะทำให้โครงการประสบความสำเร็จได้ เป็นจุดชนวนที่ทำให้รฟม.ปรับเปลี่ยนประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุน (RFP) โครงการรถไฟฟ้าสายนี้ โดยรื้อหลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกข้อเสนอใหม่กลางคัน หลังจาก รฟม. ปิดการขายซองเอกสารประมูลไปแล้วเกือบ 1 เดือน

ด้วยเหตุนี้ทำให้บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี 1 ในผู้ซื้อและยื่นซองเอกสารการร่วมลงทุนของโครงการฯ เห็นว่าการประมูลโครงการฯไม่โปร่งใส และเอื้อเอกชนบางรายในการแข่งขันครั้งนี้ ทำให้บริษัทได้รับความเสียหาย จนนำมาสู่การฟ้องร้องต่อศาลปกครองในคดีการประมูลครั้งที่ 1 คดีเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาผู้ชนะ เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2566 ในคดีแรกนี้ศาลปกครองสูงสุดได้พิพากษายกฟ้องการเปลี่ยนหลักเกณฑ์การประมูลครั้งแรกชอบด้วยกฎหมาย

 

โดยศาลวิเคราะห์ว่ารฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 มีอำนาจดำเนินการตามกฎหมาย เนื่องจากโครงการฯมีโครงสร้างงานโยธาที่ละเอียดอ่อนจากการขุดเจาะอุโมงค์ใต้ดิน ส่งผลให้มีการแก้ไขหลักเกณฑ์ อีกทั้งรฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 ได้เปิดกว้างให้ผู้ยื่นข้อเสนอทุกรายสามารถยื่นข้อเสนอแนะในการจัดทำหลักเกณฑ์การประเมินได้ โดยไม่ได้มีเพียงบมจ.อิตาเลียนไทย ที่ยื่นข้อเสนอแนะเพียงรายเดียว

ถัดมาในคดีที่ 2 คดี รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 เห็นชอบยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนและยกเลิกการคัดเลือกเอกชนของโครงการฯ หลังจากที่มีการปรับหลักเกณฑ์การพิจารณาใหม่ โดยในคดีนี้เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2566 ศาลปกครองสูงสุดได้พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น ยกฟ้อง รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 มีอำนาจยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนและยกเลิกการคัดเลือกเอกชนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มชอบด้วยกฎหมาย

 

ทั้งนี้ศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยว่าในกรณีที่คดีรถไฟฟ้าสายสีส้มมีการฟ้องร้องคดีหลายสำนวนของศาลปกครองจึงไม่สามารถทราบวันเวลาว่าจะสิ้นสุดคดีลงเมื่อไร ดังนั้นเพื่อลดความเสี่ยงที่จะทำให้โครงการฯมีปัญหาล่าช้า เบื้องต้น ทางคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 สามารถเดินหน้าการเปิดประมูลโครงการฯโดยไม่ต้องรอให้ศาลวินิจฉัย เนื่องจากศาลเห็นว่าเป็นการวินิจฉัยทั่วไปที่สามารถยอมรับได้

 

นอกจากนี้ศาลวินิจฉัยอีกว่า คณะกรรมการคัดเลือกมาตรา 36 ยังไม่ได้พิจารณาเอกสารข้อเสนอการร่วมลงทุนของเอกชนรายใด ทำให้การยกเลิกการประมูลในครั้งนี้ไม่ได้เอื้อประโยชน์ต่อเอกชนรายใดรายหนึ่ง ซึ่งไม่ได้ขัดความเสมอภาคและเป็นการดำเนินการโดยสุจริต

 

ขณะที่คดีที่ 3 การประมูลครั้งที่ 2 บีทีเอสซีได้ฟ้องต่อศาลปกครองในประเด็นรฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 กีดกันการแข่งขันไม่ให้เข้าร่วมการประมูล ปัจจุบันศาลปกครองกลางรับคดีไว้พิจารณา ยังไม่มีการนัดไต่สวนเพิ่มเติม

 

ข้ามฟากมาอีก 1 คดีที่อยู่ในศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ซึ่งเป็นคดีที่บีทีเอสซีฟ้องรฟม.และคณะกรรมการมาตรา 36 ในกรณีที่แก้ไขเอกสารการประกวดราคาและยกเลิกการคัดเลือกเอกชน ถือเป็นการทุจริตและละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ปัจจุบันคดีนี้ทางบีทีเอสซีอยู่ระหว่างขอขยายเวลาอุทธรณ์คำพิพากษา

 

ล่าสุดนายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) กล่าวถึงกรณีที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษายกฟ้องคดีล้มประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม หลังบีทีเอสยื่นฟ้องรฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 ว่า รฟม.สามารถชี้แจงข้อกล่าวหาได้ทั้งหมด ทำให้ผลการตัดสินของศาลออกมาแบบนี้

 

“เรื่องนี้เป็นการยืนยันว่าที่ผ่านมา รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 ดำเนินการอยู่บนพื้นฐานและอำนาจหน้าที่ที่ชอบด้วยกฎหมาย หลังจากนี้จะต้องรอให้คณะรัฐมนตรีชุดใหม่เป็นผู้พิจารณาเห็นชอบผลการคัดเลือกการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ซึ่งตามขั้นตอน ครม.จะต้องส่งเรื่องกลับมาที่กระทรวงคมนาคม เพื่อให้รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมคนใหม่ยืนยันอีกครั้ง หากพิจารณาแล้วเห็นชอบตามเดิม กระทรวงจะสามารถนำเสนอเรื่องให้ครม.พิจารณาต่อไปได้ ทำให้ยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะลงนามในสัญญากับเอกชนผู้ชนะการประมูลได้เมื่อไร”

ย้อนรอย มหากาพย์ คดี \"สายสีส้ม\" ถึงคำชี้ขาดศาลปกครองสูงสุด

นายภคพงศ์ กล่าวต่อว่า การที่รฟม.ยังมีคดีฟ้องร้องอยู่ในชั้นศาลนั้นจะไม่ส่งผลกระทบต่อการลงนามในสัญญากับเอกชน ไม่จำเป็นต้องรอผลของคดีทั้งหมดเสร็จสิ้น สามารถลงนามในสัญญากับเอกชนได้ เพราะปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายฉบับไหนที่ระบุว่าเมื่อถูกฟ้องคดีจะต้องยุติการดำเนินการตามสัญญา ยกเว้นกรณีศาลมีคำสั่ง

 

 ปัจจุบันยังเป็นที่ตั้งข้อสังเกตว่าโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มจะเริ่มลงนามสัญญาร่วมกับเอกชนได้เมื่อไร หากโครงการฯล่าช้าออกไปจะส่งผลให้ประชาชนเสียประโยชน์ในการใช้บริการรถไฟฟ้าสายนี้หรือไม่ เพราะขณะนี้เป็นช่วงรัฐบาลรักษาการ ซึ่งไม่มีอำนาจพอที่จะอนุมัติโครงการฯได้ หากต้องการให้โครงการฯเดินหน้าต่อ จะต้องรอให้รัฐบาลชุดใหม่เข้ามาสานต่อโครงการนี้ หลังสิ้นสุดกระบวนการเลือกตั้งต่อไป

 

 ทั้งนี้ยังเป็นที่น่าจับตาอีกว่า หากโครงการฯไม่สามารถลงนามสัญญาร่วมกับเอกชนได้ จะส่งผลให้รถไฟฟ้าสายสีส้ม ส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศ ไทย-มีนบุรี ไม่สามารถนำรถไฟฟ้าเข้ามาเดินรถให้บริการได้ตามแผนที่วางไว้ เนื่องจากสัญญาการเดินรถส่วนตะวันออกอยู่ในสัญญาของรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย หากดึงสัญญาในส่วนนี้เพื่อเดินหน้าเปิดให้บริการส่วนตะวันออก ในระหว่างที่ยังไม่ได้ลงนามสัญญากับเอกชนจะสามารถดำเนินการได้หรือไม่