"กปน." เคลียร์ปมตัดสิทธิ์เอกชน ประมูลโรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์

27 มี.ค. 2566 | 11:30 น.

"กปน." ยืนกรานประมูลงานโรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ ยึดหลักพ.ร.บ. การจัดซื้อฯ ปี60 หลังเอกชนฟ้องยื่นอุทธรณ์ฟ้องศาลปกครอง เหตุปัดตกข้อเสนอคุณสมบัติต่ำกว่าเกณฑ์

นายมานิต ปานเอม ผู้ว่าการการประปานครหลวง (กปน.) เปิดเผยว่า กรณีที่มีผู้ยื่นอุทธรณ์และขอให้ศาลปกครองขอทุเลาให้มีการบังคับการประกาศผู้ชนะไปก่อน จากการประกาศผลการจัดซื้อจัดจ้างงานก่อสร้างขยายกำลังการผลิตน้ำที่โรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ ขนาด 800,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน พร้อมงานที่เกี่ยวข้อง สัญญา GE-MS5/6-9 ของการประปานครหลวง นั้น

เบื้องต้นคณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคาได้ปฏิบัติตามมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ประกอบตามมาตรา 65 ในการพิจารณาคัดเลือกข้อเสนอโดยวิธีการจัดซื้อจัดจ้างตามมาตรา 55 หน่วยงานของรัฐจะต้องดำเนินการ

โดยพิจารณาถึงประโยชน์ของหน่วยงานของรัฐ และวัตถุประสงค์ของการใช้งานเป็นสำคัญ โดยคำนึงถึงเกณฑ์ราคาและพิจารณาเกณฑ์อื่นประกอบด้วย ตามมาตรา 65 (2) มาตรฐานของสินค้าหรือบริการ และมาตรา 65 (6) ข้อเสนอด้านเทคนิคหรือข้อเสนออื่น

ขณะเดียวกันหลังจากที่ กปน. ได้รับทราบผลการอุทธรณ์จากคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียน กรมบัญชีกลาง เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2565 กปน. ได้ดำเนินการหารือกรมบัญชีกลางตามหนังสือที่ มท 5450-3-1.2/17914 ลงวันที่ 8 มิถุนายน 2565 เรื่อง ขอหารือแนวทางการพิจารณาผลการเสนอราคา และแนวทางการดำเนินการตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียน

ทั้งนี้กรมบัญชีกลางได้มีหนังสือตอบกลับ ด่วนที่สุด ที่ กค(กวจ) 0405/31807 ลงวันที่ 31 สิงหาคม 2565 สรุปใจความสำคัญว่า หาก กปน. ดำเนินการพิจารณาผลการประกวดราคาใหม่ตามที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียนได้แจ้งผลอุทธรณ์ให้ กปน. ทราบ กรณีดังกล่าว

เมื่อ กปน. กลับไปพิจารณาผลการประกวดราคา ย่อมต้องพิจารณาผู้ยื่นข้อเสนอที่มีคุณสมบัติครบถ้วน ถูกต้องตามเงื่อนไขในประกาศและเอกสารประกวดราคาที่ กปน. กำหนด และให้เรียงลำดับรายที่คัดเลือกไว้ไม่เกิน 3 ราย

นายมานิต กล่าวต่อว่า การดำเนินการดังกล่าวแสดงให้เห็นโดยแจ้งชัดว่า คณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคาได้ปฏิบัติตามข้อหารือและถูกต้องตรงตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560

นอกจากนี้ในการประกวดราคาครั้งนี้ กปน. ยังได้เปิดโอกาสให้มีการรับฟังความคิดเห็นร่างประกาศและร่างเอกสารประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์และร่างเอกสารแนบท้ายเอกสารประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ ข้อ 1 จำนวน 2 ครั้ง ได้แก่ ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 9 กันยายน–1 ตุลาคม 2564 และครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 19-25 ตุลาคม 2564 พร้อมเปิดโอกาสให้ผู้สนใจยื่นข้อซักถามได้อีกในช่วงประกาศประกวดราคา

 " กปน. ได้ชี้แจงข้อสอบถาม เพื่อให้มีความชัดเจนและมีการแข่งขันอย่างเป็นธรรมโดยเท่าเทียมกัน จากนั้นได้ประกาศเป็นสาธารณะให้ทราบทั่วกัน ผ่านทางเว็บไซด์ของ กปน. และกรมบัญชีกลาง งานก่อสร้างขยายกำลังการผลิตน้ำที่โรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ ขนาด 800,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน พร้อมงานที่เกี่ยวข้อง สัญญา GE-MS5/6-9 เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2564"

นายมานิต กล่าวต่อว่า ผู้อุทธรณ์ ซึ่งเป็นผู้ยื่นข้อเสนอในการจัดซื้อจัดจ้างในครั้งนี้ ไม่ได้วิจารณ์หรือเสนอแนะร่างเอกสารประกาศประกวดราคา และร่างเอกสารแนบท้ายเอกสารประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ ข้อ 1 เอกสารแนบท้ายเอกสารประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ รายการละเอียดด้านวิศวกรรม (ข้อเสนอด้านเทคนิคที่ต้องพิจารณาคุณสมบัติและวัตถุประสงค์การ ใช้งานเป็นสำคัญ) ข้อ 1.1.2 เล่ม 2/8 ใบเสนอราคาและเอกสารแนบท้าย ข้อ 1.1.6 เล่ม 6/8 รายการละเอียดประกอบแบบเพิ่มเติมแต่อย่างใด

"ผู้อุทธรณ์จึงใช้สิทธิอุทธรณ์ในครั้งหลังนี้อีกไม่ได้ ซึ่งเป็นไปตามกฎกระทรวงกำหนด เรื่อง การจัดซื้อจัดจ้างกับหน่วยงานรัฐที่ใช้สิทธิอุทธรณ์ไม่ได้ พ.ศ. 2560”

สำหรับการพิจารณาอุทธรณ์ในครั้งหลังนี้ การพิจารณาได้เป็นไปตามหนังสือคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียน กรมบัญชีกลาง ด่วนที่สุด กค(กอร) 0405.5/ว 374 ลงวันที่ 6 สิงหาคม 2562 โดยหากมีการอุทธรณ์ในประเด็นดังต่อไปนี้

ข้อ 2 กรณีเป็นเรื่องที่อุทธรณ์ไม่ได้ตามที่กำหนดในมาตรา 115 ประกอบกฎกระทรวงกำหนด เรื่องการจัดซื้อจัดจ้างกับหน่วยงานของรัฐที่ใช้สิทธิอุทธรณ์ไม่ได้ พ.ศ. 2560 ให้แจ้งผู้อุทธรณ์ด้วย หากผู้อุทธรณ์ประสงค์จะโต้แย้งคำวินิจฉัยดังกล่าว ผู้อุทธรณ์มีสิทธิโต้แย้งโดยฟ้องคดีต่อศาลปกครอง ภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยจากหน่วยงานของรัฐ

ทั้งนี้ ในการพิจารณาพบว่าผู้อุทธรณ์ทั้ง 2 ราย ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ประกาศไว้ในเอกสารประกวดราคา งานก่อสร้างขยายกำลังการผลิตน้ำที่โรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ ขนาด 800,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน พร้อมงานที่เกี่ยวข้อง สัญญา GE-MS5/6-9 ของการประปานครหลวง รายละเอียดด้านวิศวกรรม (ข้อเสนอด้านเทคนิคที่ต้องพิจารณาคุณสมบัติและวัตถุประสงค์การใช้งานเป็นสำคัญ)

นอกจากนี้กปน. ได้ส่งหนังสือแจ้งผลการพิจารณาและวินิจฉัยอุทธรณ์ไปยังผู้อุทธรณ์ ลงวันที่ 22 มีนาคม 2566 เป็นที่เรียบร้อยแล้วนายมานิต กล่าวต่อว่า จากรายละเอียดข้างต้นแสดงให้เห็นว่า กปน. ได้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 และระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ถูกต้องครบถ้วนทุกประการ

"ในการพิจารณาว่า กปน.จะตัดสินให้ผู้ใดเป็นผู้ชนะการประกวดราคาได้นั้น คณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคา ไม่ได้พิจารณาจากราคาต่ำสุดเพียงอย่างเดียว แต่จะต้องพิจารณาข้อเสนอทางด้านเทคนิคและอุปกรณ์ที่ผู้ยื่นข้อเสนอได้เสนอเข้ามาต้องมีความถูกต้องครบถ้วน เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด"