7 เม.ย.นี้ "การทางพิเศษ" เปิดยื่นซองประมูลทางด่วนกะทู้-ป่าตอง 1.4 หมื่นล้าน

31 ม.ค. 2566 | 06:46 น.

"การทางพิเศษ" เล็งเปิดให้เอกชนยื่นซองประมูลทางด่วนกะทู้-ป่าตอง วงเงิน 1.4 หมื่นล้านบาท ภายใน วันที่ 7 เม.ย.นี้ คาดลงนามสัญญาผู้ชนะภายในเดือนธ.ค.66 เร่งตอกเสาเข็ม 4 ปี พร้อมเปิดให้บริการ 70

นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า สำหรับโครงการทางพิเศษสายกะทู้-ป่าตอง จังหวัดภูเก็ต ปัจจุบันกทพ.ได้มีการประชุมเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนการยื่นข้อเสนอของเอกชน (Pre-bid Meeting) หลังจาก กทพ. ได้ประกาศจำหน่ายเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน ในระหว่างวันที่ 26 ธันวาคม 2565 จนถึงวันที่ 25 มกราคม 2566 หลังจากนี้กทพ.จะเปิดให้เอกชนยื่นซองข้อเสนอในวันที่ 7 เมษายน 2566 คาดว่าจะสามารถลงนามในสัญญากับบริษัทผู้ได้รับคัดเลือกในเดือนธันวาคม 2566 หลังจากนั้นจะดำเนินการก่อสร้างโครงการนี้ได้ในช่วงปี 2566-2570 และจะสามารถเปิดให้บริการได้ทันการจัดงาน Specialised Expo 2028 ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นในช่วงเดือนมีนาคม-มิถุนายน 2571

 

 

สำหรับโครงการฯ ดังกล่าวมีบริษัทเอกชนทั้ง ไทย จีน และฝรั่งเศส สนใจซื้อเอกสารและเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ จำนวน 13 ราย ประกอบด้วย บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน), บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน), บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน), บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จํากัด (มหาชน), บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน), บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน), บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด(มหาชน), บริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด(มหาชน), บริษัท ไร้ท์ทันเน็ลลิ่ง จำกัด (มหาชน)

ส่วนอีก 4 บริษัท เป็นบริษัทต่างชาติ ประกอบด้วย บริษัท ไชน่า ฮาเบอร์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด, บริษัท ไชน่า เรลเวย์ 20 บิวโร กรุ๊ป (ไทยแลนด์) จำกัด, SRBG Bridge Engineering จากประเทศจีน และบริษัท Egis จากประเทศฝรั่งเศส

7 เม.ย.นี้ "การทางพิเศษ" เปิดยื่นซองประมูลทางด่วนกะทู้-ป่าตอง 1.4 หมื่นล้าน

 ทั้งนี้โครงการทางพิเศษสายกะทู้–ป่าตอง จังหวัดภูเก็ต มูลค่าเงินลงทุนโครงการรวม 14,670.57 ล้านบาท ประกอบด้วย ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 5,792.24 ล้านบาท ค่าก่อสร้าง (รวมค่าควบคุมงาน) 8,878.33 ล้านบาท โดยจะใช้รูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ในรูปแบบ PPP Net Cost โดยภาครัฐรับผิดชอบการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน ในขณะที่ภาคเอกชนรับผิดชอบการออกแบบรายละเอียดและการก่อสร้าง (รวมถึงค่าควบคุมงาน) และการดำเนินงานและบำรุงรักษา (Operation and Maintenance : O&M) โดยเอกชนเป็นผู้จัดเก็บรายได้ค่าผ่านทางทั้งหมด

ส่วนผลตอบแทนด้านการเงิน NPV อยู่ที่ 1,734.37 ล้านบาท Equity IRR เป้าหมาย 8.50% B/C Ratio 1.12 เท่า Payback Period 21 ปี โครงการนี้มีความเหมาะสมด้านเศรษฐกิจ โดยมีอัตราผลตอบแทนด้านเศรษฐกิจ (EIRR) เท่ากับ 20.44%

7 เม.ย.นี้ "การทางพิเศษ" เปิดยื่นซองประมูลทางด่วนกะทู้-ป่าตอง 1.4 หมื่นล้าน

นายสุรเชษฐ์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้เอกชนจะต้องโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ลงทุนทั้งหมดให้แก่ภาครัฐก่อนเริ่มเปิดบริการในลักษณะของ BTO (Build-Transfer-Operate) มีระยะเวลาร่วมลงทุนรวม 35 ปี นับจากวันที่ กทพ. มีหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน (Notice to Proceed) การแบ่งขอบเขตความรับผิดชอบระหว่างภาครัฐและเอกชนเป็น 2 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 การออกแบบและก่อสร้าง ระยะเวลาไม่มากกว่า 4 ปี นับจากวันที่ กทพ. มีหนังสือแจ้งให้เริ่มปฏิบัติงาน (Notice to Proceed)

 

ระยะที่ 2 การดำเนินงานและบำรุงรักษา ระยะเวลานับจากสิ้นสุดระยะเวลาสำหรับงานในระยะที่ 1 โดยมีระยะเวลารวม ทั้งระยะที่ 1 และระยะที่ 2 ไม่มากกว่า 35 ปี

 

นอกจากนี้กทพ.ได้คาดการณ์ปริมาณจราจรของโครงการฯ ณ ปีเปิดให้บริการ ประมาณ 71,000 คันต่อวัน แบ่งเป็น รถยนต์ 36,000 คันต่อวัน และรถจักรยานยนต์ 35,000 คันต่อวัน

7 เม.ย.นี้ "การทางพิเศษ" เปิดยื่นซองประมูลทางด่วนกะทู้-ป่าตอง 1.4 หมื่นล้าน

อย่างไรก็ตามโครงการทางพิเศษสายกะทู้-ป่าตอง จังหวัดภูเก็ต มีเป้าหมายเพื่อเชื่อมโยงการเดินทางจากอำเภอกะทู้ไปยังหาดป่าตอง และอำนวยความสะดวกในการเดินทางให้กับคนในพื้นที่ นักท่องเที่ยว รวมทั้งส่งเสริมการท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ต โดยโครงการฯ จะสามารถช่วยบรรเทาปัญหาการจราจร และอุบัติเหตุบนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4029 รวมทั้งสามารถใช้เป็นเส้นทางอพยพกรณีเกิดภัยพิบัติอีกด้วย