เศรษฐกิจฟื้น หนุนตลาดแรงงานปรับตัวดีขึ้น

11 ธ.ค. 2565 | 01:52 น.

ตลาดแรงงานฟื้น สวนทางความมั่นคงรายได้และแรงงานจบใหม่ยังหางานทำ คนทำงานเต็มเวลาต่ำกว่าช่วงก่อนโควิด ชี้โจทย์ใหญ่หามาตรการรองรับโครงสร้างแรงงานย้ายถิ่นหันทำอาชีพอิสระมากขึ้น

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้สร้างบาดแผลทางเศรษฐกิจและทิ้งร่องรอยแผลเป็นทางเศรษฐกิจ หรือ economic scars ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะกลางและยาว

 

ล่าสุดคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานตัวเลขเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 ปี 2565 สะท้อนแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนจะยังเป็นแรงส่งสำคัญของเศรษฐกิจในระยะต่อไป

 

 

 

ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงาน Economic Intelligence Center  (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ขณะนี้ภาพเศรษฐกิจฟื้นตัวดีขึ้นจากภาคการท่องเที่ยวและภาคบริการ ซึ่งทั้ง 2 ภาคเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ใช้แรงงานเข้มข้น เห็นได้จากสถานการณ์ตลาดแรงงานปรับตัวดีขึ้น 

ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ

 

เช่น อัตราว่างงานลดลง ผู้เสมือนว่างงานลดลง ส่วนแรงงานย้ายถิ่นยังไม่กลับเข้าสู่ระบบ แต่มีประเด็นน่าสนใจคือ สัดส่วนแรงงานในระบบประกันสังคมมาตรา 33 ลดลงมากสอดคล้องกับผู้ทำอาชีพอิสระที่มากขึ้นกว่าก่อนเกิดโควิด-19

 

 

 

“ปัจจัยเหล่านี้สะท้อนสถานการณ์ดีขึ้น แต่ยังไม่ดีใกล้ระดับก่อนโควิด ซึ่งประเด็นแรงงานย้ายถิ่น โดยเฉพาะภาคบริการที่แรงงานกลับสู่ภูมิลำเนา แต่ยังไม่กลับมาทำงานในระบบ สะท้อนโครงสร้างตลาดแรงงานที่ปรับเปลี่ยนไป จึงเป็นโจทย์ที่ผู้บริหารเศรษฐกิจต้องคิดหามาตรการระยะยาว เพื่อรองรับแรงงานย้ายถิ่นที่หันทำอาชีพอิสระมากขึ้น”ดร.สมประวิณกล่าว

 

ทั้งนี้ภาพการว่างงานปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง โดยล่าสุดลดลงมาอยู่ที่ระดับ 1.2% ยังอยู่เหนือกว่าค่าเฉลี่ยก่อนโควิด-19 ซึ่งอยู่ที่ราว 1% ถือว่า ปรับตัวดีขึ้นค่อนข้างเร็ว สาเหตุหลักจากแรงงานภาคบริการที่ฟื้นตัว สอดคล้องกับรายได้ที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะในภาคบริการ จำนวนคนทำงานตํ่าระดับ (ตํ่ากว่า 35 ชม. ต่อสัปดาห์) ที่ลดลง และชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นมาใกล้ค่าเฉลี่ยก่อนโควิด-19

 

สำหรับผู้เสมือนว่างงานนั้นลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าชัดเจน อยู่ที่ประมาณ 1.86 ล้านคนจากสูงสุดที่ 5.4 ล้านคนในไตรมาส 2 ปี2563 และลดลงจนใกล้เคียงกับช่วงจุดตํ่าสุดในไตรมาส3 ปี 2562 

 

เช่นเดียวกับ “ผู้ว่างงานระยะยาวเกิน 1 ปี” ลดลงต่อเนื่องเช่นกัน จากที่เคยเป็นสัดส่วนที่มากที่สุด หากจำแนกตามระยะเวลาที่ออกจากงานในไตรมาส1ปีก่อนโดยข้อมูลไตรมาสล่าสุด ผู้ว่างงานที่เคยทำงานและว่างงานช่วง 1-3 เดือนคิดเป็นสัดส่วนมากที่สุด

 

ส่วนผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานนั้น พบว่า อยู่ในระดับทรงตัวและยังถือว่าสูงกว่าก่อนโควิดค่อนข้างมากโดยเป็นกลุ่มแรงงานอายุน้อยเป็นสัดส่วนสูง (15-24 ปี) ประมาณ 75% และอายุมากกว่า 25 ปีราว 25%

 

อาจสะท้อนถึงการหางานทำของแรงงานจบใหม่ที่ยังไม่ดีและผู้เคยทำงานมาก่อนสอดคล้องกับภาพรวมที่ปรับตัวดีขึ้นมากจนกลับมาใกล้เคียงระดับก่อนโควิด โดยล่าสุดว่างงานที่เคยทำงานมาก่อนอยู่ตํ่ากว่าว่างงานที่ไม่เคยทำงานเป็นครั้งแรกนับแต่ช่วงก่อนโควิด

 

“คนทำงานตํ่าระดับเพิ่มขึ้นในภาคเกษตร จำนวนคนทำงานเต็มเวลาปรับเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะค้าส่ง ค้าปลีกและการผลิต จำนวนคนทำงานล่วงเวลาลดลงในเกือบทุกสาขาธุรกิจ”

 

ขณะเดียวกันแรงงานย้ายถิ่น ภาพรวมมีการย้ายถิ่นกลับมาทำงานในกรุงเทพฯ รวมถึงภาคกลางมากขึ้นจากสิ้นปี 2563 ที่แรงไทยย้ายจาก กทม.และภาคกลางกลับภาคอีสานและภาคเหนือมาก

 

ประกอบกับแรงงานต่างด้าวที่หายไปด้วยแต่การย้ายถิ่นกลับมากทม.และภาคกลางยังเป็นไปช้าๆ และยังไม่กลับมาเท่าช่วงก่อนโควิด อาจสะท้อนถึงแรงงานที่ยังกลับมาไม่เต็มที่ โดยเฉพาะแรงงานต่างด้าว

 

อีกประเด็นที่น่าสนใจ คือสัดส่วนแรงงานในระบบประกันสังคม ม.33 ลดลงมาก สอดคล้องกับผู้ประกอบอาชีพอิสระที่มากขึ้นกว่าก่อนโควิด ราวๆ 1.5 ล้านคน และลูกจ้างเอกชนที่ลดลง อาจจะสะท้อนถึงความมั่นคงทางรายได้ของภาคแรงงานที่ลดลง

 

สอดคล้องกับดร.เชาว์ เก่งชน ประธานกรรมการบริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัดกล่าวว่า ผู้ประกันตนตามม.33 ทั้งประเทศมีจำนวน 11.48 ล้านคน เมื่อเดือนตุลาคม 2565 ยังตํ่ากว่าเดือนกันยายน 2562 ประมาณ 2.3 แสนคน

ดร.เชาว์ เก่งชน ประธานกรรมการบริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด

ที่น่าสนใจอีกประเด็นคือ คนทำงานตํ่าระดับตอนนี้มากกว่าก่อนโควิดคือ ทำงานไม่ถึง 35 ชม.กว่า 1.65 แสนราย ส่วนผู้ว่างงาน 4.6 แสนคน จากเดือนกันยายนปี 62 มี 3.85 แสนคน

 

ขณะเดียวกันคนที่มีงานทำตอนนี้มีมากกว่าก่อนโควิด เพราะประชากรที่อยู่ในวัยกำลังแรงงานคือ คนอายุ 15ปีขึ้นไปหางานทำหรือเข้าสู่ตลาดแรงงานมี 40 ล้านคนจากกันยายน 62 มีแค่ประมาณ 38 ล้านคน

 

“ช่วงนี้คนมีงานทำจึงมากกว่าและคนทำงานตํ่าระดับ/ทำงานไม่เต็มเวลากว่า 2.3 แสนคนก่อนโควิดอยู่ที่ 1.65 แสนคน ฉะนั้น หากดูจากผู้ประกันตนภายใต้ม.33 มีไม่ถึง 12 ล้านคน สะท้อนตลาดแรงงานยังไม่ปกติ 100% ส่วนตัวเลขของรายได้จากการจ้างงานนั้น รายได้ไม่น่าจะเพิ่มมากขึ้น เพราะยังมีคนทำงานเต็มเวลาตํ่ากว่าช่วงก่อนโควิด (ไม่รวมเกษตรกร)”ดร.เชาว์ กล่าว