ผู้สอบบัญชีพบ มือดีล้วงเงิน บริษัทกงสี "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" กว่า 100 ล้าน

06 มิ.ย. 2566 | 00:50 น.

เปิดรายงานผู้ตรวจสอบบัญชี พบ บริษัท ออยล์ฟอร์ไลฟ์ ธุรกิจครอบครัว ของ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" ให้กู้ยืมระยะสั้นให้บุคคลที่เกี่ยวข้องกันกว่า 117 ล้านบาท แต่ไม่ได้จ่ายหนี้คืน สุดท้ายต้องตัดหนี้สูญ

“ฐานเศรษฐกิจ” ตรวจสอบงบการเงิน บริษัท ซีอีโอ อกริฟู้ด จำกัด ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ออยล์ฟอร์ไลฟ์ จำกัด ธุรกิจผลิตน้ำมันรำข้าว ของครอบครัว “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พบประเด็นที่น่าสนใจ กรณีบริษัทได้ให้เงินกู้ยืมระยะสั้นแก่บุคคลที่เกี่ยวข้องกันในช่วงที่ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” เป็นกรรมการบริษัท ระหว่างวันที่ 5 ตุลาคม 2549 ถึง 6 มีนาคม 2560 กว่า 117 ล้านบาท แต่กลับไม่มีการชำระหนี้คืนให้แก่บริษัทแต่อย่างใด

รายงานผู้ตรวจสอบบัญชีรับอนุญาต เสนอ ต่อผู้ถือหุ้น บริษัท ออยล์ฟอร์ไลฟ์ จำกัด ในช่วงที่ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" เป็นกรรมการและดำรงตำแหน่ง Co-Founder & Managing Director  พบว่า ในปี 2550-2559 บริษัทได้ให้เงินกู้ยืมระยะสั้นแก่บุคคลที่เกี่ยวข้องกันอย่างต่อเนื่อง มียอดคงค้าง ณ 31 ธันวาคม 2559 ทั้งสิ้น 117,103,394.65 บาท

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ผู้ตรวจสอบบัญชีรับอนุญาตได้ระบุในหมายเหตุงบการเงินว่า เป็นการกู้ยืมที่ไม่มีการคิดดอกเบี้ย โดยไม่มีการวางหลักประกันการกู้ยืม ซึ่งจะรับชำระคืนเมื่อทวงถาม

แต่เมื่อตรวจสอบในเชิงลึกพบว่า คนที่กู้ยืมเงินจากบริษัทไม่ได้มีการจ่ายหนี้คืน ทำให้บริษัทต้องทยอยตัดจำหน่ายเงินกู้ 117 ล้านบาท เป็นหนี้สูญ และนำไปเป็นส่วนหนึ่งของค่าใช้จ่ายในการบริหารในงบการเงินของบริษัท ในปี 2560-2562

อย่างไรก็ตามในรายงานผู้ตรวจสอบบัญชีไม่ได้ระบุว่าบริษัทปล่อยกู้ระยะสั้นให้กับใครไว้ในรายงาน ขณะที่การตัดหนี้สูญ 117 ล้านบาท ก็เกิดขึ้นหลังจากนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ลาออกจากกรรมการและผู้บริหารบริษัทในวันที่ 6 มีนาคม 2560
 

เมื่อเจาะลึกในรายละเอียดพบว่า บริษัท ออยล์ฟอร์ไลฟ์ จำกัด ได้ให้เงินกู้ระยะสั้นจำนวน 117 ล้านบาท และแสดงยอดคงค้างในงบการเงินของบริษัทตามรายงานของผู้ตรวจสอบบัญชีในหมายเหตุประกอบงบการเงิน ดังนี้

ปี 2550 จำนวน 29,637.83 บาท ไม่มีการทำสัญญาเงินกู้ ซึ่งจะชำระคืนเมื่อถูกทวงถาม

ปี 2551 จำนวน 36,334.87 บาท ไม่มีการทำสัญญาเงินกู้ ซึ่งจะชำระคืนเมื่อถูกทวงถาม

ปี 2552 จำนวน 16,000 บาท มีการทำสัญญาเงินกู้ ซึ่งจะชำระคืนเมื่อถูกทวงถาม

ปี 2553 จำนวน 15,000 บาท ไม่มีการทำสัญญาเงินกู้ ซึ่งจะชำระคืนเมื่อถูกทวงถาม

ปี 2554 จำนวน 1,486,712.46 บาท การกู้ยืมมีการคิดดอกเบี้ย โดยไม่มีการวางหลักประกันการกู้ยืม ซึ่งจะรับชำระคืนเมื่อทวงถาม

ปี 2555 จำนวน 5,483,576.26 บาท การกู้ยืมมีการคิดดอกเบี้ย โดยไม่มีการวางหลักประกันการกู้ยืม ซึ่งจะรับชำระคืนเมื่อทวงถาม

ปี 2556 จำนวน 32,520,498.09 บาท การกู้ยืมมีการคิดดอกเบี้ย โดยไม่มีการวางหลักประกันการกู้ยืม ซึ่งจะรับชำระคืนเมื่อทวงถาม

ปี 2557 จำนวน 34,431,412.47 บาท การกู้ยืมมีการคิดดอกเบี้ย โดยไม่มีการวางหลักประกันการกู้ยืม ซึ่งจะรับชำระคืนเมื่อทวงถาม

ปี 2558 เดิมผู้ตรวจสอบบัญชีแจ้งว่าไม่มีเงินให้กู้ยืมระยะสั้น ณ สิ้นสุด 31 ธันวาคม 2558 แต่ในงบการเงินปี 2559 ผู้ตรวจสอบบัญชีพบว่า ในปี 2558 บริษัทมีเงินให้กู้ยืมระยะสั้น 114,114,365.24 บาท

ปี 2559 จำนวน 117,103,394.65 บาท การกู้ยืมไม่มีการคิดดอกเบี้ย โดยไม่มีการวางหลักประกันการกู้ยืม ซึ่งจะรับชำระคืนเมื่อทวงถาม

“ฐานเศรษฐกิจ” พบข้อสังเกตุสำคัญในการตรวจสอบงบการเงินของผู้ตรวจสอบบัญชีในปี 2559 ที่เสนอผู้ถือหุ้นของบริษัท ซีอีโอ อกริฟู้ด โดยให้ความเห็นว่า งบการเงินในปี 2559 ของบริษัทเป็นงบการเงินไม่ถูกต้อง พร้อมกับระบุในหมายเหตุงบการเงินของผู้ตรวจสอบบัญชีว่า ได้มีการแก้ไขข้อผิดพลาด สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2558 กิจการมีการแก้ไขข้อผิดพลาดเงินให้กู้ยืมระยะสั้น เดิม 3,969,241.83 บาท เป็น 114,114,365.24 บาท ผลต่าง 110,145,123.41 บาท

ต่อมาในปี 2560 มีการระบุเงินให้กู้ยืมระยะสั้น ลดลงจาก 117.1 ล้านบาทในปี 2559 เหลือ 84,215,290.72 บาทในปี 2560 พร้อมระบุในหมายเหตุประกอบงบการเงินว่า เงินให้กู้ยืมระยะสั้น การกู้ยืมไม่มีการคิดดอกเบี้ย โดยไม่มีการวางหลักประกันการกู้ยืม ซึ่งจะชำระเมื่อกิจการทวงถาม ในปี 2560 มีมูลค่าหนี้สูญที่ตัดจำหน่ายจำนวน 32.90 ล้านบาท ซึ่งแสดงเป็นส่วนหนึ่งของค่าใช้จ่ายในการบริหาร

ปี 2561 เงินให้กู้ยืมระยะสั้นลดลงเหลือ 52,586,206.52 บาท หมายเหตุงบการเงิน การกู้ยืมไม่มีการคิดดอกเบี้ย โดยไม่มีการวางหลักประกันการกู้ยืม ซึ่งจะรับชำระเมื่อกิจการทวงถาม ในปี 2561 มีมูลค่าหนี้สูญตัดจำหน่ายจำนวน 31.61 ล้านบาท และในปี 2560 มีมูลค่าหนี้สูญที่ตัดจำหน่ายจำนวน 32.90 ล้านบาท ซึ่งแสดงเป็นส่วนหนึ่งของค่าใช้จ่ายในการบริหาร

ปี 2562 ไม่มีเงินให้กู้ยืมระยะสั้น แต่มีการระบุในหมายเหตุประกอบงบการเงินว่า เงินให้กู้ยืมแก่กรรมการ เงินให้กู้ยืมแก่กรรมการไม่มีการคิดดอกเบี้ย ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันการกู้ยืม กำหนดชำระคืนเมื่อทวงถาม ในปี 2562 มีมูลค่าหนี้สูญที่ตัดจำหน่ายจำนวน 52 ล้านบาท และในปี 2561 มีมูลค่าหนี้สูญตัดจำหน่ายจำนวน 31 ล้านบาท ซึ่งแสดงเป็นส่วนหนึ่งของค่าใช้จ่ายในการบริหาร

การตัดหนี้สูญดังกล่าวเนื่องจากปี 2563 กิจการได้มีการเปลี่ยนแปลงกรรมการบริหารชุดใหม่ ซึ่งกรรมการบริหารชุดใหม่ไม่สามารถหาหลักฐานการให้กู้ยืมเงินดังกล่าว และ หรือไม่สามารถตรวจสอบด้วยวิธีอื่นใด เพื่อพิสูจน์ความมีอยู่จริงของเงินให้กู้ยืมจำนวนดังกล่าวได้

สำหรับสถานะบริษัท ออยฟอร์ไลฟ์ จำกัด ในปี 2562 บริษัทได้ผิดนัดชำระหนี้ทั้งในส่วนเงินกู้ยืมระยะสั้น และเงินกู้ยืมระยาวกับทางธนาคารแหลายแห่ง ทางธนาคารในฐานะเจ้าหนี้ได้ดำเนินการฟ้องร้องแก่ศาล เพื่อให้ทางบริษัทชำระหนี้ ต่อมาบริษัทได้ยื่นคำร้องขอต่อศาลล้มละลายกลาง เพื่อขอฟื้นฟูกิจการ และศาลมีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2565 ต่อมาเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2565 ศาลล้มละลายกลางได้นัดฟังคำสั่งจำหน่ายคดี