เศรษฐกิจไทย “ไปช้า” แต่อย่าให้เครื่องสะดุด

14 ต.ค. 2565 | 05:05 น.

บทบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3827

เศรษฐกิจไทยหลังโควิด-19 ฝ่าปัจจัยลบ ทั้งจากภายนอก อาทิ คลื่นกระแทกจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน การขึ้นดอกเบี้ยสู้เงินเฟ้อของสหรัฐฯ-ยุโรป หรือข้อจำกัดภายใน เช่น การฟื้นตัวของภาคเศรษฐกิจที่ไม่เท่ากัน ต้นทุนประกอบการเพิ่มสูง กำลังซื้อฟื้นเปราะบาง แต่ยังพอประคองตัวไปได้ต่อเนื่อง

 

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ประจำเดือนกันยายน 2565 อยู่ที่ 91.8% ปรับตัวเพิ่มจาก 90.5 ในเดือนก่อนหน้า และปรับเพิ่มต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 โดยองค์ประกอบดัชนีปรับเพิ่มเกือบทุกรายการ ยกเว้นต้นทุนประกอบการ แต่ดัชนียังต่ำกว่า 100 สะท้อนความเชื่อมั่นยังอยู่ในระดับที่ไม่ดีนัก จากความกังวลต้นทุนพลังงาน วัตถุดิบ ภาวะน้ำท่วม และการส่งออกที่มีแนวโน้มอ่อนตัวตามทิศทางเศรษฐกิจโลก

สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ก.ย. ตามผลสำรวจของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย อยู่ที่ 44.6 ปรับเพิ่มขึ้นจาก 43.7 ปรับเพิ่มต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ขณะที่ดัชนีความเชื่้อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวม อยู่ที่ 38.6 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสการทำงาน อยู่ที่ 41.9 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 53.3

 

โดยมีปัจจัยบวกจาก โควิด-19 คลี่คลาย ยกเลิกข้อจำกัด การเดินทางเข้า-ออกประเทศ ภาคเศรษฐกิจขยับเดินหน้า ราคาขายปลีกน้ำมันทรงและลดลงบ้าง การส่งออกขยายตัวและราคาสินค้าเกษตรปรับสูงขึ้น แต่ปัจจัยลบยังมีคือ ความกังวลเศรษฐกิจฟื้นช้า ไทยเริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย เงินบาทอ่อนค่า สงครามรัสเซีย-ยูเครน

 

กรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.) ปรับเพิ่มคาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจไทย(จีดีพี) ปี 2565 จากเดิม 2.75-3.5% เป็น 3.0-3.5 % อานิสงส์จากภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวดีกว่าคาด มีโอกาสแตะ 10 ล้านคน จาก 4 แสนคนในปีที่แล้ว และปีหน้าจะถึง 20 ล้านคน ยังไม่รวมจีนหากเปลี่ยนนโยบายเปิดประเทศจะมาเพิ่มขึ้นอีก ปี 2566 มีโอกาสโตได้ถึง 4%

ขณะที่ภาวะน้ำท่วมปีนี้ ที่กังวลว่าจะซ้ำรอยน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 นั้น ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ ประเมินจะมีความเสียหายโดยรวม 5,000-10,000 ล้านบาท ส่งผลกระทบโดยรวมไม่มาก มีพื้นที่เสี่ยงภัยรุนแรงไม่มาก ที่ถูกท่วมส่วนใหญ่เป็นที่ริมน้ำและแก้มลิง ขณะที่เขตเศรษฐกิจและพื้นที่อุตสาหกรรมยังไม่ได้รับผลกระทบ ท่วมไม่นานไม่กระทบการผลิต ไม่ต้องปิดโรงงาน ผลผลิตเกษตรได้รับกระทบไม่มาก คนยังเดินทางได้ไม่กระทบการท่องเที่ยวหรือการส่งอออก ที่เป็นหัวใจของเศรษฐกิจ รวมทั้งผู้คนยังใช้จ่ายบริโภคได้เป็นปกติ

 

ความเสียหายจากน้ำท่วมที่ปีนี้คาดว่าจะมีน้อย แม้จะกังวลกันมากจากปริมาณฝนมากกว่าค่าเฉลี่ย แต่ขณะเดียวกันมีการเตรียมรับมือและบริหารน้ำตั้งแต่ต้นฤดู แม้บางโซนมีจุดอ่อนจนท่วมขังในระดับสูง แต่ก็แก้ไขได้ในเวลาต่อมา ส่วนที่เกิดความเสียหายมีกลไกประกันภัยช่วยรองรับ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่การเกษตร เช่น ที่นาในเขตภัยพิบัติเสียหายสิ้นเชิง ช่วยเหลือ ไร่ละ 1,340 บาท รายละไม่เกิน 30 ไร่ ขณะที่ยานพาหนะจมน้ำหากมีประกันภัยจะได้รับการคุ้มครอง

 

การเชื่อมั่นการผลิต-การบริโภคที่ยังเติบโตได้ต่อเนื่อง ท่ามกลางปัจจัยลบรุมเร้า สะท้อนการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทยยังเดินหน้าต่อเนื่อง แม้จะไม่รวดเร็ว และยังมีความท้าทายในอนาคตรออยู่ข้างหน้า ทั้งการค้าโลกที่จะแผ่วลงจากการเร่งขึ้นดอกเบี้ย เพื่อสกัดเงินเฟ้อของประเทศเศรษฐกิจใหญ่ของโลก สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่น่าจะลากยาวข้ามปี

 

พายุเศรษฐกิจรอบนี้ยังอีกยาว นอกจากตั้งสติ มีสมาธิ ติดตามสถานการณ์อย่าให้คลาดสายตาแล้ว ต้องรักษาสุขภาพเศรษฐกิจไทยให้เข้มแข็ง เพื่อฝ่าไปให้ถึงฝั่ง