PERFECT STORM ไม่ระคาย เศรษฐกิจไทยปี 65 คาดโตกว่า 3%

16 ต.ค. 2565 | 10:53 น.

เศรษฐกิจไทยได้เข้าสู่โค้งสุดท้ายของปี 2565 อย่างเต็มตัว โดยเครื่องยนต์ขับเคลื่อนหลักได้ทำงานเต็มสูบ ขณะที่บางเครื่องยนต์ยังสะดุด และรอผลสรุป

โดยเครื่องยนต์หลัก เช่น ภาคการส่งออก ตัวเลข 8 เดือนแรก ส่งออกได้แล้ว 1.9 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 11% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) และสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก มั่นใจทั้งปีนี้ส่งออกไทยจะขยายตัวได้ 7-8%

 

ส่วนภาคการท่องเที่ยว มีต่างชาติเข้ามาเที่ยวไทยช่วง 9 เดือนแรกแล้ว 6 ล้านคน ซึ่งการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) รวมถึงภาครัฐและเอกชนอื่นๆ คาดปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเที่ยวไทยได้ตามเป้าหมายที่ 10 ล้านคน ช่วยสร้างเม็ดเงินสู่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไม่ตํ่ากว่า 1.5 ล้านล้านบาท

 

ขณะที่การเบิกจ่ายงบประมาณและการใช้จ่ายของภาครัฐประจำปีงบประมาณ 2565 ซึ่งเป็นอีกเครื่อง ยนต์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2564 ถึง 16 ก.ย. 2565 มีการเบิกจ่ายแล้ว 2.79 ล้านล้านบาท คิดเป็น 90.27% ของวงเงินงบประมาณ

ขณะที่ภาคการลงทุน อีกเครื่องยนต์ที่นำเงินเข้าประเทศ ช่วยสร้างรายได้ภาคแรงงาน สร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ  และช่วยสร้างรายได้จากการส่งออกเพิ่มในอนาคต ตัวเลขช่วง 6 เดือนแรกยังน่าห่วงโดยข้อมูลจากบีโอไอมีโครงการขอรับการส่งเสริม 784 โครงการ เพิ่มขึ้น 4% มูลค่าขอรับส่งเสริม 2.19 แสนล้านบาท ลดลง 42% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งยังต้องรอลุ้นว่า ตัวเลข 9 เดือนแรกและทั้งปีนี้จะออกมาเป็นอย่างไร รวมถึงยังต้องรอผลประชุมบอร์ดบีโอไอที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานจะมีแพ็กเกจดึงการลงทุนใหม่ ๆ อย่างไรบ้าง

 

PERFECT STORM ไม่ระคาย เศรษฐกิจไทยปี 65 คาดโตกว่า 3%

อย่างไรก็ดีในส่วนของภาครัฐ และเอกชนยังคาดการณ์ขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) หรือการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปี 2565 ต่างมั่นใจในทิศทางที่สอดคล้องกันว่า จะขยายตัวได้มากกว่า 3% โดยล่าสุด ณ เดือนตุลาคม ที่ประชุม กกร. ปรับกรอบการขยายตัวของจีดีพีไทยดีขึ้น โดยคาดจะขยายตัวได้ 3.0 ถึง 3.5% (จาก ณ ก.ย. 65 คาดขยายตัวได้ 2.75-3.5%) ส่วนธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดการณ์ ณ เดือนตุลาคมเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 3.3% และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ คาดจะขยายตัวได้ 2.7-3.2% (ณ ส.ค. 65)

 

ทั้งนี้ผลพวงจากภาคการส่งออกที่มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารที่ยังเป็นที่ต้องการของตลาด โดยทุกประเทศทั่วโลกมุ่งเน้นความมั่นคงด้านอาหารจากผลกระทบสงครามรัสเซีย-ยูเครน ภาคการท่องเที่ยวที่ปรับตัวดีขึ้นหลังเปิดประเทศ และรัฐบาลอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวในด้านต่าง ๆ รวมถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ที่กลับเข้าสู่ภาวะปกติหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

 

ส่วนปัจจัยลบต่อเศรษฐกิจไทยก็ยังมีอยู่มาก ทั้งราคาพลังงาน ราคานํ้ามันที่แม้เวลานี้จะลดลงมาบ้าง แต่ก็ถือว่าทรงตัวในระดับสูง (โดยเฉพาะราคาดีเซล) ค่าไฟฟ้าที่ปรับขึ้นเป็น 4.72 บาทต่อหน่วย (รอบ ก.ย.-ธ.ค.) และยังต้องลุ้นค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) รอบหน้าจะปรับขึ้น-ลงอย่างไร อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ค่าครองชีพของประชาชนสูงขึ้น และต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการที่อยู่ระดับสูงจากราคาวัตถุดิบนำเข้าที่สูงขึ้นจากเงินบาทอ่อนค่าที่ต้องใช้เงินบาทในการนำเข้าเพิ่มขึ้น อุทกภัยที่ส่งผลให้หลายสิบจังหวัดยังต้องเผชิญปัญหาทั้งพื้นที่เศรษฐกิจ บ้านเรือน พื้นที่เกษตร ประมง ปศุสัตว์ เสียหาย โดย กกร.คาดโดยรวมทั่วประเทศจะเสียหายรวมกัน 5,000-10,000 ล้านบาท

 

ขณะที่ในภาคอุตสาหกรรมการผลิตของไทยเวลานี้ นายเกรียงไกร  เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศ ไทย (ส.อ.ท.)ระบุ ต้องเผชิญ PERFECT STORM (สถานการณ์ย่ำแย่ที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กัน) ทั้งค่าแรงขั้นตํ่าที่ปรับขึ้นอีก 5-8%,  อัตราแลกเปลี่ยนที่ค่าเงินบาทอ่อนมากสุดรอบ 16 ปี (แตะ 38 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ), อัตราดอกเบี้ยปรับเพิ่มขึ้นเป็น 1% และมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น, ต้นทุนค่าขนส่งในการส่งออกยังทรงตัวระดับสูง โดยเดือนสิงหาคมอยู่ที่ 800 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อ TEU (เพิ่มขึ้น 45% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน)

 

นอกจากนี้เงินเฟ้อที่ยังอยู่ระดับสูง (เดือน ส.ค.อยู่ที่ 7.86% สูงสุดรอบ 14 ปี), การขาดแคลนวัตถุดิบ เกิด Supply Shortage เช่น เซมิคอนดักเตอร์(ชิป) วัตถุดิบอาหารสัตว์ ปุ๋ย สารเคมี และอื่นๆ, ต้นทุนค่าพลังงาน ค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 17% ราคานํ้ามันสูงสุดรอบ 8 ปี เป็นต้น

 

เกรียงไกร  เธียรนุกุล

 

ส่วนปัจจัยบวกต่อเศรษฐกิจไทยในเวลานี้ ภาคส่งออก ภาคการท่องเที่ยว ยังขับเคลื่อนได้ดี การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นตํ่าทำให้ภาคแรงงานมีรายได้เพิ่มขึ้น รัฐบาลยังประกันรายได้สินค้าเกษตร 5 ชนิด และมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น คนละครึ่ง เราเที่ยวด้วยกัน การเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเอเปค จะทำ ให้ภาพลักษณ์ประเทศไทยเป็นประเทศที่น่าเข้ามาท่องเที่ยว และน่าลงทุนเพิ่มขึ้น การเมืองเข้าสู่โหมดเลือกตั้งจะทำให้เม็ดเงินสะพัดในระบบเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น

 

จากปัจจัยบวกเศรษฐกิจไทยที่ยังมี ขณะที่ปัจจัยลบที่ส่วนใหญ่เป็นปัจจัยจากนอกประเทศก็ยังมีอยู่มากเช่นกัน ถึงที่สุดแล้วคาดปีนี้ประเทศไทยจะสามารถฝ่าฟัน PERFECT STORM และขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ขยายตัวได้ไม่ตํ่ากว่า 3% จากปี 2564 ขยายตัว 1.6% มีความเป็นไปได้สูง