ชงเจาะตลาดแมลงเพื่อบริโภคในสหรัฐฯ

02 ส.ค. 2559 | 05:29 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

นางมาลี โชคล้ำเลิศ  อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ตลาดสินค้าแมลงเพื่อการบริโภค แหล่งโปรตีนทางเลือกใหม่ ถือเป็นตลาดเฉพาะ (Niche Market) ขนาดเล็กและอยู่ในระยะเริ่มต้น โดยในปี 2558 มูลค่าตลาดประมาณ 20 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่มีแนวโน้มว่าการบริโภคแมลงเป็นอาหารมีโอกาสเติบโตสูงมากในสหรัฐฯ และอุตสาหกรรมอาหารที่ทำจากแมลงสามารถขยายตัวเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ได้  ซึ่งประเทศไทยมีศักยภาพสูงในการเป็นแหล่งอุปทานอาหารที่ทำจากแมลง เนื่องจากไทยมีแมลงที่สามารถรับประทานได้มากกว่า 300 สายพันธุ์

กลยุทธ์หนึ่งของการตลาดสินค้าแมลงในสหรัฐฯ คือ เน้นการนำเสนอแมลงในฐานะอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพและมีรสชาติอร่อย ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคมีความเต็มใจบริโภคมากยิ่งขึ้น อาหารจากแมลงที่ปัจจุบันมีการเสนอให้ลูกค้าในสหรัฐฯ มีหลากหลายและแปลกใหม่ เช่น ทาโก้ทำจากตั๊กแตน ดักแก้ตัวหนอนไหมทอด โปรตีนบาร์ที่ทำจากแมลงแป้งจิ้งหรีด คุกกี้ที่ทำจากแป้งจิ้งหรีด จิ้งหรีดเคลือบช็อกโกแลต นอกจากนี้ยังนำไปเป็นส่วนผสมของเครื่องดื่ม เช่น ตากีล่า เป็นต้น

“การนำแมลงมาปรุงแต่งจนผู้บริโภคไม่เห็นรูปลักษณ์ของตัวแมลงด้วยการป่นเป็นแป้ง เป็นจุดเริ่มต้นของการคิดค้นเมนูอาหารใหม่ๆ ที่มีคุณค่าทางอาหาร มีรสชาติดี และจำหน่ายได้ในราคาดี โดยแป้งจิ้งหรีดสำหรับการบริโภคมีราคาขายส่งในตลาดสหรัฐฯ ราว 30 - 40 เหรียญสหรัฐฯ ต่อปอนด์ และเมื่อผู้บริโภคเริ่มคุ้นเคยกับการบริโภคแล้ว จึงค่อยๆ ปรับสูตรอาหารโดยนำแมลงทั้งตัวมาปรุง และใช้บรรจุภัณฑ์ที่สวยงามดึงดูดใจ” อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศกล่าว

องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติระบุว่า กว่าร้อยละ 80 ของประเทศต่างๆ ทั่วโลกคิดเป็นจำนวนประมาณ 2 พันล้านคนมีการบริโภคแมลงเป็นอาหาร มีแมลงกว่า 1,000 สายพันธุ์ที่มนุษย์สามารถบริโภคได้ การเริ่มต้นทำฟาร์มเลี้ยงแมลงเป็นเรื่องง่ายและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เพราะไม่ต้องการพื้นที่ขนาดใหญ่ ไม่ต้องการน้ำและอาหารจำนวนมากเหมือนการทำปศุสัตว์ อีกทั้งระยะเวลาการเลี้ยงสั้น  การเกษตรและการค้าแมลงเพื่อการบริโภคจึงนับเป็นโอกาสที่ดีมากสำหรับนักธุรกิจรายย่อยในประเทศไทยที่มีเงินทุนในระดับต่ำและต้องการขยายธุรกิจสู่ต่างประเทศ

ผู้บุกเบิกฟาร์มเลี้ยงและการบริโภคแมลงเป็นอาหารในสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ได้ศึกษาหาข้อมูลจากประเทศไทยและนำไปสร้างธุรกิจในสหรัฐฯ เช่น ผู้ก่อตั้งบริษัท บิ๊ก คริกเก็ตท์ ฟาร์ม (Big Cricket Farms) เริ่มทำฟาร์มเลี้ยงจิ้งหรีดภายหลังจากได้ทดลองรับประทานแมลงในประเทศไทย  ในสหรัฐฯ กระแสบริโภคแมลงเริ่มต้นในปี 2553 และในปี 2558 ธุรกิจแมลงเพื่อการบริโภคในสหรัฐฯ มีมูลค่าประมาณ 20 ล้านเหรียญสหรัฐฯ การบริโภคอาหารที่ทำจากแมลงได้ขยายตัวอย่างรวดเร็วในกลุ่มผู้บริโภคสหรัฐฯ โดยเฉพาะกลุ่มอายุระหว่าง 30 – 44 ปี กลุ่มผู้มีรายได้ระหว่าง 25,000 – 49,000 เหรียญสหรัฐฯ ต่อปี และ มีรายได้ 150,000 เหรียญฯ ต่อปีด้วย

ในสหรัฐอเมริกา ธุรกิจร้านอาหารเป็นแหล่งที่จะพบเห็นสินค้าอาหารทำจากแมลงได้มากที่สุด ปัจจุบันสหรัฐฯ มีร้านอาหารที่จำหน่ายอาหารที่ทำจากแมลงประมาณ 110 ร้าน ใน 16 รัฐ รัฐที่มีร้านอาหารที่ให้บริการอาหารทำจากแมลงมากที่สุด คือ รัฐแคลิฟอร์เนีย มีจำนวน 36 ร้าน ส่วนใหญ่อยู่ทางตอนใต้ของรัฐ  รองลงมา คือ รัฐนิวยอร์ก มีจำนวน 13 ร้าน เป็นต้น

การนำแมลงมาใช้ผลิตเป็นอาหารในสหรัฐฯ ยังไม่มีกฎระเบียบที่ชัดเจน แต่เอฟดีเอระบุว่า แมลงที่นำมาใช้เพื่อการบริโภคเป็นอาหารจะต้องเป็นแมลงที่ถูกเลี้ยงมาเพื่อเป้าหมายเป็นอาหารสำหรับมนุษย์เท่านั้นและต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบ แมลงที่ถูกเลี้ยงเพื่อการบริโภคของสัตว์หรือที่จับจากธรรมชาติไม่สามารถนำมาใช้ในการผลิตอาหารมนุษย์ได้