‘บางกอกแอร์’สยายปีก รูตเน็ตเวิร์ก-เปิด5รูตใหม่ โกย 2.6 หมื่นล้านสิ้นปีนี้

30 พ.ค. 2559 | 05:00 น.
การเติบโตของสายการบินบางกอกแอร์เวย์สใน 2559 ถือว่าน่าจับตามอง หลังปิดฉากไตรมาสแรกด้วยกำไรสุทธิ 1.57 พันล้านบาท ซึ่งเหลืออีกเพียง 274.5 ล้านบาท ก็จะมีกำไรสุทธิเท่ากับปีที่แล้วทั้งปีที่ปิดตัวเลขอยู่ที่ 1.84 พันล้านบาท ซึ่งการขับเคลื่อนธุรกิจในช่วงเวลาครึ่งปีหลังจะเดินหน้าอย่างไร หัวเรือใหญ่ "พุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ" กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)ได้ฉายภาพว่า

[caption id="attachment_57101" align="aligncenter" width="700"] ผลประกอบการสายการบินบางกอกแอร์เวยส์ ผลประกอบการสายการบินบางกอกแอร์เวยส์[/caption]

ตั้งเป้าปีนี้รายได้โต 10%

การดำเนินธุรกิจของสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ในปีนี้มีแนวโน้มการเติบโตของรายได้ดีต่อเนื่อง โดยผลประกอบการในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ ปิดตัวเลขรายได้อยู่ที่ 7,775.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.5% มีกำไรสุทธิ 1,574.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 44.9 % และแนวโน้มในช่วงไตรมาส 2 ปีนี้ ก็ยังไปได้ดี โดยเราตั้งเป้าการเติบโตของรายได้ตลอดทั้งปีนี้ที่ 9-10% (ราว 2.6 หมื่นล้านบาท) เพิ่มจากปีก่อนที่มีรายได้อยู่ที่ 2.49 หมื่นล้านบาท

"ผลการดำเนินงานในช่วงไตรมาสแรกปีนี้ที่ดีมาก สาเหตุหลักมาจากต้นทุนน้ำมันที่ลดลง ช่วงไตรมาสแรกปีนี้เราซื้อน้ำมันอยู่ที่ 50-60 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งอยู่ที่ 100 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ประกอบกับการขยายตัวของการท่องเที่ยวไทย ทำให้สายการบินเติบโตตามไปด้วย " พุฒิพงศ์ กล่าว

จุดไหนมีศักยภาพจะบินเอง

ส่วนทิศทางการดำเนินธุรกิจของสายการบินในช่วงที่เหลือของปีนี้ หัวเรือใหญ่ สายการบินบางกอกแอร์เวย์สเผยว่า ยังคงโฟกัสการขยายเครือข่ายการบินให้ครอบคลุมภูมิภาคต่าง ๆ โดยจุดที่เราไม่ทำการบินเอง จะเน้นการสร้างเครือข่ายพันธมิตรการบินให้มีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้น ในลักษณะการให้บริการเที่ยวบินร่วมหรือโค้ดแชร์ เพื่อขยายกลุ่มผู้โดยสารจากทวีปต่าง ๆ ให้เกิดการเชื่อมต่อกับจุดบินของบางกอกแอร์เวย์ส ซึ่งปัจจุบันทำโค้ดแชร์ กับ 21 สายการบินทั้งจากยุโรป เอเชีย ออสเตรเลีย ตะวันออกกลาง และในปีนี้น่าจะมีการทำโค้ดแชร์ เพิ่มได้กับอีก 2-3 สายการบิน โดยจะโฟกัสสายการบินในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชีย ซึ่งมีการเจรจาอยู่กับสายการบิน ในเวียดนาม ฟิลิปปินส์ และจีน ซึ่งมองว่าแนวทางที่จะวางเครือข่ายการบินให้ครอบคลุมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนจุดบินไหนที่มีศักยภาพที่เราจะทำการบินได้ ก็ที่จะเปิดเส้นทางบินเอง

รุกตลาดจีนเปิดบินตรงสมุย

อย่างไรก็ดี เขายังระบุอีกว่า ปีนี้ถือเป็นปีที่เราเปิดเส้นทางบินใหม่ค่อนข้างมาก จากเฉลี่ยจะเปิดปีละ 2 เส้นทาง แต่ปีนี้จะเปิดจุดบินใหม่รวม 5 เส้นทาง เริ่มจากในเดือนเมษายน ที่เปิดเส้นทางเชียงใหม่-แม่ฮ่องสอน ล่าสุดเพิ่งเปิดบินกรุงเทพฯ-ดานัง (เวียดนาม) เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคมที่ผ่านมา และเตรียมจะเปิดจุดบินใหม่ในจีน 3 เส้นทาง โดยในช่วงกลางปีนี้ จะเปิดบินเส้นทาง ฉงชิ่ง - สมุย และเฉินตู-สมุย ราว 3-4 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ และในช่วงปลายปี จะบินเส้นทางกวางโจว-สมุย บินทุกวัน

"การเปิดจุดบินใหม่ จะเป็นการเปิดตลาดใหม่ และเป็นเส้นทางที่มีการแข่งขันไม่มาก อย่างกรุงเทพฯ-ดานัง ก็มีเพียงบางกอกแอร์เวย์สที่ทำการบิน ซึ่งมองลูกค้า 3 กลุ่มหลัก คือ นักท่องเที่ยวต่างชาติ ทั้งจากยุโรป ตะวันออกกลาง ที่มาต่อเครื่องที่กรุงเทพฯ ผ่านสายการบินพันธมิตรที่เรามีโค้ดแชร์อยู่ คนเวียดนามที่จะเดินทางมาเที่ยวไทย และคนไทยเดินทางมาเที่ยวเวียดนาม"

ส่วนการเปิดจุดบินจากจีนไปยังเกาะสมุย ก็เป็นการรองรับความต้องการของนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมาเที่ยวสมุยเพิ่มขึ้น รวมทั้งการขยายเที่ยวบินเข้าสมุยยังมีโอกาสที่จะขยายได้อีก เพราะปัจจุบันบางกอกแอร์เวย์ส ได้รับอนุญาตให้ทำการบินได้ 50 เที่ยวบินต่อวัน ปัจจุบันเราทำการบินเองและมีสายการบินอื่นมาทำการบินลงสมุย รวมแล้วราว 44-45 เที่ยวบินต่อวัน

ขณะที่การรับมอบเครื่องบินในปีนี้จนถึงสิ้นปีนี้จะมีอีก 2-3 ลำเป็นรุ่นแอร์บัสเอ319 และแอร์บัสเอ320 สำหรับการขยายจุดบินใหม่และเพิ่มเที่ยวบินในเส้นทางที่ทำการบินอยู่ เพื่อขยายฝูงบินเพิ่มจากปัจจุบันที่มีเครื่องบินเอทีอาร์ 13 ลำ แอร์บัสเอ 319 และแอร์บัสเอ 320 รวม 20 ลำ

เดินหน้าขยายสนามบิน-โรงซ่อม

นอกจากนี้ในปีนี้บางกอกแอร์เวย์ส ยังจะเดินหน้าขยายการลงทุนเพิ่มเติม ใน 2 โครงการ คือ โครงการขยายอาคารผู้โดยสารสนามบินสมุย จากปัจจุบันมีผู้โดยสารผ่านเข้า-ออกที่ 2 ล้านคน ขยายเป็น 5 ล้านคน รองรับได้ไปถึงในอีก 20 ปีข้างหน้า ใช้งบลงทุนราว 1 พันล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างออกแบบ คาดว่าจะเริ่มขยายได้ในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ แล้วเสร็จในอีก 1 ปีครึ่ง อีกโครงการคือโรงซ่อมเครื่องบิน ที่สนามบินสุวรรณภูมิ ที่ล่าสุดบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)หรือทอท.ได้อนุมัติให้เช่าพื้นที่แล้ว ซึ่งจะเป็นโรงซ่อมเครื่องบินแอร์บัส ของบางกอกแอร์เวย์ส ใช้งบลงทุนราว 1 พันล้านบาท

อย่างไรก็ดี แผนการขยายการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นขยายอาคารผู้โดยสารสนามบินสมุย โรงซ่อมเครื่องบินของสายการบิน การซื้อเครื่องบินใหม่เพื่อขยายเน็ตเวิร์ก และการปลดระวางเครื่องบินเก่า ที่กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาตามความเหมาะสม และสอดคล้องกับแผนทางการเงิน ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทมีเงิน 1.3 หมื่นล้านบาท ที่ได้จากการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ แต่เพิ่งใช้ไป 1 พันล้านบาท สำหรับการจ่ายค่างวดเครื่องบินบางส่วน ที่เหลือยังฝากอยู่ในสถาบันการเงิน กรรมการผู้จัดการสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส กล่าวในที่สุด

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,161
วันที่ 29 พฤษภาคม - 1 มิถุนายน พ.ศ. 2559