ลุ้นบอร์ด โฮปเวลล์ เคาะฟ้องศาลต่อ เคลียร์ปม “คดีค่าโง่”

04 ธ.ค. 2565 | 05:52 น.

ชงบอร์ดบริษัท โฮปเวลล์ ไฟเขียวฟ้องศาลต่อ สางปัญหา “ค่าโง่โฮปเวลล์” หลังยื่นศาลปกครองค้านพิจารณาคดีใหม่ เล็งศึกษาแนวทางติดตามทรัพย์สินคืน รอรัฐตั้งโต๊ะเจรจายุติคดี

โฮปเวลล์หนึ่ง ในเมกะโปรเจ็กต์ มูลค่า 8 หมื่นล้านบาท ภายใต้การเซ็นสัญญาระหว่างภาครัฐและเอกชนในช่วงปลายปี 2533 พบว่าการก่อสร้างกลับคืบหน้าเพียง 13.7% เท่านั้น จากปัญหาการเวนคืนที่ดินล่าช้าและปัญหาทางการเงินของบริษัท เป็นเหตุให้นำไปสู่การยกเลิกสัญญาสัมปทานช่วงต้นปี 2541จนถูกฟ้องเรียกค่าเสียหายหลายหมื่นล้านบาท


เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมาศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งกลับคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นเป็นให้รับคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ (คดีโฮปเวลล์) ไว้พิจารณา โดยศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า การนับระยะเวลาหรืออายุความในการยื่นข้อเรียกร้องของบริษัทโฮปเวลล์ฯ ต่ออนุญาโตตุลาการในคดีนี้ ตามมาตรา 51 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 ต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่บริษัท โฮปเวลล์ฯ รู้หรือควรรู้เหตุแห่งการฟ้องคดี คือ ตั้งแต่วันที่ 30 มกราคม 2541 ซึ่งเป็นวันที่หนังสือบอกเลิกสัญญาของกระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ส่งไปถึงบริษัท โฮปเวลล์ฯ จำกัด มิใช่นับตั้งแต่วันที่ 9 มีนาคม 2544 อันเป็นวันที่ศาลปกครองเปิดทำการ จึงเป็นเหตุแห่งการรับเรื่องดังกล่าวพิจารณาเป็นคดีใหม่
 

รายงานข่าวจากบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สำหรับความคืบหน้าโครงการระบบการขนส่งทางรถไฟยกระดับในกรุงเทพมหานครหรือคดีโฮปเวลล์ ล่าสุดบริษัทได้จัดทำคำให้การแก้คำขอพิจารณาดดีใหม่ต่อศาลปกครองเมื่อเดือนสิงหาคม 2565 โดยรายละเอียดในการขอพิจารณาคดีใหม่นั้นเป็นเรื่องที่บริษัทปฏิเสธเหตุผลของภาครัฐที่ขอพิจารณาคดีใหม่ เช่น ความไม่สุจริตของภาครัฐในการดำเนินการเกี่ยวกับคดีดังกล่าว,การกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายขัดต่อรัฐธรรมนูญ และการยื่นเรื่องต่อศาลปกครองที่ยังไม่ขาดอายุความ

ลุ้นบอร์ด โฮปเวลล์ เคาะฟ้องศาลต่อ เคลียร์ปม “คดีค่าโง่”
เบื้องต้นศาลปกครองได้รับคำคัดค้านขอพิจารณาคดีใหม่ของบริษัทแล้ว โดยศาลได้ทำหนังสือคำชี้แจงขอพิจารณาคดีใหม่ให้แก่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ซึ่งรฟท.จะต้องจัดทำคำชี้แจงกลับมาที่ศาลปกครองโดยกำหนดให้ภาครัฐต้องจัดทำคำชี้แจงภายในระยะเวลา 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับคำสั่งจากศาลปกครอง ทั้งนี้ภาครัฐสามารถขอขยายระยะเวลาการจัดทำคำชี้แจงได้ 30 วัน จำนวน 3 ครั้ง หากภาครัฐทำคำชี้แจงแล้วเสร็จ หลังจากนั้นศาลปกครองจะมีการพิจารณาว่าการจัดทำคำชี้แจงและข้อเท็จจริงครบถ้วนหรือไม่ หากครบถ้วนจะยุติแสงวงหาข้อเท็จจริง เพื่อเตรียมสรุปความเห็นของคดีต่อไป 
 

“ส่วนการฟ้องร้องต่อศาลอื่นๆเพิ่มเติม ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างเตรียมนำวาระเข้าที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทเพื่อหารือว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป  ต้องรอดูว่าคณะกรรมการบริษัทจะมีความพร้อมประชุมเมื่อไร ทั้งนี้ตามหลักการหากจะดำเนินการฟ้องร้องต่อศาลอื่นๆเพิ่มเติม จะต้องรอดูการขอพิจารณาคดีใหม่ที่ศาลปกครองก่อน”

 

รายงานข่าวจากบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวต่อว่า การศึกษาแนวทางติดตามนำทรัพย์สินคืนตามกระบวนการอันชอบด้วยกฎหมายนั้น เป็นแนวทางตามกฎหมายที่มีช่องทาง เมื่อศาลปกครองพิพากษาให้คืนทรัพย์สิน แต่ไม่ดำเนินการ สามารถใช้สิทธิติดตามนำทรัพย์สินคืนตามประมวลกฎหมายแพ่งเพื่อเปิดช่องให้ดำเนินการได้ ทั้งนี้บริษัทอยู่ระหว่างพิจารณาข้อกฎหมายว่าจะดำเนินการอย่างไร ซึ่งมีหลายแนวทาง แต่ทั้งนี้ต้องดูแนวทางที่สามารถดำเนินการและปฏิบัติได้ เช่น การดำเนินการตามศาลปกครองเพื่อขอใช้สิทธิติดตามนำทรัพย์สินคืน,การฟ้องศาลแพ่งเพื่อเปิดคดีใหม่ ฯลฯ 

 

“ขณะนี้บริษัทยังไม่ได้มีการตั้งโต๊ะเจรจากับภาครัฐ หลังจากที่ยุติการเจรจาเมื่อปี 2562 ที่ผ่านมาบริษัทเคยยื่นข้อเสนอให้ภาครัฐคืนเงินตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการบางส่วน ซึ่งยังไม่มีการยื่นข้อเสนอใดๆจากภาครัฐกลับมา ส่วนจะเปิดโต๊ะเจรจาร่วมกับภาครัฐอีกหรือไม่ คงต้องรอดูทางภาครัฐเป็นผู้ดำเนินการเปิดการเจรจา เพราะฝ่ายบริษัทมีความพร้อมที่จะเจรจาอยู่แล้ว ขณะเดียวกันภาครัฐกลับไม่ยอมเปิดช่องให้เจรจา แต่มีการเปิดขอพิจารณาคดีใหม่แทน หากภาครัฐมีความพร้อมและจริงใจในการเจรจาครั้งนี้ บริษัทจะพิจารณาการยื่นข้อเสนอใหม่ในการชำระเงินคืนให้กับบริษัทกว่า 25,000 ล้านบาท แบ่งเป็น เงินต้นราว 11,000 ล้านบาท และดอกเบี้ยยังคิดต่อเนื่องอยู่ที่ 2.4 ล้านบาทต่อวัน”


สำหรับคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2551 มีสาระสำคัญคือ ให้คู่สัญญาทั้ง 2 ฝ่ายคือบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด กับ กระทรวงคมนาคม และ รฟท. คืนสู่สถานะเดิม รวมทั้งให้กระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) คืนเงินค่าตอบแทนให้กับบริษัท โฮปเวลล์ฯ จำนวน 2,850 ล้านบาท รวมทั้งคืนเงินที่บริษัทฯ ได้จ่ายไปแล้วบางส่วน จำนวน 9,000 ล้านบาท รวมทั้งให้คืนหนังสือค้ำประกันสัญญา และคืนค่าธรรมเนียมการออกหนังสือค้ำประกัน จำนวน 38,749,800 บาท ให้แก่บริษัท โฮปเวลล์ฯ พร้อมดอกเบี้ยอัตรา 7.5% ต่อปี