มท.1 สั่ง ตรวจสอบอาคาร รับมือ"แผ่นดินไหว"

14 ก.พ. 2566 | 10:12 น.

“มท.1”  สั่ง กรมโยธา ฯ  เตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติ เหตุภัยแผ่นดินไหวของตุรกี กำชับอาคารสิ่งปลูกสร้าง ต้องมีแปลนก่อสร้าง -ดำเนินการถูกต้องตามกฎหมาย ห้ามปล่อยปละละเลย

 

 

 

 

โศกนาฏกรรม ภัยพิบัติแผ่นดินไหวครั้งรุนแรง ในประเทศตุรกี  สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจ และชีวิตทรัพย์สินจำนวนมาก  ล่าสุด พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.1) เป็นประธานการประชุมติดตามการขับเคลื่อนงานตามนโยบายรัฐบาลและภารกิจสำคัญของกระทรวงมหาดไทย

โดยมีประเด็นที่เกี่ยวข้อง กับกรมโยธาธิการและผังเมือง ในเรื่องการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยพิบัติ การป้องกันและแก้ไขปัญหากรณีเกิดสถานการณ์แผ่นดินไหว  สร้างความเสียหายมหาศาล

ทั้งนี้  พลเอก อนุพงษ์ มีข้อสั่งการว่า   เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่ไม่สามารถคาดเดาได้   ขอให้มีการเตรียมความพร้อมเครื่องมือ อุปกรณ์ เพื่อเร่งสำรวจตรวจสอบ และมีการฝึกซ้อมแผนเผชิญเหตุ โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีความเสี่ยงการเกิดแผ่นดินไหว และพื้นที่เฝ้าระวัง นอกจากนี้ การตรวจสอบอาคาร หรือสิ่งปลูกสร้าง

 

ให้เป็นไปตามกฎหมายอาคาร ทั้งอาคารที่กำลังจะสร้าง และสร้างไปแล้ว ที่สำคัญต้องมี “แบบแปลนการก่อสร้าง” เพื่อสามารถนำออกมาใช้ได้ทันทีหากเกิดเหตุขึ้น และแบบแปลนการก่อสร้างต้องดำเนินการให้เป็นไปตามที่ได้รับอนุญาตไว้ตามที่กฎหมายกำหนด "ห้ามปล่อยปละละเลย"

   นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวว่า ตามข้อสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จึงได้กำชับให้โยธาธิการและผังเมืองจังหวัด เตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์แผ่นดินไหว โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหว ให้กำชับเจ้าพนักงานท้องถิ่นตรวจสอบว่า

ในการขออนุญาตก่อสร้างอาคารที่กำหนดตามกฎกระทรวง อาคารได้มีการออกแบบเพื่อรองรับแรงแผ่นดินไหวแล้วหรือไม่ หรือหากเห็นว่าอาคารมีสภาพเป็นภยันตรายจากแผ่นดินไหว ก็ให้ออกคำสั่งให้เจ้าของอาคารดำเนินการแก้ไขอาคารให้สามารถต้านทานแรงแผ่นดินไหวได้ ซึ่งการควบคุมการก่อสร้างอาคาร

ในพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหว ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 โดยออกกฎกระทรวงกำหนดการรับน้ำหนัก ความต้านทาน ความคงทนของอาคารและพื้นดินที่รองรับอาคารในการต้านทาน

มท.1 สั่ง ตรวจสอบอาคาร รับมือ\"แผ่นดินไหว\"

แรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว พ.ศ. 2564 โดยจำแนกพื้นที่ในการควบคุมอาคารออกเป็น 3 บริเวณ รวม 43 จังหวัด ได้แก่

“บริเวณที่ 1” เป็นบริเวณที่ต้องเฝ้าระวัง ได้แก่ กระบี่ ชุมพร ตรัง นครพนม นครศรีธรรมราช บึงกาฬ ประจวบคีรีขันธ์ พิษณุโลก เพชรบุรี เลย สงขลา สตูล สุราษฎร์ธานี และหนองคาย (รวม 14 จังหวัด)

“บริเวณที่ 2” เสี่ยงภัยในระดับปานกลาง ได้แก่ กรุงเทพมหานคร กำแพงเพชร ชัยนาท นครปฐม นครสวรรค์ นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา พังงา ภูเก็ต ระนอง ราชบุรี สมุทรปราการ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สุพรรณบุรี และอุทัยธานี (รวม 17 จังหวัด) และ “บริเวณที่ 3” เสี่ยงภัยในระดับสูง ได้แก่ กาญจนบุรี เชียงราย เชียงใหม่ ตาก น่าน พะเยา แพร่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน สุโขทัย และอุตรดิตถ์ (รวม 12 จังหวัด)

  สำหรับประชาชนหากต้องการตรวจสอบเบื้องต้นว่าอาคารบ้านเรือนมีความเสี่ยงภัยแผ่นดินไหวมากหรือน้อยเพียงใด  สามารถตรวจสอบได้ตามคู่มือปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยและการก่อสร้างอาคารในพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหวฉบับประชาชน ของกรมโยธาธิการและผังเมือง หากทำการตรวจสอบในเบื้องต้นแล้ว

พบว่าอาคารของท่านมีความเสี่ยงภัยแผ่นดินไหว ซึ่งอาคารอาจไม่ปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน ควรปรึกษาวิศวกรหรือผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบโครงสร้างอาคาร เพื่อดำเนินการตรวจสอบอาคารโดยละเอียด และหาแนวทางในการปรับปรุงแก้ไข หรือการเสริมความมั่นคงแข็งแรงให้กับอาคารต่อไป

มท.1 สั่ง ตรวจสอบอาคาร รับมือ\"แผ่นดินไหว\"