"โฮปเวลล์" เล็งฟ้องคดีอาญา ทวงค่าโง่ 2.7 หมื่นล้าน เอาผิดภาครัฐ

21 มิ.ย. 2565 | 09:17 น.

"โฮปเวลล์" เตรียมฟ้องคดีอาญา ทวงค่าโง่ 2.7 หมื่นล้านบาท ยันดอกเบี้ยเพิ่มต่อเนื่อง หลังภาครัฐเมินตั้งโต๊ะเจรจา หากรัฐยืนยันเดินหน้าทำบริษัทสิ้นสภาพกระทบความเชื่อมั่นลงทุนในประเทศ

นายคอลลิน เวียร์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด แถลงข่าวทวงถามความเป็นธรรมจาก กระทรวงคมนาคม และ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) โดยระบุว่า หลังจากที่โฮปเวลล์ถูกบอกเลิกสัญญาเมื่อปี2541 ใน สัญญาสัมปทานโครงการระบบการขนส่งทางรถไฟยกระดับในกรุงเทพมหานคร (Bangkok Elevated Road and Train System-BERTS) มูลค่า 80,000 ล้านบาท และได้ร้องขอความเป็นธรรมต่อคณะอนุญาโตตุลาการ จนกระทั่งมีคำวินิจฉัยชี้ขาดเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2551 โดยกระทรวงคมนาคมและ รฟท.จะต้องคืนเงินตอบแทน เงินลงทุน รวมทั้งหนังสือค้ำประกันสัญญาสัมปทานและค่าธรรมเนียมแก่บริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด รวมทั้งสิ้น 11,888 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีแต่ปัจจุบันกระทรวงคมนาคม และ รฟท. ยังมิได้ดำเนินการใดๆ ให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ

 

บรรยากาศการแถลงข่าวของโฮปเวลล์ 21 มิ.ย.2565

ทั้งนี้ ยังมีความพยายามทำให้ บริษัทฯ เป็นโมฆะหรือสิ้นสภาพ เป็นความพยายามมุ่งหวังเพียงเพื่อจะไม่ต้องคืนเงินให้แก่โฮปเวลล์ฯ โดยไม่คำนึงถึงความเสียหายต่อภาพลักษณ์การลงทุนของประเทศไทย ต่อความเชื่อมั่นการลงทุนในประเทศไทยของนักลงทุนนานาชาติ ซึ่งตนในฐานะนักลงทุนต่างชาติ หากให้ประเมินโอกาสทางการลงทุนในไทย ขณะนี้ยืนยันว่าไม่สนใจเข้าร่วมลงทุนอีก

 

 นายสุภัทร ติระชูศักดิ์ ฝ่ายกฎหมาย บริษัท โฮปเวลล์ จำกัด กล่าวว่า ที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้มีการเจรจากับภาครัฐ ถึงเรื่องความคืบหน้าของคดีโฮปเวลล์ หลายครั้งแล้วโดยแนวทางหลังจากนี้ ทางบริษัทฯ จะใช้สิทธิ์ทางศาลเนื่องจากที่ผ่านมาภาครัฐมีการยื่นขอพิจารณาคดีรอบสอง ทำให้บริษัทจำเป็นต้องไปดำเนินการแก้ไขให้แล้วเสร็จ ส่วนการเจรจาจะเกิดขึ้นหรือไม่ ขึ้นอยู่กับทางภาครัฐเป็นผู้พิจารณา เพราะทางบริษัทก็เปิดโอกาสให้อยู่ตลอด และยินดีที่จะร่วมเจรจา ทั้งนี้ หากมีการเจรจาจะต้องรอมติที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ก่อน ว่าที่ประชุมมีความคิดเห็นอย่างไร แต่ตามหลักพื้นฐานต้องตั้งอยู่บนสิทธิ์ที่บริษัทฯ ควรจะได้รับตามกฎหมายก่อน และต้องขึ้นอยู่กับภาครัฐว่าจะแสดงเจตนาบริสุทธิ์ จริงใจในการเจรจาอย่างไร

บรรยากาศการแถลงข่าวของโฮปเวลล์ (21 มิ.ย.2565)

“ส่วนกรณีที่จะมีการตั้งโต๊ะเจรจากับภาครัฐ นั้น เรายังไม่มั่นใจว่าการเจรจาครั้งต่อไปจะได้ข้อสรุป เพราะเราไม่ทราบเจตนาของภาครัฐ ว่าเขาต้องการอะไร หรือเป็นการเจรจาเพื่อให้จบ หากภาครัฐไม่รับพิจารณาในการขอเจรจาและไม่รับเงื่อนไขใดๆ เพิ่มเติม และจะดำเนินการตามกฎหมายเพียงอย่างเดียว ทางบริษัทฯ จะดำเนินการตามคดีปกครอง เมื่อท้ายที่สุดแล้วบริษัทชนะคดีศาลปกครองก็มีหน้าที่ที่จะบังคับ ให้ทางภาครัฐจ่ายเงินค่าชดเชยแก่บริษัทฯ ส่วนกรณีที่หลายฝ่ายมองว่าการออกมาแถลงข่าวในครั้งนี้ของบริษัทฯ เป็นการกดดันศาลหรือไม่นั้น ยืนยันว่าไม่ได้กดดันศาลเพียงแต่อยากนำเสนอสื่อ ถึงสิ่งที่เราเรียกร้อง ไม่ใช่ค่าโง่ เพียงแต่ต้องการเงินในส่วนที่บริษัทฯ ลงทุนไปคืนมา”

 

บรรยากาศการแถลงข่าวของโฮปเวลล์ 21 มิ.ย.2565

นายสุภัทร กล่าวว่า กรณีที่มีผู้กระทำวิธีการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก็ต้องปล่อยไปก่อน บริษัทฯ มีเจตนาดีที่จะทำโครงการ และเงินที่ลงทุนทั้งหมดนั้นก็เป็นของบริษัทฯ ดังนั้น ขอให้ลบคำว่าค่าโง่ทิ้ง ขณะเดียวกัน มีการกล่าวถึงอนุสาวรีย์โฮปเวลล์ ที่ต้องอยู่บริเวณริมทางรถไฟ ย่านถนนวิภาวดี นั้น ตอนนี้ตกเป็นของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) แล้ว เนื่องจากไม่ได้ส่งมอบพื้นที่ตามสัญญา

 

 “เราต้องบังคับสิทธิ์ที่เรามีตามกฎหมาย และไม่ดำเนินการนอกเหนือกฎหมาย กฎหมายให้สิทธิ์เราแค่ไหน เราจะบังคับคดีตามนั้น โดยปัจจุบันจำนวนเงินทุนที่บริษัทฯ ต้องได้คืนอยู่ที่ประมาณ 2.7 หมื่นล้านบาท โดยเป็นการยึดตามคำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ในปี 2551 โดยแบ่งเป็นเงินต้น 11,888 ล้านบาท หากคำนวณเป็นค่าธรรมเนียมรายวันอยู่ที่ 2.4 ล้านบาทต่อวัน แม้ว่าปัจจุบันภาครัฐจะขอฟื้นการพิจารณาคดีใหม่ในศาลปกครอง และได้สิทธิ์ในการชะลอจ่าย แต่คำตัดสินของคณะอนุญาโตตุลาการยังคงมีผล ดังนั้น ดอกเบี้ยจะเกิดขึ้นทุกวัน ส่วนกรณีการยื่นฟ้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เมื่อไหร่ นั้น ต้องรอมติที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ อีกครั้ง เพราะต้องมีการหารือร่วมกันหลายประเด็น รวมทั้งการดำเนินคดีอาญาก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ในที่ประชุมให้ความสนใจแต่จะดำเนินคดีกับใครนั้น เราจะดูข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเป็นระยะ ซึ่งปัจจุบันยังไม่ได้ข้อยุติ 100%”

นายสุภัทร กล่าวว่า ส่วนกรณีที่ภาครัฐดำเนินคดีเอาผิดกรณีการจัดตั้งบริษัทโฮปเวลล์ นั้น ซึ่งตอนนี้มีหลักฐานการจัดตั้งบริษัทฯ ที่ขอความเห็นชอบจาก รฟท.ในการประกอบกิจการโครงการลงทุนก่อสร้างระบบการขนส่งทางรถไฟและถนนยกระดับถูกต้องตามกระบวนการ โดยได้รับการพิจารณาเห็นชอบจากกระทรวงพาณิชย์รวมไปถึงนำเสนอไปยัง รฟท.พิจารณาในปี 2533

 

 

“เราจัดตั้งบริษัทถูกต้อง วัตถุประสงค์เพื่อทำโครงการทางยกระดับและทางรถไฟในโครงการนี้อย่างเดียว และในปี2533 การรถไฟฯ ก็เห็นชอบว่าการจัดตั้งบริษัทถูกต้องตามกฎหมาย แต่มาในปี 2564 การรถไฟฯ กลับมาบอกว่าโฮปเวลล์จดทะเบียนไม่ชอบ เป็นการกระทำที่ไม่เป็นธรรม ภาครัฐพยายามที่จะไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย เป็นเรื่องที่เรารับไม่ได้”

 

 

นายวัฒนชัย คุ้มสิน วิศวกร บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ในช่วงของการก่อสร้างโครงการ ปัญหาที่ทำให้ไม่สามารถก่อสร้างได้ตามกำหนด เกิดจาก รฟท.ส่งมอบพื้นที่ล่าช้า นอกจากนี้ยังมีปัญหาจุดตัดกับโครงการอื่นอีก 10 จุด ปัญหาเรื่องการอนุมัติแบบล่าช้าและบางส่วนไม่ได้รับการอนุมัติ รวมไปถึงปัญหาเรื่องแนวเขตทางที่ยังไม่ได้มีการแก้ไข จนกระทั่งฝ่ายรัฐบอกเลิกสัญญาสัมปทานก็ยังแก้ไขปัญหาเหล่านี้ไม่หมด โดยบริษัทฯ ยืนยันว่ามีความพร้อมในการก่อสร้าง ได้เตรียมเครื่องจักรขนาดใหญ่เข้าพื้นที่แต่ก็ไม่สามารถดำเนินการได้