เปิด 4 ความเสี่ยงเศรษฐกิจไทย ท้าฝีมือรัฐบาลใหม่ 2566

15 พ.ค. 2566 | 10:08 น.

เปิด 4 ความเสี่ยงเศรษฐกิจไทย ในมุมมองของ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ท้าฝีมือรัฐบาลใหม่ 2566 เข้ามาบริหารประเทศ เช็คปัจจัยเสี่ยงและข้อจำกัดที่ผู้บริหารประเทศต้องเจอแบบหนีไม่พ้น

ความชัดเจนการเมืองไทย หลังผ่านศึกการเลือกตั้งใหญ่ 2566 แม้ตอนนี้จะยังไม่รู้หน้าตาของรัฐบาลใหม่ชัด ๆ ว่า เป็นใคร แม้ว่าผลการนับคะแนนล่าสุด พรรคก้าวไกล หรือพรรคเพื่อไทย จะเป็นพรรคที่คว้าคะแนนเสียงของคนไทยไปสูงสุด โดยสิ่งที่สำคัญที่กำลังรออยู่ข้างหน้า ท้าทายฝีมือรัฐบาลใหม่ นั่นก็คือ ปัญหาด้านเศรษฐกิจ 

ล่าสุด สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้เปิดเผยข้อมูลสำคัญทางด้านเศรษฐกิจ ซึ่งถือเป้นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยในช่วงนับจากนี้ รอคอยรัฐบาลใหม่เข้ามาจะต้องผจญกับสถานการณ์ที่ยากลำบากแน่ ๆ เพราะเศรษฐกิจไทย และเศรษฐกิจโลก กำลังเจอความท้าทายและความไม่แน่นอนสูง

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่า สศช.ได้ประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปีนี้ คาดว่าจะขยายตัวในช่วง 2.7 – 3.7% และยังคงเจอกับปัจจัยเสี่ยงและข้อจำกัดหลายเรื่อง ดังนี้

 

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)

1.ความเสี่ยงจากการชะลอตัวมากกว่าที่คาดของเศรษฐกิจโลกและความผันผวนในตลาดการเงินโลก 

สำหรับความเสี่ยงจากการชะลอตัวมากกว่าที่คาดของเศรษฐกิจโลกและความผันผวนในตลาดการเงินโลก มีเงื่อนไขความเสี่ยงที่ต้องติดตามและประเมินอย่างใกล้ชิด ประกอบด้วย 

การชะลอตัวของเศรษฐกิจมากกว่าที่คาด เนื่องจากแนวโน้มเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูงส่งผลให้ธนาคารกลางต่าง ๆ ยังต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องจนทำให้ภาวะตลาดเงินตึงตัวและต้นทุนการกู้ยืมสูงขึ้น ซึ่งจะเป็นข้อจำกัดในการขยายตัวของประเทศเศรษฐกิจหลัก 

ความเสี่ยงจากปัญหาเสถียรภาพของสถาบันการเงินในประเทศเศรษฐกิจหลัก ทั้งในสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปที่เผชิญปัญหาการขาดสภาพคล่อง และส่งผลให้ตลาดการเงินโดยเฉพาะในภาคธนาคารมีความผันผวน และเปราะบางท่ามกลางความวิตกกังวลของทั้งผู้ฝากเงินและนักลงทุน ซึ่งอาจส่งผลต่อปริมาณเงินฝากและการปรับเปลี่ยนการลงทุนจากสินทรัพย์เสี่ยงไปสู่สินทรัพย์ปลอดภัยมากขึ้น (Risk-off) 

ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ที่มีแนวโน้มส่งผลกระทบต่อการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในภาพรวม โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างสหรัฐฯ และจีน ที่ยังยืดเยื้อและมีแนวโน้มที่จะนำไปสู่การยกระดับมาตรการกีดกันทางการค้าการลงทุนและการแข่งขันทางเทคโนโลยีมากขึ้นจนส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่การผลิตโลกรวมถึงความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยังมีความยืดเยื้อ 

ปัญหาเพดานหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ อาจนำไปสู่การผิดชำระหนี้ของรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นและเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในภาพรวม จนอาจส่งผลกระทบต่อเนื่องต่อเศรษฐกิจ และตลาดการเงินโลก รวมถึงเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศที่ถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ในสัดส่วนที่สูง

 

4 ความเสี่ยงเศรษฐกิจไทย ในมุมมองของ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)

2.ภาระหนี้สินครัวเรอนและภาคธุรกิจที่อยู่ในระดับสูงท่ามกลางการเพิ่มขึ้นของภาระดอกเบี้ย 

โดยสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) และสัดส่วนสินเชื่อจัดชั้นพิเศษ (SML) ต่อสินเชื่อรวมของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ในไตรมาสที่สี่ของปี 2565 ยังคงอยู่ในระดับสูงที่ 7.4% และ 12.1% สูงกว่า 4.6% และ 3.5% ในไตรมาสเดียวกันของปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงก่อนการแพร่ระบาด ตามลำดับ 

เช่นเดียวกับสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ในไตรมาสที่สี่ของปี 2565 อยู่ที่ 86.9% ลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับ 87% ในไตรมาสก่อน แต่ยังคงสูงกว่าเมื่อเทียบกับ 79.9% ในไตรมาสเดียวกันของปี 2562

ทั้งนี้ ภาระหนี้สินของภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงจะเป็นข้อจำกัดต่อการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศและความสามารถในการชำระหนี้ภายใต้อัตราดอกเบี้ยขาขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจ SMEs ครัวเรือนรายได้น้อย รวมทั้งลูกหนี้ภาคเกษตรกรรมที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของภาครัฐที่สิ้นสุดลง

รวมถึงลูกหนี้กลุ่มเปราะบางของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐและผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่ สถาบันการเงิน (non- ank) ที่ยังไม่ฟื้นตัวจากผลกระทบโควิด-19

3.ความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศที่อาจส่งผลกระทบต่อผลผลิตภาคเกษตร 

จากข้อมูลขององค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ (National Oceanic and Atmospheric Administration: NOAA) ชี้ให้เห็นว่ามีโอกาสถึง 62% ที่ภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกจะเข้าสู่สภาวะเอลนีโญ (EL Nino) ในช่วงเดือนพฤษภาคม จนถึงธันวาคม 2566 และต่อเนื่องไปถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2567 

สำหรับประเทศไทย คาดว่า จะทำให้ปริมาณน้ำฝนมีแนวโน้มต่ำกว่าค่าเฉลี่ยปกติ โดยการคาดการณ์ปริมาณน้ำฝนของกรมอุตุนิยมวิทยาในไตรมาสที่ 2 ของปี 2566 คาดว่าจะอยู่ที่เฉลี่ย 133.6 มิลลิเมตร น้อยกว่าค่าเฉลี่ยปกติที่ 154.8 มิลลิเมตร 

เช่นเดียวกับอุณหภูมิเฉลี่ยคาดว่าจะอยู่ที่ 30.3 องศาเซลเซียส สูงกว่าค่าเฉลี่ยปกติที่ 29.1 องศาเซลเซียส ภายใต้แนวโน้มความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศดังกล่าวจึงอาจจะส่งผลกระทบต่อผลผลิตภาคการเกษตร

4.บรรยากาศทางการเมือองและเศรษฐกิจหลังการเลือกตั้ง และความล่าช้าของงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 

แม้คาดว่าการเลือกตั้งและการจัดตั้งรัฐบาลจะเป็นไปอย่างราบรื่น แต่เงื่อนไขบรรยากาศทางการเมืองและทิศทางนโยบายภายหลังการเลือกตั้งยังมีความไม่แน่นอน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อบรรยากาศทางเศรษฐกิจ และความเชื่อมั่นของนักลงทุน รวมถึงกระบวนการจัดทำพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจ าปี 2567 และการอนุมัติโครงการลงทุนใหม่ที่อาจมีความล่าช้ามากกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยในกรณีฐานคาดว่าจะมีความล่าช้าประมาณ 2 - 4 เดือน

 

4 ความเสี่ยงเศรษฐกิจไทย ในมุมมองของ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)