“ทางหลวง” ดัน 3 เส้นทาง MR-MAP เชื่อมระบบรางแก้รถติด

17 มี.ค. 2566 | 08:19 น.

“ทางหลวง” เร่งศึกษาแผนแม่บท MR-MAP นำร่อง 3 เส้นทาง กว่า1,000 กม. เชื่อมโครงข่ายถนน-ระบบราง แก้ปัญหารถติด เล็งจัดโรดโชว์ดึงเอกชนร่วมทุนปลายปีนี้ คาดชงคมนาคม-ครม.ไฟเขียว ภายในปี 67

กระทรวงคมนาคม เร่งจัดทำแผนพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองและระบบราง (MR-MAP) ซึ่งเป็นโครงการที่มีเส้นทางที่พัฒนาเป็นทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ร่วมกับระบบราง หากโครงการฯแล้วเสร็จจะช่วยแก้ปัญหาอุบัติเหตุและการจราจรติดขัดบนทางหลวงในอนาคต

รายงานข่าวจากกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า สำหรับความคืบหน้าแผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองและระบบราง (MR-MAP) ระยะทางรวม 6,852 กิโลเมตร (กม.) ปัจจุบันกรมฯอยู่ระหว่างศึกษาทบทวนแผนแม่บททางหลวงพิเศษระหว่างเมืองและบูรณาการร่วมกับระบบราง

พร้อมทั้งศึกษาความเหมาะสม ด้านวิศวกรรรม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม เบื้องต้น (Pre-Feasibility Study) ทุกเส้นทางครอบคลุมแผนแม่บทฯ คาดว่าจะศึกษาโครงการฯแล้วเสร็จพร้อมจัดแผนโรดโชว์เพื่อดึงเอกชนร่วมลงทุนโครงการฯภายในปลายปี 2566 
 

สำหรับการศึกษาโครงการฯในครั้งนี้ พบว่าเส้นทางที่เหมาะสมพร้อมนำร่องในโครงการฯ ประกอบด้วย

1. เส้นทาง MR2 (กรุงเทพฯ/ชลบุรี-หนองคาย) ช่วงแหลมฉบัง-นครราชสีมา ระยะทาง 315 กิโลเมตร (กม.)

2. เส้นทาง MR8 ชุมพร-ระนอง ระยะทาง 89 กิโลเมตร (กม.)

3. เส้นทาง MR10 วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร รอบที่ 3 แบ่งเป็น 4 ช่วง ดังนี้

3.1 วงแหวนฯ รอบที่ 3 ด้านตะวันออก ช่วง ทล.305-ทล.34 ระยะทางรวม 52 กิโลเมตร (กม.)

3.2 วงแหวนฯ รอบที่ 3 ด้านใต้ ทล.34-ทล.35 ระยะทางรวม 77 กิโลเมตร (กม.)

3.3 วงแหวนฯ รอบที่ 3 ด้านตะวันตก ช่วง ทล.35-นครปฐม ระยะทางรวม 28 กิโลเมตร (กม.) 3.4 วงแหวนฯ รอบที่ 3 ด้านตะวันตก ช่วง นครปฐม-สุพรรณบุรี ระยะทางรวม 73 กิโลเมตร (กม.)

ทั้งนี้ตามแผนหากดำเนินการศึกษาโครงการฯแล้วเสร็จ กรมฯจะเสนอแผนแม่บท MR-MAP ให้เป็นแผนระดับ 3 เพื่อเป็นกรอบในการดำเนินการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองและระบบรางของประเทศต่อไป

โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะนำแนวเส้นทางตามแผนแม่บท MR-MAP ไปศึกษาความเหมาะสมฯ ออกแบบรายละเอียด จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เพื่อขออนุมัติโครงการ และจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน คาดว่าจะเสนอต่อกระทรวงคมนาคมและคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบได้ภายในปี 2567 หลังจากนั้นจะดำเนินการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน และเริ่มก่อสร้างต่อไป
 

ส่วนความคืบหน้าการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผล กระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ปัจจุบันโครงการอยู่ระหว่างจัดทำรายการตรวจสอบข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Checklist) ของเส้นทางใน MR-MAP ทั้ง 10 เส้นทาง โดยเส้นทางนำร่องได้ศึกษา EIA แล้ว 3 เส้นทาง ดังนี้

1. เส้นทาง MR2 (กรุงเทพฯ/ชลบุรี-หนองคาย) ช่วงแหลมฉบัง- นครราชสีมา อยู่ระหว่างพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)

2. MR8 ชุมพร-ระนอง ขณะนี้การศึกษาการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมได้จัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE) แล้วเสร็จ ซึ่งอยู่ระหว่างการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EHIA) ของท่าเรือ

“ทางหลวง” ดัน 3 เส้นทาง MR-MAP เชื่อมระบบรางแก้รถติด

3. MR10 เส้นทางวง แหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร รอบที่ 3 ปัจจุบันกรมฯ มีแผนของบประมาณปี 2567 เพื่อออกแบบรายละเอียดและจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ในเส้นทางวงแหวนฯ รอบที่ 3 ด้านตะวันออก ช่วง ทล.32-ทล.305 และ ช่วง ทล.305-ทล.34 ขณะที่การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) มีแผนออกแบบรายละเอียดพร้อมจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผล กระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ช่วงวงแหวนฯ รอบที่ 3 ด้านใต้ ทล.34-ทล.35 ภายในปี 2566

ทั้งนี้โครงการฯได้ดำเนินการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งประเทศต่อแผนแม่บท MR-MAP และผลการศึกษาความเหมาะสมด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ และผลสิ่งแวดล้อม (Pre-Feasibility Study) ครอบคลุมทุกเส้นทางตามแผนแม่บท MR-MAP

โดยมีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2564 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งได้เชิญกลุ่มจังหวัดในแนวเส้นทางที่โครงการผ่านทั่วทั้งประเทศเข้าร่วมประชุมผ่านห้องประชุมหลักของโครงการและเข้าร่วมประชุมทางไกลผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Zoom Cloud Meetings) โดยแบ่งกลุ่มพื้นที่จัดประชุมออกเป็น 9 กลุ่ม ดำเนินการกลุ่มละ 2 ครั้ง ในครั้งแรกเป็นการนำเสนอร่างแผนแม่บท MR-MAP และคัดเลือกแนวเส้นทางที่เหมาะสม 

ส่วนครั้งที่ 2 เป็นการสรุปการปรับปรุงแผนแม่บท MR-MAP และการออกแบบแนวเส้นทาง พร้อมผลการศึกษาความเหมาะสมด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ และผลกระทบสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันโครงการอยู่ระหว่างดำเนินการจัดการมีส่วนร่วมของประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ภาคตะวันออก ที่จังหวัดชลบุรี สำหรับการรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชนในรายเส้นทางจะดำเนินการในขั้นตอนต่อไป

สำหรับโครงข่ายทาง หลวงพิเศษระหว่างเมืองและระบบราง (MR-MAP) แบ่งเป็น แนวเหนือ-ใต้ 3 เส้นทาง ระยะทางรวม 3,526 กิโลเมตร (กม.) ประกอบด้วย MR1 เชียงราย-นราธิวาส ระยะทาง 2,108 กิโล เมตร (กม.), MR2 กรุงเทพฯ/ชลบุรี-หนองคาย ระยะทาง 894 กิโลเมตร (กม.), MR3 บึงกาฬ-สุรินทร์ ระยะทาง 524 กิโลเมตร (กม.) ด้านแนวตะวันออก-ตะวันตก 6 เส้นทาง ระยะทางรวม 2,738 กิโลเมตร (กม.)

ประกอบด้วย MR4 ตาก-นครพนม ระยะทาง 872 กิโลเมตร (กม.), MR5 กาญจนบุรี-อุบลราชธานี ระยะทาง 700 กิโลเมตร (กม.), MR6 กาญจนบุรี-สระแก้ว ระยะทาง 381 กิโลเมตร (กม.), MR7 กรุงเทพฯ-ระยอง/ตราด  ระยะทาง 460 กิโลเมตร (กม.), MR8 ชุมพร-ระนอง ระยะทาง 89 กิโล เมตร (กม.), MR9 สุราษฎร์ธานี-ภูเก็ต ระยะทาง 227 กิโลเมตร (กม.) และแนวเส้นทางเชื่อมต่อกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวน 1 เส้นทาง คือ MR10 วงแหวนรอบกรุงเทพมหานครรอบที่ 3 ระยะทางรวม 597 กิโลเมตร (กม.)