ผ่าระบบบำนาญของฝรั่งเศส ในมุมมอง "วรวรรณ ธาราภูมิ"

06 เม.ย. 2566 | 01:30 น.

วรวรรณ ธาราภูมิ ประธานกรรมการบริหาร บลจ.บัวหลวง มองปัญหาระบบบำนาญของฝรั่งเศส ที่กำลังเป็นประเด็นร้อนจุดกระแสประท้วงทั่วประเทศขณะนี้ จะถอดเป็นบทเรียนอะไรให้ไทยได้บ้าง 

 

วรวรรณ ธาราภูมิ ประธานกรรมการบริหาร บลจ.บัวหลวง ชำแหละปัญหา ระบบบำนาญของฝรั่งเศส ที่กำลังเป็นประเด็นร้อนจุดกระแสประท้วงทั่วประเทศขณะนี้ ผ่านบทความ “ระบบบำนาญของฝรั่งเศส” ที่โพสต์ในเพจเฟซบุ๊กส่วนตัว “วรวรรณ ธาราภูมิ” เมื่อวันที่ 3 เม.ย.ที่ผ่านมา มีเนื้อหาที่น่าจะถอดเป็น บทเรียน สำหรับประเทศไทยได้เช่นกัน ดังนี้

ระบบบำนาญของฝรั่งเศส

ตั้งแต่ 19 มกราคม ปีนี้ ก็ 2 เดือนครึ่งแล้วที่ประชาชนชาวน้ำหอมออกมาประท้วงนโยบายยืดอายุรับเงินบำนาญของประธานาธิบดีมาครง จนกรุงปารีสและหลายเมืองทั่วประเทศชุลมุนวุ่นวาย ขยะเกลื่อนเมืองการเดินทางติดขัด หลังสหภาพแรงงานนัดหยุดงานประท้วงใหญ่ และได้บานปลายกลายเป็นความรุนแรงในหลายพื้นที่

สหภาพแรงงานขนาดใหญ่ 8 แห่งนัดหยุดงาน จนมีแรงงานจำนวนมากออกมาชุมนุมบนถนนในกรุงปารีสรวมถึงเมืองใหญ่ทั่วประเทฯ โดยคนที่มาร่วมประท้วงมีพนักงานรัฐ คนขับรถไฟ พนักงานโรงกลั่นน้ำมันครู และแรงงานภาคส่วนอื่นๆ ด้วย ทำให้ถนนหลายสายในกรุงปารีสเป็นอัมพาตเพราะรถไฟใต้ดินและรถไฟระหว่างเมืองยกเลิกให้บริการในหลายเส้นทาง ทำให้โรงเรียนและหน่วยงานของรัฐหลายแห่งต้องปิดทำการชั่วคราว

ส่วนจำนวนผู้ประท้วงนั้น ทางมหาดไทยบอกว่าราว 1.2 ล้านคน โดยเป็นผู้ที่ออกมาประท้วงในกรุงปารีส800,000 คน แต่สหภาพแรงงานบอกว่า 2,000,000 คนทั่วประเทศ โดยชุมนุมกันอยู่ในกรุงปารีส 400,000 คน

อีกโพสต์ของผู้เขียนที่เกี่ยวเนื่องกัน

ความโกรธเคืองของผู้ประท้วงบานปลายไปจนถึงขั้นปะทะกับตำรวจควบคุมฝูงชนแล้ว โดยผู้ชุมนุมบางส่วนได้จุดไฟเผาสถานที่ราชการ ทุบทำลายอาคารห้างร้าน และสาธารณูปโภค (มันต้องมีคนฮือเข้าไปฉกเอาของในห้างร้านออกมาแน่ๆ) นอกจากนี้ เที่ยวบินหลายเที่ยวยังต้องระงับการให้บริการ และแน่นอน … มีขยะล้นเมืองเพราะพนักงานหยุดเก็บขยะ ฯลฯ

เหตุการณ์มันปั่นป่วนกันจนเจ้าหน้าที่ต้องใช้แก๊สน้ำตาเพื่อสลายการชุมนุม

เรียกได้ว่าเป็นเหตุการณ์ประท้วงของฝรั่งเศสที่รุนแรงเลวร้ายที่สุดในรอบหลายปี และไม่มีทีท่าว่าจะจบสิ้นเพราะสหภาพแรงงานได้กำหนดวันนัดหยุดงานประท้วงใหญ่อีกครั้ง ซึ่งเป็นครั้งที่ 11 ในวันที่ 6 เมษายนนี้

คนที่ออกมาประท้วงนั้นเขาไม่ได้ท้องผูก เรื่องของเรื่องก็คือ รัฐบาลฝรั่งเศสเห็นแล้วว่าจะไม่สามารถจ่ายเงินบำนาญให้ประชาชนตามที่เคยสัญญาเอาไว้ จึงต้องปฏิรูประบบให้ขยายอายุเกษียณจาก 62 ปี เป็น64 ปี และจะเพิ่มเงินบำนาญขั้นต่ำให้จากเดิม 1,000 ยูโรต่อเดือน (ประมาณ 37,000 บาท) เป็น 1,200 ยูโรต่อเดือน (ประมาณ 44,000 บาท) โดยคนวัยทำงานต้องจ่ายเงินสมทบเพิ่มขึ้นอีก 2 ปี จากจ่ายเงิน41 ปี มาเป็น 43 ปี เพื่อให้ตนเองได้รับเงินบำนาญจากคนทำงานรุ่นหลังได้เต็มจำนวน

ก็จ่ายเงินเลี้ยงคนแก่เพิ่มขึ้นนั่นแหละ แล้วก็รอให้คนรุ่นหลังมาจ่ายเงินเข้าระบบเพื่อให้คนรุ่นนี้ที่ยังทำงานจะได้มีเงินบำนาญเมื่อตัวเองเกษียณแล้ว ข้าพเจ้าคาดว่าเมื่อถึงเวลาจ่ายเขาคงทยอยจ่าย ไม่ได้ให้เงินก้อนทันที เพื่อให้ระบบมีระยะเวลาในการรับเงินใหม่เพิ่มจากคนที่ยังทำงานอยู่

เป็นเธอที่ยังทำงานอยู่ เธอจะยอมไหมล่ะกับระบบเกิดก่อนสบายกว่าแบบนี้น่ะ

นี่คือข้อเสียของระบบบำนาญแบบการันตีการจ่ายเงินให้ โดยจ่ายแบบไม่ว่าคุณจะทำงานแล้วใส่เงินเข้าไปในระบบเท่าไหร่ หรือไม่ได้ใส่เลยก็ตาม เมื่อคุณเกษียณแล้วคุณก็จะได้รับเงินตามที่เขาระบุเอาไว้ล่วงหน้า

( ก็นักการเมืองเขาหาเสียงไว้แบบนี้นี่นา )

ผู้ชุมนุมในฝรั่งเศสนัดประท้วงใหญ่อีกครั้งในวันนี้ (6 เม.ย.2566)

3 แบบแผนและระบบการเงินสากลของโครงการบำนาญชราภาพ

รูปแบบที่ 1 กำหนดประโยชน์ที่จะได้รับยามเกษียณ (Defined Benefit Scheme-DB Scheme) เรียกย่อว่า DB

เป็นแผนที่มีการกำหนดประโยชน์ทดแทนที่เราจะได้รับยามเกษียณไว้ล่วงหน้าแน่นอนว่าจะเป็นเท่าไหร่โดยอัตราประโยชน์ทดแทนที่จะได้รับนี้จะเป็นตัวกำหนดอัตราเงินสมทบที่ลูกจ้างจะต้องส่งเข้าระบบหรือกองทุนกลาง

ที่แย่คือการจ่ายประโยชน์ทดแทนนี้ไม่ได้สัมพันธ์กับจำนวนเงินสมทบที่ลูกจ้างที่เป็นสมาชิกจ่ายเข้ากองทุนตลอดช่วงที่เป็นสมาชิกเลย

ทั้งนี้ เขามีวัตถุประสงค์เพื่อให้สมาชิกมีรายได้เพียงพอในการดำรงชีพหลังเกษียณไม่ต่ำกว่ามาตรฐานขั้นต่ำของอนุสัญญาความมั่นคงขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 102 ที่กำหนดขั้นต่ำไว้ร้อยละ 40 ของค่าจ้างก่อนเกษียณ

ตัวอย่างประเทศที่ใช้รูปแบบนี้คือ ประเทศไทย สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร เยอรมัน ญี่ปุ่น ฝรั่งเศสเป็นต้น

 

รูปแบบที่ 2 กำหนดเงินสมทบ (Defined Contribution Schemes-DC scheme) เรียกย่อว่า DC

เป็นแผนบำนาญที่กำหนดการจ่ายประโยชน์ทดแทนตามจำนวนเงินสมทบที่สมาชิกแต่ละคนนั้นจ่ายเข้ากองทุน ไม่ได้สัญญาตายตัวว่าจะจ่ายให้เท่าไหร่ เงินที่สมาชิกจะได้รับเมื่อเกษียณจึงขึ้นอยู่กับเงินที่ตนเองจ่ายเข้าและดอกผลจากการลงทุนที่กองทุนนั้นบริหาร

รูปแบบนี้บางประเทศจ่ายประโยชน์ทดแทนแก่สมาชิกเมื่อเกษียณเป็นเงินก้อนเต็มจำนวนครั้งเดียว บางโครงการจ่ายคืนเป็นเงินรายเดือนและให้ได้รับไปตลอดชีวิต

ตัวอย่างเช่น โครงการบำนาญรายบุคคล (Individual Pension Accounts) ของหลายประเทศ โครงการบำนาญรายบุคคลของสหรัฐอเมริกา (Personal Retirement Account–PRA) หรือการสะสมเป็นบัญชีรายบุคคลดำเนินการโดยเอกชน ซึ่งเป็นที่นิยมกันมากในโซนอเมริกาใต้ ชิลี เป็นประเทศแรกที่ริเริ่มโครงการสะสมบัญชีรายบุคคลดำเนินการโดยเอกชน ธนาคารโลกให้การสนับสนุนและช่วยเหลือจนประสบความสำเร็จเป็นตัวอย่างให้แก่ประเทศอื่นๆ ในภาคพื้นเดียวกัน

 

รูปแบบที่ 3 กำหนดเงินสมทบที่มีการปรับดัชนีค่าของเงินบำนาญ (Notional Defined Contributions Scheme-NDC Scheme) เรียกย่อว่า NDC

เป็นแผนบำนาญชราภาพที่กำหนดเงินสมทบโดยมีการทบทวนดัชนีอัตราค่าจ้าง หรือรายได้ประชาชาติ(GDP) เป็นประจำทุกปี ดังนั้น การจ่ายประโยชน์ทดแทนตามจำนวนเงินสมทบที่สมาชิกจ่ายเข้าโครงการที่ได้สะสมไว้ในบัญชีส่วนบุคคลของสมาชิกจคงมีการคิดค่าดัชนีมูลค่าของเงินบำนาญในแต่ละปีให้เนื่องจากยิ่งนานวันมูลค่าเงินบำนาญจะลดลงตามภาวะเศรษฐกิจและภาวะเงินเฟ้อ

รูปแบบนี้ ประเทศสวีเดนเป็นผู้พัฒนาขึ้นระหว่างปี 1990

 

รูปแบบที่ 1  DB นั้น หากยังอยู่ในช่วงที่เศรษฐกิจเติบโต มีประชากรเกิดใหม่ที่จะเป็นแรงงานในอนาคตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มันก็น่าจะไปได้สวย

แต่ปัจจุบันนี้มันไม่ใช่แล้ว คนแก่จำนวนเพิ่มขึ้นแถมยังไม่ตายสักที มีอายุยืนยาวมากขึ้น คนเกิดใหม่ก็หดลง เพราะหนุ่มสาวไม่ยอมมีลูก ดังนั้น แรงงานในอนาคตจึงจะหดลงในขณะที่คนแก่มีอายุยืนยาวและมีจำนวนเพิ่มขึ้น แล้วเงินมันจะไปพอจ่ายได้ยังไง

ดังนั้น รูปแบบที่ 2 และ 3 จึงเหมาะสมกว่า เพราะจ่ายเข้ากองทุนเพื่อตนเอง และได้รับเงินยามเกษียณจากส่วนของตน ไม่ได้กินแรงลูกหลานแบบระบบแรกที่เป็นการ “แก่ก่อนได้เปรียบ”

แล้วประกันสังคมของประเทศไทยใช้แบบแผนใด ?

ก็แบบ 1 DB นี่แหละ แถมในส่วนที่รัฐต้องจ่ายเข้ากองทุนก็ไม่ได้จ่ายเต็มซะด้วยซี